การเลี้ยงแมลงไม่ส่งกลิ่นเหม็น ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ โปรตีนที่ได้จึงไม่มีสารปนเปื้อน ดูดซึมง่าย นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้

“แมลงเป็นอาหารทางเลือกใหม่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากสัตว์ใหญ่ได้ดี บ้านเรายังส่งออกน้อย เป็นโอกาสของเรา การเลี้ยงแมลงใช้พื้นที่และน้ำไม่มาก ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เลี้ยงในชุมชนได้” ณธัชพงศ์ รักศรี นายธนาคารและผู้ร่วมก่อตั้ง “เปี่ยมสุขฟาร์ม” สะท้อนมุมมองต่อโอกาสทางการตลาดของแมลง ดังเช่น “จิ้งหรีด” ผลผลิตสร้างชื่อของฟาร์ม

“เปี่ยมสุขฟาร์ม” เกิดขึ้นจากความต้องการของ ณธัชพงศ์ และ ธนเดช ไชยพัฒรัตนา ลูกพี่ลูกน้อง ที่มองหาอาชีพเสริมและหวังพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว โดยเริ่มต้นจากปรับเปลี่ยนพื้นที่นา 11 ไร่ของครอบครัวเป็นสวนมะนาวด้วยมองเห็นโอกาสทางการตลาดจากราคามะนาวที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

“ด้วยเราทำงานธนาคาร ก็คำนวณล่ะ ปลูกเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ ได้กำไรเท่าไหร่ แต่เราไม่มีประสบการณ์ด้านเกษตร พอทำจริง ไม่ได้อย่างที่คิด ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชทำให้ได้ผลผลิตน้อย ช่วง 3 ปีแรกเราไม่ได้กำไรเลย” ณธัชพงศ์ ย้อนความจุดเริ่มต้นการทำเกษตร ซึ่งกลายเป็นบทเรียนสำหรับการเริ่มธุรกิจฟาร์มจิ้งหรีดในเวลาต่อมา

ผงโปรตีนจากจิ้งหรีดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่อเมริกา น้ำหนัก 15 กรัม ราคา 200-300 บาท จุดความคิดให้ ณธัชพงศ์ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจของจิ้งหรีดไทยในตลาดต่างประเทศ เขาจึงชักชวน ธนเดช วิศวกรหนุ่มหันมาศึกษาข้อมูลจิ้งหรีดอย่างจริงจังทั้งจากอินเทอร์เน็ตและผู้มีประสบการณ์การเลี้ยงจิ้งหรีด ตั้งแต่สายพันธุ์ วัฏจักรชีวิต พฤติกรรม ไปถึงวิธีการเลี้ยง หลังใช้เวลาเตรียมตัว 6 เดือน จึงทดลองเลี้ยงจิ้งหรีด 15 กล่องในบริเวณบ้าน

“พอลองเลี้ยงจริง ปัญหาเยอะมาก เราต้องเข้าใจวงจรชีวิตและพฤติกรรมแมลง ซึ่งเราควบคุมเขาไม่ได้เลย ถ้าเขาไม่กินก็คือไม่กิน เรารู้เลยว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่พอ ต้องศึกษาเพิ่มเติม จนได้มาร่วมอบรมหลักสูตรการพัฒนาฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดคุณภาพในภาคเหนือที่ สวทช. จัดเมื่อปี พ.ศ.2562 และได้รู้จักเจ้าหน้าที่ สวทช. ผู้เชี่ยวชาญ และกรมปศุสัตว์ ซึ่งให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้เรามาตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน”

หลังตระเวนหาความรู้และอบรมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำฟาร์มจิ้งหรีดส่งออก ณธัชพงศ์ และ ธนเดช ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนมะนาวสร้างโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีด เริ่มจากกล่องเลี้ยง 24 กล่อง นำความรู้ที่สั่งสมมาปรับใช้และพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีดได้มากขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากการเชื่อมโยงของ สวทช. และกรมปศุสัตว์เป็นที่ปรึกษา จากที่เคยเลี้ยงจิ้งหรีดได้ผลผลิตไม่ถึง 2 กก./กล่อง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงได้ 25-30 กก./กล่อง และได้มากสุดถึง 40 กก./กล่อง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาฟาร์มผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (GAP) และมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (Q) ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก

“มาตรฐานจะทำให้ฟาร์มของเราอยู่ได้ ไปต่อได้และเติบโต ปัจจุบันเราเลี้ยงแมลงอยู่ 2 ชนิด คือ จิ้งหรีดทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง (จิ้งหรีดตัวเล็กสีน้ำตาลอ่อน) ในส่วนของจิ้งหรีดได้ทดลองนำไปแปรรูปเป็นจิ้งหรีดทอดกรอบกับโรงงานที่ได้มาตรฐาน อย., GMP Codex (Insect). HACCP เป็นการทดลองตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ Bug Hero ส่วนสะดิ้งจะส่งไปโรงงานแปรรูปทำผงโปรตีนส่งขายต่างประเทศ เพื่อนำไปบริโภคและเป็นส่วนผสมของอาหาร base food เพื่อเพิ่มคุณค่าโปรตีน ปัจจุบันปริมาณความต้องการสินค้าสูงถึง 12 ตัน/รอบการผลิต แต่เรายังผลิตได้ 3-4 ตัน/รอบการผลิต”

