“ปลูกสลัดรอบนึง มีต้นทุนเมล็ดพันธุ์ 40 บาท แต่ไม่งอกทุกเมล็ด ได้ประมาณ 70% ถึงได้อยากทำเมล็ดพันธุ์เก็บไว้ใช้เอง ถ้าเราทำเอง ได้เท่าไหร่ก็ช่างมัน เสียหายเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีต้นทุน” คุณพนมนคร ทำมาทอง เกษตรกรบอกถึงเหตุผลที่ต้องการทำเมล็ดพันธุ์ผักสลัดไว้ใช้เอง และวันนี้เขาและเพื่อนๆ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ได้มาร่วมเรียนรู้ “การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ไว้ใช้เอง” จาก รศ.ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโดยฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน สท.

“ลดต้นทุนการผลิต มีเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกตลอดไป อนุรักษ์พันธุ์พืช และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร” เป็นคำตอบว่าทำไมต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง แล้วเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเองจะมีคุณภาพเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาหรือไม่นั้น อาจารย์บุญส่ง บอกว่า มีหลายพืชสามารถทำได้หากมีการจัดการที่ถูกต้อง

รวบรวมพันธุกรรมพืช โดยเก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์พืชที่ต้องการจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้ได้ความหลากหลายทางพันธุกรรม และปลูกเพื่อศึกษาลักษณะประจำพันธุ์พืชนั้นๆ เพื่อให้รู้จักลักษณะของพืชนั้นให้มากที่สุด

คัดเลือกพันธุ์ คือ การปรับปรุงประชากรหรือยกระดับความสามารถหรือคุณลักษณะต่างๆ ของพืชให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น ให้ผลผลิตสูงขึ้น ซึ่งอาจารย์บุญส่งให้แนวทางการคัดเลือกพันธุ์ ประกอบด้วย

    • คัดเลือกพันธุ์ผักที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ของผลผลิต
    • คัดเลือกพันธุ์ผักที่ให้ผลผลิตสูง
    • คัดเลือกพันธุ์ผักที่มีความทนทานต่อโรคและศัตรูพืชในท้องถิ่นนั้น
    • คัดเลือกพันธุ์ผักที่ตรงกับความต้องการของตลาด ความต้องการของผู้บริโภค

ผลิตเมล็ดพันธุ์ ก่อนการผลิตเมล็ดพันธุ์จำเป็นต้องรู้

    • รูปแบบการผสมเกสรของพืชนั้นๆ เป็นพืชผสมตัวเอง หรือพืชผสมข้าม
    • สภาพแวดล้อมของแหล่งผลิต ได้แก่ แสงแดด อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ลม สภาพดิน โรคและแมลง โดยเฉพาะอุณหภูมิมีความสำคัญต่อผลสำเร็จของการผสมเกสร
    • สภาพพื้นที่ ประวัติแปลงปลูก สภาพดิน ธาตุอาหารในดิน

นอกจากนี้ในการปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องกำหนดระยะห่างของแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อไม่ให้เกิดการผสมข้ามพันธุ์ ขณะที่ระหว่างปลูกต้องดูแลให้น้ำและปุ๋ยอย่างเหมาะสม ถอนต้นที่ผิดปกติและต้นที่เป็นโรคเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ตรงตามพันธุ์

เก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ เมล็ดที่มีคุณภาพสูง เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องมีน้ำหนักมาก เมล็ดใหญ่ และมีเปอร์เซนต์ความงอกสูง ซึ่งระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมจะแตกต่างตามลักษณะเมล็ดพืช

    • เมล็ดแห้งเมื่อแก่ เช่น กะเพรา ผักชีลาว ผักชีฝรั่ง เก็บเกี่ยวได้เมื่อเมล็ดเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ
    • เมล็ดที่มีฝักห่อหุ้ม เช่น ผักเสี้ยน กระเจี๊ยบ เก็บเกี่ยวได้เมื่อฝักเริ่มเปลี่ยนสีและเมล็ดภายในเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ
    • เมล็ดที่ผลมีเนื้อนุ่ม เช่น มะเขือเทศ พริก แตงกวา เก็บเกี่ยวเมื่อสีผลภายนอกเปลี่ยนสีชัดเจน
      > ผลสีแดง เช่น มะเขือเทศ พริก ตำลึง บวบงู
      > ผลสีเหลือง เช่น มะเขือ แตงกวา มะระ
      > ผลสีน้ำตาลหรือสีฟางข้าว เช่น มะเขือม่วง

