เด็กได้เรียนรู้ระบบผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์ อินทรีย์ช้ากว่า แต่ดีต่อตัวเขา ต่อชุมชน และถ้าทำได้มาตรฐาน จะเพิ่มมูลค่าให้พืชในท้องถิ่นเขาได้

“ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ แต่พอมีโครงการของอาจารย์ ก็ทำให้เรามีความรู้” ลัดดา อมรไฝ่ประไพ เกษตรกรบ้าน กล้อทอ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านเกษตรจาก รศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทั้งการปลูกพริก งา ฟักทอง การเก็บเมล็ดพันธุ์ การผลิตสารชีวภัณฑ์ หรือแม้แต่ กล้วยหอมพันธุ์แขนทอง พืชชนิดใหม่ในพื้นที่

“เทศบาลฯ ของเราอยากลองอะไรใหม่ๆ เพื่อมาเสริมการทำไร่ที่เป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน อาจารย์เข้ามาให้ความรู้หลายเรื่อง แต่ที่ได้ผลและเห็นเป็นรูปธรรมก็คือ กล้วยหอมพันธุ์แขนทอง ที่นี่มีแต่กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมเป็นพืชใหม่ มีชาวบ้าน 20 คนที่ได้ทดลองปลูก ได้ผลผลิตดีเกินคาด ทั้งขนาดและปริมาณ ชาวบ้านขายได้ทั้งผลผลิตสดและหน่อกล้วย” อรกรต บุญสม ปลัดเทศบาลตำบลแม่จัน เล่าถึงการส่งเสริมการผลิตไม้ผลชนิดใหม่ในตำบลแม่จัน มาได้ 2 ปี ขณะที่เธอทำงานร่วมกับอาจารย์จานุลักษณ์ มานานเกือบ 15 ปี

“ที่นี่เป็นพื้นที่ห่างไกล ใช้เวลาเดินทางมาก เส้นทางไม่สะดวกสบาย ประชาชนฐานะยากจนมาก ไม่พอกิน   ไม่มีองค์ความรู้ ปลูกเพื่อกิน ไม่ได้ปลูกเพื่อหาเงิน” อาจารย์จานุลักษณ์ ย้อนภาพพื้นที่และสภาพชีวิตของ    ชาวแม่จันเมื่อครั้งมาทำวิจัยศึกษาสถานภาพผู้ปลูกพริกในภาคเหนือตอนล่าง เมื่อปี พ.ศ.2548 และได้พบกับ  ปลัดฯ อรกรต ด้วยแนวคิดและความตั้งใจสอดคล้องกันที่ต้องการให้ชาวบ้านพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเริ่มจาก ปลูกกินให้เป็นก่อน เหลือแบ่งปันแล้วขาย จึงทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจากอาจารย์จานุลักษณ์ มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีเทศบาลตำบลแม่จันและ สวทช. เป็นกำลังสนับสนุนภายใต้ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชผัก เมล็ดพันธุ์และสัตว์น้ำเพื่อความมั่นคงของอาหารในอ.อุ้มผาง จ.ตาก

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (บ้านหม่องกั๊วะ จ.ตาก) เป็นหมุดหมายแรกที่อาจารย์จานุลักษณ์ได้เริ่มเข้าไปถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรและเทคโนโลยีตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2550 ก่อนขยายมายังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอีก 2 แห่งในพื้นที่ และขยับมายังเกษตรกรในตำบลแม่จันและตำบลใกล้เคียงในปัจจุบัน

การเดินทางด้วยรถยนต์ในระยะทาง 160 กม. ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง แต่เมื่อเป็นเส้นทางขึ้นเขา ต้องบวกชั่วโมงเพิ่มไปอีกเท่าตัว เส้นทางจากตัวเมืองอุ้มผางไปโรงเรียนตชด. บ้านหม่องกั๊วะ จึงใช้เวลาเดินทางเกือบ 4 ชั่วโมง