ปัจจุบันฟาร์มมีโรงเรือนเลี้ยงแมลง 2 โรง มีกล่องเลี้ยงรวม 208 กล่อง มีเจ้าหน้าที่ดูแลหลัก 2 คน โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดในกล่องเลี้ยง เพื่อสังเกตพฤติกรรมของแมลงแบบ real time รวมทั้งติดตั้งระบบตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน (weather station) สามารถดูข้อมูลเรียลไทม์ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม สวทช. พัฒนาระบบและอุปกรณ์เก็บข้อมูลอุณหภูมิกล่องเลี้ยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในแต่ละรอบ

“แมลงมีอัตราแลกเนื้อต่ำ (FCR) แมลง 1 กก. ใช้อาหารเลี้ยงประมาณ 2.5 กก. การเลี้ยงไม่ส่งกลิ่นเหม็น และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเลี้ยงสัตว์อื่นๆ และการเลี้ยงแมลงไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ โปรตีนที่ได้จึงไม่มีสารปนเปื้อน (purify protein) ดูดซึมง่าย นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น เป็นส่วนประกอบ (ingredient) ในอาหารเสริม หรือเครื่องสำอางได้”

เป็นเวลากว่า 3 ปีที่ทั้งสองทำฟาร์มแมลงอย่างจริงจังบนพื้นฐานความรู้ทางวิชาการ เรียนรู้และลงมือทำ ปรับเปลี่ยนและแก้ไขเพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยงให้ได้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีผลผลิตจำหน่ายได้แล้วและฟาร์มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ทั้งคู่มองว่ายังต้องพัฒนาอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะกระบวนการหลังการเก็บผลผลิตที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก

เราไม่เคยหยุดเรียนรู้ แต่เราจะพัฒนาและคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างกระบวนการหลังเก็บแมลง เราต้องจัดการทุกขั้นตอนให้เสร็จภายในหนึ่งวัน เพื่อควบคุมคุณภาพของแมลง ตั้งแต่น็อคแมลงด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามมาตรฐานสากล (animal weal fare) ล้างทำความสะอาด ต้มฆ่าเชื้อเพื่อยับยั้งเชื้อ bacteria และสารก่อภูมิแพ้ (histamine) ตากแห้งลดความชื้น เข้าเครื่องคัดแยกกำจัดเศษซาก ก่อนบรรจุแช่แข็งอุณหภูมิ -16 องศา แต่ละขั้นตอนเราใช้แรงงานคนเป็นหลัก เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่ช่วยลดระยะเวลาและทุ่นแรงจึงจำเป็น เราจึงต้องหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ ซึ่งจะทำให้กระบวนการของเราเร็วขึ้นและลดแรงงานได้

นอกจากทำฟาร์มจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐาน GAP แล้ว ทั้ง ณธัชพงศ์ และ ธนเดช ยังให้ความสำคัญเรื่องการจัดการของเหลือทิ้งในฟาร์มแบบ Zero Waste  โดยนำกากเศษอาหาร มูลจิ้งหรีด เศษผักในฟาร์มมาเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (หนอนทหารเสือ) หรือหนอน BSF ก่อนนำหนอนไปเป็นอาหารปลาและอาหารไก่ไข่ เศษขยะที่เหลือนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพบำรุงพืชผักในฟาร์ม นอกจากนี้ยังเพาะเลี้ยงแหนแดงไมโครฟิลล่า เพื่อใช้เป็นอาหารของจิ้งหรีด

ปัจจุบันทั้งสองได้รวมกลุ่มสมาชิกจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนเปี่ยมสุขฟาร์ม” โดยมี ธนเดช เป็นประธานฯ ผลผลิตของกลุ่มฯ นอกจากมะนาวและแมลง ยังมีพืชผักปลอดภัยจากสมาชิกกลุ่มฯ จำหน่ายในตลาดชุมชน และมีแนวทางส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ชาวบ้าน โดยใช้พื้นที่ในฟาร์มเปี่ยมสุขเพื่อควบคุมภาพการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ขณะเดียวกันที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ที่พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์การเลี้ยงจิ้งหรีดให้ผู้สนใจ    

“มีคนมาดูงานมาถามเทคนิค เรายินดีถ่ายทอดและแบ่งบันความรู้ ไม่มีใครเป็นคู่แข่งของเรา เราแข่งกับตัวเอง พัฒนาและต่อยอดในสิ่งที่เราทำทุกๆวัน และทำให้ดีที่สุดตามความสามารถของเรา เราถือว่ายิ่งให้ เรายิ่งได้รับ ได้รับมิตรภาพ ได้รับโอกาส และได้รับความสุขจากการเป็นผู้ให้”

# # #

เปี่ยมสุขฟาร์ม
วิสาหกิจชุมชนเปี่ยมสุขฟาร์ม ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท
โทรศัพท์ 095 6959695
www.facebook.com/Piamsookfarms

(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565)

“ฟาร์มจิ้งหรีดไทย” สู่สากล ด้วยมาตรฐาน GAP