วัคซีนดีเอ็นเอต้านโควิด – มาแว้วววว

เรื่องโดย
ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


 

          อินเดียเปิดตัววัคซีน ZyCoV-D วัคซีนดีเอ็นเอตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติใช้ในมนุษย์ (ในสถานการณ์ฉุกเฉิน)

          เปิดตัวเสียที สำหรับวัคซีนดีเอ็นเอ หลังจากที่หลายๆ คนรอลุ้นกันอยู่เนิ่นนาน เพราะถ้าว่ากันตามหลักการ ก็น่าจะให้ผลโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าวัคซีนแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนซับยูนิต ไวรัสเวกเตอร์หรือแม้แต่ระดับเทพอย่างเอ็มอาร์เอ็นเอ

          ทว่ากลับเงียบกริบไร้สรรพเสียงใดๆ จนหลายคนเริ่มประหวั่นว่าน่าจะแป้ก แต่ท้ายที่สุดก็เปิดตัวออกมาได้อย่างอลังการ คุ้มค่ากับการรอคอย

          ถ้าเปรียบก็คงเหมือนเป็นม้าตีนปลายที่เพิ่งจะเริ่มฉายแววเอาตอนระลอกสาม ระลอกสี่ของการระบาด แต่แม้จะเปิดตัวมาได้ดี ก็ยังคงต้องรอดูอีกทีว่าจะเข้าวินหรือไม่

          ที่จริงแนวคิดในการผลิตวัคซีนจากดีเอ็นเอนั้นมีมานานแล้ว ตั้งแต่ยุค 80 นักวิจัยจากสาธารณสุขแห่งรัฐนิวยอร์กได้พยายามพิสูจน์ว่าดีเอ็นเอสามารถเอามาใช้เป็นวัคซีนได้ ในตอนนั้นพวกเขาได้ทดลองสร้างวัคซีนต้านไข้ทรพิษขึ้นมาโดยใช้ดีเอ็นเอ ซึ่งก็ให้ผลได้อย่างน่าสนใจ

          หลังจากนั้นก็เริ่มมีการสานต่อและเริ่มต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนดีเอ็นเอมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นยุค 90 นักวิจัยจากฟาร์มายักษ์ใหญ่อย่าง เมอร์ค (Merck) ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างวัคซีนดีเอ็นเอต้านไข้หวัดใหญ่ และต่อมาก็มีการทดลองใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อก่อโรคอีกหลายตัว เช่น ไวรัสซิกา ไวรัสเอดส์

          ที่จริงแล้ว อิโนวิโอ (Inovio) หนึ่งในเจ็ดหัวหอกที่รับทุนพัฒนาวัคซีนต้านโควิด 19 จากองค์การการวิจัยและการพัฒนาขั้นสูงทางชีวทางการแพทย์ (Biomedical Advanced Research and Development Authority) หรือบาร์ดา (BARDA) ก็มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาวัคซีนดีเอ็นเอเช่นกัน

          แม้ว่าอิโนวิโอจะถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการวัคซีนโควิดที่ล้มลุกคลุกคลานมาพร้อมๆ กับโมเดอร์นา ไฟเซอร์-ไบออนเทค เจแอนด์เจ และแอสตราเซเนกา แต่จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่เพื่อนๆ หัวหอกบาร์ดารุ่นเดียวกันออกโพรดักต์ทำตลาดกันกระจาย เรียกว่าวิ่งขึ้นนำไปไกลแล้ว

          วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์-ไบออนเทคก็เพิ่งจะผ่านการอนุมัติโดยองค์การอาหารเเละยา สหรัฐอเมริกา (Food & Drug Administration: FDA) ให้เอามาใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบไปหมาดๆ ในขณะที่โมเดอร์นาก็ยื่นขอเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน และน่าจะเป็นอีกหนึ่งยี่ห้อที่เข้าวินได้รับการอนุมัติให้ใช้จริงได้ในเร็วๆ นี้ 