“แต่ก่อนโรงเรียนมีแปลงเกษตรน้อยและอยู่ใกล้ห้วย หน้าฝนน้ำท่วมแปลงผัก คอกสัตว์ เรามาบุกเบิกพื้นที่ด้านนี้ที่เป็นป่า ทำแปลงเกษตรใหม่ แต่ยังปลูกผักได้น้อย ผลผลิตไม่ดี พื้นฐานความรู้ครูเราไม่ได้จบเกษตรโดยตรง ปลูกตามวิถี ถึงไปอบรมมาก็ไม่ละเอียดและขาดการติดต่อกับวิทยากร แต่กับอาจารย์ เราติดต่อได้ตลอด อย่างดินไม่ดี ต้องทำอย่างไร เอาดินไปตรวจวิเคราะห์ แล้วปรับปรุงวิธีไหนได้บ้าง หรือเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช ก็ได้ทำชีวภัณฑ์ไว้ใช้ เช่น ไตรโคเดอร์ม่า หรือใช้พืชสมุนไพรในพื้นที่ แต่ก่อนใช้เคมีล้วนๆ”   ด.ต.สมดุลย์ โพอัน ครูใหญ่เล่าถึงวันที่ยังเป็นครูน้อยของโรงเรียน ตชด. แห่งนี้ ขณะที่ ด.ต.อรุณ ดวงภักดี ครูผู้รับผิดชอบด้านเกษตร เสริมว่า “ก็เหมือนนักมวยที่มีพี่เลี้ยงกับไม่มีพี่เลี้ยง แต่ก่อนปล่อยขึ้นเวทีก็ตีก็ชกไป แต่เดี๋ยวนี้เรามีพี่เลี้ยงแนะนำ”

ปัจจุบันโรงเรียนตชด. หม่องกั๊วะ มีพื้นที่ทำเกษตรประมาณ 3 ไร่ จัดแบ่งเป็นแปลงปลูกพืชผักชนิดต่างๆ บ่อปลาดุก บ่อกบ เล้าไก่ คอกหมู ที่นี่จึงเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของเด็กนักเรียนชาวไทยกะเหรี่ยงตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 รวม 453 คน (เด็กประจำ 91 คน) ในแต่ละวันมีปริมาณผักที่ต้องใช้ 60 กก. ไก่ 40 กก. หรือปลา 20 กก.

“ชนิดพืชผักที่ปลูกมีหลายอย่าง ครูเลือกปลูกให้เหมาะกับฤดูกาล วางแผนปลูกให้ทันใช้และให้มีชนิดผักหมุนเวียนในแต่ละสัปดาห์ ช่วงหน้าฝนเป็นพืชเถา เช่น บวบ ถั่ว แตง ส่วนปลายฝนต้นหนาวจะเป็นผักกวางตุ้ง คะน้า กะหล่ำปลี เด็กๆ มาร่วมเรียนรู้ ลงมือทำตั้งแต่เพาะกล้าไปถึงเก็บเกี่ยว และส่งผลผลิตเข้าสหกรณ์โรงเรียน มีรายได้กลับเข้ากลุ่มฯ” ครูอรุณ เล่าถึงการบริหารจัดการแหล่งวัตถุดิบหลักของโรงครัว ซึ่งที่โรงเรียนตชด. จะกำหนดให้คาบเรียนสุดท้ายของทุกวันให้นักเรียนระดับชั้น ป.4-ม.3 เข้ากลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น กลุ่มพืชผัก กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มสหกรณ์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้การทำงานในแต่ละกิจกรรมตั้งแต่การผลิตไปถึงการบริหารรายได้

นอกจากแปลงเกษตรที่เป็นแปลงเปิดแล้ว โรงเรียนยังได้รับสนับสนุนโรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพ ที่จะเสริมการเรียนรู้การผลิตพืชผักในระบบโรงเรือนอีกด้วย

“เรามุ่งสร้างทักษะอาชีพให้เด็ก เด็กจบไปอาจไม่ได้เรียนต่อ แต่เขาเอาไปทำเป็นอาชีพได้ การได้เรียนรู้ระบบการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์ เห็นความต่างเคมี-อินทรีย์ เคมีอาจจะไวกว่า อินทรีย์ช้ากว่า แต่ผลที่ได้ดีต่อตัวเขาและชุมชน และถ้าเขาทำได้มาตรฐาน Organic Thailand ก็จะเพิ่มมูลค่าให้พืชในท้องถิ่นเขาได้” ครูใหญ่ขยายความถึงใบรับรองมาตรฐานฯ    ที่แปลงเกษตรแห่งนี้ได้รับ 8 ชนิดพืช ได้แก่ บวบเหลี่ยม ผักบุ้ง กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน และแตงกวา