ลักษณะของเมล็ดพันธุ์หลังเก็บเกี่ยวมี 2 ลักษณะ คือ เมล็ดเปียก เช่น มะเขือเทศ พริก มะละกอ เมล็ดแห้ง เช่น ผักชี สลัด ซึ่งเมล็ดเปียกนำไปหมักใส่ถัง 12-24 ชั่วโมง ก่อนนำไปล้าง จะทำให้เนื้อที่หุ้มเมล็ดหลุดออกง่าย แล้วจึงไปผึ่งลมในที่ร่ม 3-4 วัน

เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวแล้วจะมีความชื้นในระดับที่ค่อนข้างสูง (35-40%) หากต้องการเก็บเพื่อใช้ในฤดูปลูกต่อไปต้องลดความชื้นในเมล็ดให้ต่ำกว่า 10% จะช่วยให้เก็บเมล็ดพันธุ์ได้นาน 1-3 ปี โดยขึ้นอยู่กับพืชผักแต่ละชนิดและวิธีการเก็บที่ถูกต้อง สำหรับการลดความชื้นในเมล็ดพันธุ์นั้น ไม่ควรให้ถูกแสงแดดโดยตรง ควรตากเมล็ดพันธุ์ในโรงเรือน หรือใส่ถุงไนล่อนผึ่งลม 3-4 วัน แล้วบรรจุลงขวดแก้วที่มีฝาปิด เก็บในตู้เย็น

การอบรมครั้งนี้อาจารย์บุญส่งได้ลงแปลงผักของสมาชิกกลุ่มฯ ที่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง เพื่อให้คำแนะนำการเลือกต้นที่เหมาะสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ การดูแลรักษาที่ถูกต้อง ช่วยให้เกษตรกรเข้าใจมากขึ้น ดังที่คุณพนมนครบอกว่า อาจารย์มาดูที่แปลงได้ช่วยแก้ปัญหาให้ ฟังพูดอย่างเดียวก็ยังไม่เห็นภาพ มาเห็นที่แปลงก็เข้าใจเลย รู้เลยว่าต้องทำอย่างไร แก้ไขอย่างไร

คุณพนมนคร เริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ผักสลัดกรีนโอ๊คและเรดโอ๊คมาได้ 2 ปี ทำเก็บไว้ใช้เอง ใช้วิธีตามรุ่นพ่อรุ่นแม่ เก็บได้ไม่เยอะ ได้ประมาณอย่างละครึ่งกิโลกรัม แต่งอกไม่ค่อยดี

“แต่ก่อนไม่รู้จักและไม่เข้าใจว่า ‘คัดเมล็ดคืออะไร’ รู้จักแต่คำว่า ‘เก็บ’ ต้นไหนสวยก็เก็บ ต้นละลูกสองลูก ปลูกก็แล้วแต่จะปลูก ปลูกถี่ๆ ปลูกห่างๆ มาเรียนวันนี้ทำให้สว่างขึ้น ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าต้องคัดจากลูก คัดจากลำต้น ต้องดูหลายๆ อย่าง แล้วก็ต้องไปปรับวิธีการปลูกแล้วเก็บให้ถูกวิธี เอาไปพึ่งลม ใส่ขวดแก้ว แต่เราเอาไปตากแดด ใส่ขวดพลาสติก”

นอกจากสมาชิกแต่ละคนของกลุ่มฯ จะได้เรียนรู้วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างถูกวิธีแล้ว ในการทำงานของกลุ่มฯ เอง คุณพนมนคร บอกว่า จะต้องวางแผนร่วมกันใหม่ แบ่งการปลูกอย่างไรเพื่อจะได้ไม่ข้ามสายพันธุ์ ทั้งผักสลัด พริก มะเขือเทศ และผักพื้นบ้านต่างๆ

# # #

“เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง” อีกย่างก้าวของ “กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์โนนกลาง”