ปลาทะเลพรางตัวในทะเลลึกด้วย “สีที่มืดมิดที่สุดในโลก”

            มีสัตว์ทะเลอย่างน้อย 16 สายพันธุ์ ที่ถูกค้นพบว่าผิวหนังมีสีดำเข้มในระดับใกล้เคียงกับสี “แวนตาแบล็ก (Vantablack)” ซึ่งจัดเป็นสีที่มืดมิดที่สุดในโลก โดยมีการรายงานในวารสาร Current Biology ว่า นักชีววิทยาจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรค้นพบสัตว์ทะเลลึกเหล่านี้อาศัยตรงก้นทะเลมืดมิดในระดับความลึกมากกว่า 200 เมตร โดยผิวที่ดำสนิทจะช่วยพรางตัวมันจากสัตว์ผู้ล่า

            ดร.คาเรน ออสบอร์น หนึ่งในสมาชิกจากสถาบันวิจัยสมิธโซเนียน กล่าวว่า เธอเคยประสบปัญหาขณะพยายามบันทึกภาพปลาทะเลลึกบางชนิด เนื่องจากผิวหนังของพวกมันดูดซับแสงสว่างจากดวงไฟของช่างภาพเอาไว้ได้เกือบทั้งหมด ทำให้ภาพออกมาไม่คมชัดและมืดมัว ซึ่ง “มังกรดำแปซิฟิก”​ คือสัตว์ทะเลลึกที่ถ่ายภาพได้ยากมากที่สุดตัวหนึ่ง

            จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอศึกษาวิธีการพรางตัวของสัตว์ทะเลลึกเหล่านี้ และค้นพบว่าบางตัวมีผิวดำสนิทจนสามารถดูดซับแสงไว้ได้มากกว่า 99.956% เทียบเท่าความดำมืดของสีแวนตาแบล็กที่ดูดซับแสงได้ราว 99.96% ผลของการวิเคราะห์ผิวหนังพบว่า พวกมันมีอนุภาคของเม็ดสีเรียงติดกันแน่นขนัดโดยไม่มีช่องว่าง ซึ่งอนุภาคเหล่านี้ก่อตัวเป็นชั้นบางในผิวหนังเพียงชั้นเดียว เม็ดสีมีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมในการกระจายให้แสงผ่านเข้าไปใต้ผิวหนังได้พอดี และยังสามารถดักจับแสงไม่ให้สะท้อนกลับออกมาได้อีกด้วย ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ช่วยให้พวกมันสามารถพรางตัวในทะเลลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีแสงจากสัตว์ผู้ล่า เช่น ปลาตกเบ็ด (Anglerfish) ฉายส่องมา หรือเมื่อต้องอำพรางตนเองไม่ให้เป็นจุดเด่นเมื่อกินปลาหรือสัตว์เรืองแสงเข้าไป

            ความรู้เรื่องดังกล่าวนี้ ทำให้ ดร.ออสบอร์น สามารถคิดค้นวิธีจัดแสงให้สามารถถ่ายภาพปลาทะเลลึกผิวมืดได้คมชัด และอาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้คิดค้นวัสดุสีดำพิเศษเพื่อเคลือบด้านในของกล้องถ่ายภาพหรือกล้องโทรทัศน์ได้อีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม >> https://www.bbc.com/thai/features-53462845

About Author