นอกจากความตั้งใจแรกที่มุ่งให้ครูและเด็กนักเรียน “ปลูกพืชให้เป็น” เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนให้เพียงพอต่อการบริโภค และมีแปลงสาธิตที่เป็นจุดเรียนรู้ของชุมชนแล้ว อาจารย์จานุลักษณ์ยังมองถึง “การผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง” เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งคุณครูและนักเรียนได้เรียนรู้และสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักได้หลายชนิด เช่น ผักกาดเขียวน้อย ผักขี้หูด บวบ ฟักทองพันธุ์ทองล้านนา ถั่วฝักยาว ถั่วมะแฮะ อีกทั้งยังเคยผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้บริษัทเอกชน

“ทำเมล็ดพันธุ์ยากหน่อย ต้องใส่ใจ แต่อย่างน้อยเราไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ที่ผ่านมาเคยผลิตเมล็ดพันธุ์ผักขี้หูด เมล็ดพันธุ์ฟักทองให้บริษัท ซึ่งอาจารย์แนะนำให้ ส่งขายได้กิโลกรัมละ 300 บาท ทำอยู่ 2 ปี แต่ที่นี่ฝนเยอะ ผลผลิตได้น้อย บวกกับเราเน้นปลูกไว้กินเอง จึงไม่ได้ส่งบริษัทอีก”

การได้รับความรู้การปลูกพืชจากอาจารย์จานุลักษณ์ ทำให้มื้ออาหารของเด็กๆ มีพืชผักปลอดภัยหลากชนิด โรงเรียนลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีแหล่งโปรตีนจาก “ปลาดุกอุยและกบ” ที่อาจารย์จานุลักษณ์ ได้ชักชวนให้ อาจารย์สมเกียรติ ตันตา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง มาถ่ายทอดวิธีการเลี้ยงให้โรงเรียนและชุมชน

“แต่ก่อนเราเลี้ยงปลาดุกเป็นปี จับมาได้ตัวเล็กนิดเดียว เพราะเลี้ยงแบบไม่มีความรู้ พออาจารย์มาแนะนำการจัดการบ่อเลี้ยงให้สะอาด ปริมาณน้ำที่เหมาะสม วิธีการให้อาหาร ทำให้ได้ผลดีมาก เลี้ยงในบ่อเลี้ยงดินขนาด 10x20 เมตร 2 บ่อ ให้มีผลผลิตหมุนเวียน ใช้ระบบน้ำวน เลี้ยง 3 เดือน สามารถจับมาทำอาหารให้เด็กๆ     ได้ น้ำหนักต่อตัวได้ถึง 2 กิโลกรัม เคยได้ถึง 1,200 กิโลกรัม/บ่อ” ครูอรุณ เล่าอย่างมีความสุขจากการเลี้ยง ปลาดุกมา 3 ปี มีวัตถุดิบป้อนเข้าโรงครัวและขายในชุมชน ขณะที่การเลี้ยงกบยังได้ปริมาณไม่มาก เนื่องจากสภาพอากาศและการจัดการ แต่ก็ได้เป็นวัตถุดิบอาหารของเด็กนักเรียนประจำ

นอกจากโปรตีนแล้ว ในกลุ่มของผลไม้ นอกจากกล้วยน้ำว้า มะม่วง ขนุนแล้ว ที่นี่ยังได้ทดลองปลูกกล้วยหอมพันธุ์แขนทองและอะโวคาโดให้เด็กๆ ได้รู้จักและลิ้มลองอีกด้วย

จากแปลงผักที่ไม่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ แหล่งโปรตีนที่ไม่เพียงพอ ผลไม้ที่ไม่หลากหลาย มาวันนี้ไม่เพียงเด็กๆ มีแหล่งอาหารโภชนาการที่จำเป็นครบทุกด้าน หากยังมีทักษะการทำเกษตรติดตัว ส่งต่อความรู้ สร้างแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้ครอบครัว โดยมีโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของทั้งเด็กและชุมชน เช่นเดียวกับชาวบ้านในตำบลแม่จัน ที่ไม่เพียงปลูกเพื่อกินแล้ว แต่วันนี้หลายคนสามารถปลูกเพื่อขาย สร้างความมั่นคงทั้งแหล่งอาหารและอาชีพให้พวกเขาด้วยเช่นกัน

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (บ้านหม่องกั๊วะ จ.ตาก)
ต.แม่จัน อ.แม่สอด จ.ตาก
โทรศัพท์ 055 577571 | www.mongkhua.ac.th

(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565)

“ปลูกให้เป็น ปลูกให้มีกิน” สร้างความมั่นคงทางอาหารที่แนวชายแดน