          ทว่าวัคซีนดีเอ็นเอของอิโนวิโอกลับเงียบฉี่ ยังไม่ได้ฤกษ์เปิดตัวจริงๆ เสียที

          หลายคนก็เลยตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าวัคซีนดีเอ็นเอนั้นจะมีโอกาสได้เกิดจริงหรือไม่ หรือเป็นได้แค่วัคซีนม้ารองนอกสายตาในสมรภูมิแห่งวัคซีนโควิดที่ดุเดือดนี้


ภาพจาก https://www.nature.com/articles/d41586-021-02385-x

          แต่การอนุมัติฉุกเฉินให้ ZyCoV-D คือการพลิกเกมอย่างแท้จริง

          แม้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนดีเอ็นเอนั้นจะได้แค่ราวๆ 67 เปอร์เซ็นต์จากการทดลองคลินิกกับอาสาสมัคร 28,000 คน ไม่ได้สูงปรี๊ดเหมือนกับวัคซีนในตระกูลเอ็มอาร์เอ็นเอที่จัดไปแบบเกิน 90 เปอร์เซ็นต์กันแบบสวยๆ แต่ผลก็ไม่ได้ถือว่าขี้เหร่ เพราะถ้ามองข้อเท็จจริงที่ว่าการทดลองคลินิกของ ZyCoV-D นั้นทำกับกลุ่มคนที่กำลังผจญอยู่กับไวรัสก่อโรคโควิด 19 เวอร์ชันปราบเซียนอย่างสายพันธุ์กลายเดลตาที่ทั้งระบาดเก่งกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม อีกทั้งดื้อวัคซีนได้เป็นเลิศอีก ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา

          ว่ากันตามจริงถือเป็นอีกหนึ่งออปชันที่น่าจับตามองมากๆ

          วัคซีน ZyCoV-D นั้นผลิตโดยบริษัทไซดัส คาดิลา (Zydus Cadila) ของประเทศอินเดีย ตัววัคซีนเป็นสายดีเอ็นเอที่มีเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนที่เรียกว่า “พลาสมิด (plasmid)”

          ในวงพลาสมิดนั้นมียีนสำหรับสร้างโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 แทรกอยู่ ซึ่งวิธีการฉีดพลาสมิดนี้เข้าไปในคนนั้นได้ออกแบบมาแยบยล แต่ประหลาดพิสดารแตกต่างไปจากการฉีดวัคซีนปกติอย่างสิ้นเชิง

          ในกรณีของวัคซีนดีเอ็นเอนั้นจะไม่ใช้เข็มฉีดยาฉีดวัคซีนเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อเหมือนกับวัคซีนประเภทอื่นๆ แต่จะเป็นการยิงดีเอ็นเอเข้าไปในเซลล์ที่ผิวหนังโดยตรง ซึ่งในชั้นใต้ผิวหนังจะมีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอยู่เยอะทำให้การกระตุ้นภูมิของการฉีดแบบนี้ทำได้ดีไม่แพ้การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

          อย่างไรก็ตามการยิงยีนต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า ปืนยิงยีน (gene gun) ​ซึ่งจะปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในผิวหนังเพื่อเปิดรูในเยื่อหุ้มเซลล์ให้วัคซีนสามารถแทรกซึมเข้าไปภายในเซลล์

          แต่ที่ซับซ้อนและยากที่จะควบคุมคือวัคซีนดีเอ็นเอจะทำงานได้ต้องเข้าไปถึงในนิวเคลียสของเซลล์เท่านั้น ซึ่งก็อาจจะต้องลุ้นดูอีกทีว่าการยิงจะเข้าไปถึงจริงหรือไม่

