ใช้หนอนเป็นอาหารเสริมให้ไก่ สิ่งที่เห็นคือเราได้ไข่มากขึ้น ฟองโต เปลือกหนา

จากวันที่ยังรวมตัวเป็น “กลุ่มเล่าฝัน” ตามประสาเด็กหนุ่มที่ฝันจะกลับมาสร้างอาชีพของตัวเองในชุมชนและพัฒนาบ้านเกิดไปด้วย พวกเขาเติบโตและพร้อมเปลี่ยนความฝันให้เป็นจริง การรวมตัวกันอีกครั้งในปี พ.ศ.2562 จึงเกิดขึ้น

“หลังจากแต่ละคนหมดสัญญาจ้างแรงงานที่ต่างประเทศก็กลับมาเจอกันมาพูดคุยกันอีก หลายคนเริ่มทำตามความฝันตัวเองแล้ว ก็ชวนกันคิดจริงจังที่จะทำความฝันร่วมกันให้ชุมชน โดยตกลงเริ่มจากการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่ง เป็นอาหารที่ทุกบ้านต้องกิน เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าจะซื้อง่ายขายคล่อง” ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย แกนนำกลุ่มแม่ทาล่าฝันและประธานกลุ่มแม่ทาออร์แกนิค ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ย้อนความถึงที่มาของกลุ่มและจุดเริ่มของการเลี้ยงไก่ไข่

ชุมชนแม่ทาเป็นพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์มายาวนาน แต่ยังไม่มีผลผลิตไก่ไข่ปลอดภัย กลุ่มฯ จึงต้องการผลักดันการเลี้ยงไก่ไข่ให้เกิดขึ้นในชุมชน อย่างน้อยได้ไข่ที่ปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน หากเหลือก็ขายในชุมชนหรือส่งขายในตัวเมือง ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นโครงการและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

“เราตั้งเป้าการทำงานของโครงการให้เกิดการเกื้อหนุนอาชีพของคนในชุมชน มีกลุ่มคนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ส่งให้เราเพื่อเป็นอาหารให้ไก่ และมีกลุ่มเลี้ยงหนอนเอามาขายให้กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ เนื่องจากอาหารสัตว์อินทรีย์หายากและราคาแพง”  

หนอนที่ยุทธศักดิ์พูดถึง คือหนอนแมลงทหารดำ หรือที่มักเรียกว่า หนอน BSF (Black Soldier Fly) ซึ่งเขาและเพื่อนสมาชิกศึกษาข้อมูลแล้วว่ามีโปรตีนสูงเป็นอาหารเสริมให้ไก่ได้ จึงอาศัยความรู้จากอินเทอร์เน็ตและศึกษาดูงานที่ฟาร์มเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำในเชียงใหม่แล้วกลับมาทดลองเลี้ยงเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นได้รู้จัก สวทช. ซึ่งกำลังมองหากลุ่มชุมชนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงหนอนทหารดำลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ จึงนำมาสู่การทำงานร่วมกันในโครงการการเพาะเลี้ยงแมลงทหารดำเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารไก่ไข่อินทรีย์ “ชุมชนต้นแบบ BCG แม่ทาโมเดล: ขยะแลกไข่”

“โมเดลขยะแลกไข่ เกิดจากโจทย์ที่ สวทช. ตั้งไว้ว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงหนอน ต้องหาได้ในชุมชนและไม่เพิ่มต้นทุนการเลี้ยง ก็มองถึงเศษอาหารในครัวเรือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ สวทช. ก็ให้ข้อมูลและร่วมกับเราออกแบบโมเดลนี้ โดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพราะอาหารที่จะเอามาใช้เลี้ยงหนอนเพื่อให้ได้ปริมาณเยอะ ถ้าเอาเฉพาะครัวเรือนตัวเองไม่พอ และเราต้องการสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจจากชุมชน บางคนเลี้ยงหนอน บางคนเอาอาหารมาให้ ชุมชนจะได้เข้าใจเรื่องที่กลุ่มฯ กำลังทำ ถ้าเขาไม่รู้และไม่เข้าใจ พอเราเริ่มทำแล้วมีปัญหา เช่น เรื่องกลิ่น ก็จะเกิดความขัดแย้งและทะเลาะกันได้ เราเปิดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านและ อบต. เน้นสร้างความเข้าใจการบริโภคไข่ปลอดภัยและการใช้ประโยชน์จากขยะเศษอาหาร ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นแย้ง คนเห็นแย้งจะห่วงเรื่องกลิ่นและภาระที่เขาต้องจัดการขยะ ส่วนคนที่เห็นด้วยก็มีอีกชุดความคิด อยากได้ไข่ที่ปลอดภัยกว่าไข่ในท้องตลาด”

จากเวทีประชาคมในวันนั้น มีชาวบ้าน 28 ครัวเรือน อาสาร่วมส่งเศษขยะอาหารและเลี้ยงหนอนให้กลุ่มฯ ขณะเดียวกันองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาได้สนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือนกลางสำหรับเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์-อนุบาลหนอน เพื่อเป็นจุดเรียนรู้และส่งหนอนที่อนุบาลแล้วให้ชาวบ้านและสมาชิกผู้เลี้ยงไก่ไข่นำไปเลี้ยงจนหนอนโตได้ 3 สัปดาห์ก่อนนำไปเป็นอาหารให้ไก่ โดยชาวบ้านจะได้รับไข่ไก่ตอบแทน ซึ่งหลังจากเริ่มโครงการ ปริมาณขยะเศษอาหาร (กรองน้ำทิ้ง) ที่ได้รับจากชาวบ้านเฉลี่ย 1-2 กก./ครัวเรือน แบ่งไปเลี้ยงหนอนที่โรงเรือนกลางและเลี้ยงที่ฟาร์มไก่ของสมาชิกซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเรือน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นกับชุมชน

ในส่วนของการเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำนั้น จำรัส ปัญญาสม สมาชิกของกลุ่มฯ อีกคน เล่าว่า เมื่อก่อนเลี้ยงยากมาก ตอนไปดูงานก็ดูทำง่ายมาก พอมาลองทำแล้วไม่ได้พ่อแม่พันธุ์ ไม่ได้ไข่ แต่หลังจากอบรมกับ สวทช. ก็รู้เทคนิค การบริหารจัดการโรงเลี้ยงและอาศัยสังเกตพฤติกรรมหนอน ทำให้เลี้ยงได้ดีขึ้น

ศรีแพ ดวงแก้วเรือน เป็นหนึ่งในชาวบ้านแม่ทาที่อาสาเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ ทั้งๆ ที่ไม่ชอบหนอน แต่เธอก็อาสาเลี้ยงด้วยมองว่าได้ใช้ประโยชน์จากเศษอาหาร “เลี้ยงไม่ยากเลย ใช้เศษอาหารจากบ้านเราบ้านญาติ เอาน้ำออก แล้วมาให้หนอนกิน เศษอาหารเอาไปทำปุ๋ยหมักก็ใช้เวลากว่าจะได้ปุ๋ย แต่เอามาเลี้ยงหนอนใช้เวลาย่อยน้อยกว่า ได้หนอนไปให้ไก่กิน แล้วเราได้ไข่ไก่กลับมาด้วย”

ขณะที่ อดิศักดิ์ ต๊ะปวน สมาชิกกลุ่มฯ ซึ่งเลี้ยงไก่ไข่ 80 ตัว และทำโรงเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หนอนไว้เองด้วย เก็บไข่และอนุบาลจนหนอนโตแล้วเอาไปให้ไก่กิน เล่าว่า “ใช้หนอนเป็นอาหารเสริมให้ไก่ สิ่งที่เห็นคือเราได้ไข่มากขึ้น ฟองโต เปลือกหนา จากที่เคยได้ไข่ 40-50 ฟอง เป็นเบอร์ 3 และ 4 พอเสริมด้วยหนอนได้ไข่ไม่ต่ำกว่า 50-60 ฟอง ขนาดเบอร์ 0-2 ต้นทุนค่าอาหารลดลงแต่ยังไม่ถึง 50% เพราะปริมาณหนอนไม่พอ ก็ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงหนอนเพิ่ม ส่วนอาหารของหนอน ใช้เศษอาหารจากครัวเรือนและเศษผักผลไม้จากแปลงข้างเคียง ถ้าเลี้ยงหนอนได้มากพอ ต้นทุนก็ลดลงได้อีก”