          วิธีการฉีดที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครนี้น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การออกแบบแนวทางกระจายฉีดแบบหว่านแหครอบทั้งประเทศนั้นทำได้ยากกว่าวัคซีนประเภทอื่น​ เพราะถ้ามองในเรื่องของต้นทุน​ แม้ราคาวัคซีนอาจจะย่อมเยากว่า แต่ถ้าต้องซื้อปืนยิงยีนพ่วงมาด้วย ในเรื่องความคุ้มค่าคงต้องพิจารณากันอีกที

          นี่ยังไม่นับว่าจะต้องฝึกคนฉีดให้รู้สึกชิน เชี่ยวชาญ ชำนาญ และมั่นใจในการใช้ปืนยิงยีนเพื่อยิงวัคซีนอีกด้วย

          แถมท้ายคือวัคซีนนี้จะต้องฉีด 3 โดส (นั่นคือต้องโดนกันคนละสามนัด) เพื่อความชัวร์ ดังนั้นปัญหาในเรื่องของโลจิสติกส์จึงน่าจะเป็นอีกประเด็นที่จะต้องคำนึงถึง ​

          แต่สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งรีบนับศพทหาร เพราะการอนุมัติใช้วัคซีนดีเอ็นเอตัวแรกจากอินเดียนี้น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ที่สำคัญที่แสดงว่าวัคซีนดีเอ็นเอนั้นเวิร์กในโลกแห่งความเป็นจริง สามารถลดการติดเชื้อแบบแสดงอาการได้จริงและชัดเจน แม้แต่สายพันธุ์เดลตาก็ยังเอาอยู่

          เทคโนโลยีนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีแห่งความหวังที่น่าลุ้นไม่แพ้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบอื่นๆ  ที่มีอยู่ในท้องตลาด

          ทีมไซดัสคาดิลาเผยว่าในตอนนี้วัคซีน ZyCoV-D พร้อมแล้วที่จะฉีดเข้าแขนมนุษย์ในประเทศอินเดีย และภายในต้นปีหน้า ทางบริษัทจะจัดเต็มได้อีก 50 ล้านโดสพร้อมส่ง และน่าจะมีตามมาอีกตรึม

          และถ้าเทียบกันในแง่การผลิต วัคซีนดีเอ็นเอผลิตได้ง่ายกว่าอย่างมหาศาลถ้าเทียบกับวัคซีนประเภทอื่นๆ “ถ้าวัคซีนดีเอ็นเอสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าสำเร็จ นี่จะเป็นอนาคตใหม่แห่งการฉีดวัคซีน” ชาฮีด จามีล (Shahid Jameel) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาอโศกา (Ashoka University) ประเทศอินเดียกล่าว

          ในเวลานี้มีวัคซีนดีเอ็นเอต้านโควิด 19 นับสิบตัวที่ยังอยู่ในไปป์ไลน์ของการพัฒนา บ้างก็ติดอยู่ที่การทดลองทางคลินิก บ้างก็ยังอยู่ในขั้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือเทคโนโลยีนี้เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีวัคซีนที่น่าสนใจที่อาจจะมาแรงไม่แพ้เทคโนโลยีวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ

          และที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือหนึ่งในวัคซีนต้านโควิด 19 หลายสิบตัวที่ยังอยู่ในไปป์ไลน์ของการพัฒนานั้น ก็มีตัวนึงจากทีมไทยแลนด์ด้วยเช่นกันวัคซีนตัวที่ว่าชื่อวัคซีน “โควิเจน (Covigen)” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัทวัคซีนสัญชาติไทยรุ่นเก๋าอย่างไบโอเนท-เอเชีย (BioNet Asia) ​บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากออสเตรเลีย เทคโนวาเลีย (Technovalia) ​ และมหาวิทยาลัยซิดนีย์​ (University of Sydney) ประเทศออสเตรเลีย ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการทำทดลองทางคลินิกเฟส 1 อยู่

          มาช้าก็ยังดีจะไม่มา อีกหนึ่งสรรพาวุธของมนุษยชาติในการกำราบโควิด อนาคตดูจะมีความหวัง

About Author