หลังได้ทดลองขับเคลื่อนโมเดลขยะแลกไข่มาได้เกือบปี ยุทธศักดิ์ มองว่า โจทย์ท้าทายคือการหาวัตถุอินทรีย์ให้เพียงพอสำหรับเลี้ยงหนอนและการบริหารจัดการจุดเลี้ยงหนอนที่กระจายอยู่ตามบ้านอาสาสมัคร ไม่ให้เกิดกลิ่นรบกวน ซึ่งเป็นโจทย์ที่กลุ่มฯ ต้องเรียนรู้และทดลองร่วมกับ สวทช. ต่อไป นอกจากนี้กลุ่มฯ ยังมีแผนทำมาตรฐานไก่ไข่อารมณ์ดีของกลุ่มฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อและเป็นแนวทางสำหรับสมาชิกผู้เลี้ยงไก่ของกลุ่มฯ

กลุ่มแม่ทาล่าฝันมีสมาชิกเลี้ยงไก่ไข่ 8 ราย ผลิตไข่ไก่ได้สัปดาห์ละประมาณ 1,750 ฟอง และด้วยไข่ที่สด ฟองใหญ่และปลอดภัยจึงเป็นที่ต้องการของตลาดสัปดาห์ละ 2,700 ฟอง ทำให้กลุ่มฯ ต้องเพิ่มจำนวนไก่อีก 300 ตัว จากที่มีอยู่ 600 ตัว และเปิดรับสมาชิกเพิ่ม

“คนในชุมชนได้กินไข่จากกลุ่มฯ เราแล้ว แต่ยังไม่มาก ด้วยราคาที่แพงกว่าไข่ในตลาด ถ้าขายในชุมชนก็ขายฟองละ 3 บาทกว่า แผงละ 100 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 2 บาทกว่า ต่อไปถ้าเราเลี้ยงหนอนได้มากขึ้น ก็จะช่วยลดต้นทุนเราได้ ส่วนตลาดข้างนอกเราขายไข่เบอร์ 0 ใบละ 6.50 บาท ใช้ชื่อ “ไข่ไก่แม่ทาล่าฝัน” มีส่งไปกรุงเทพฯ เป็นพรีออเดอร์ ไปขายเองที่ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ ทุกวันพฤหัสบดีและเสาร์ แล้วก็มีออเดอร์จากร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ในตัวเมืองเชียงใหม่ รวมถึงริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ต สาขามีโชค”

จากกลุ่มคนหนุ่มเล่าฝัน มาวันนี้พวกเขาได้เริ่มล่าฝันทำเพื่อชุมชนและอยู่ระหว่างจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่ทาล่าฝัน” แม้วันนี้การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์และการลดต้นทุนค่าอาหารไก่ด้วยหนอนแมลงทหารดำยังมีสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้และแก้ปัญหาต่อไป แต่เป็นจุดเริ่มต้นการลงมือทำความฝันเพื่อชุมชนให้เป็นจริง

“การเลี้ยงไก่เป็นจุดเริ่มของพวกเราที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนให้เป็นสุข สิ่งที่เราเห็นได้จากการเลี้ยงไก่นอกจากทำให้มีรายได้หรือการใช้เศษอาหารให้เป็นประโยชน์แล้ว การเลี้ยงไก่ยังสร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ต่างช่วยกันให้อาหารไก่ เก็บไข่ คัดแยก เช็ดทำความสะอาด เป็นกิจกรรมร่วมของครอบครัวที่ได้ไข่กิน ได้รายได้และได้ความสัมพันธ์” ยุทธศักดิ์ บอกทิ้งท้าย

# # #

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ถ่ายทอดความรู้และการใช้ประโยชน์หนอนแมลงทหารดำ ภายใต้โครงการ “การเพาะเลี้ยงแมลงทหารดำ (Black Soldier Fly) สำหรับใช้เป็นแหล่งโปรตีนในอาหารสัตว์ลดต้นทุน” เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจตามนโยบาย BCG Economy Model เพื่อนำของเสียมาใช้ประโยชน์ ลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

กลุ่มแม่ทาล่าฝัน
ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
โทรศัพท์ 065 478 5492 
(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565)

‘ไข่ไก่อารมณ์ดี’ จุดเริ่มต้นล่าฝันเพื่อชุมชน