ชีวิตสับสน : แอ่น นางแอ่น หรืออีแอ่น

หลายคนรู้ว่า “รังนก” อาหารบำรุงร่างกายราคาแพงลิบลิ่วทำมาจาก “น้ำลายนกแอ่น” ปัญหาคือเมื่อพูดถึงนกแอ่น ก็จะมี 2-3 ชื่อผุดขึ้นมาให้สับสน คือ  “นกแอ่น” “นกนางแอ่น” และ “นกอีแอ่น” ว่ามันหมายถึงนกตัวไหน แล้วเจ้าของน้ำลายทองคำนี้คือตัวไหนกันแน่

เจ้าของน้ำลายทองคำตัวจริง คือ นกแอ่น หรือภาษาอังกฤษว่า swiftlet อยู่ในวงศ์นกแอ่น (Apodidae) เป็นนกขนาดเล็ก ปีกยาวเรียวแหลมไม่แผ่กว้างเป็นสามเหลี่ยม ขาเล็ก น้ำหนักเบา บินเร็ว ปราดเปรียว นิ้วตีนมีแค่ 3 นิ้วชี้ไปข้างหน้าทั้งหมด ไม่มีนิ้วตีนหลังสำหรับเกาะยึด ดังนั้นเราจึงไม่พบนกแอ่นเกาะตามสายไฟหรือต้นไม้

นกแอ่นในวงศ์นี้มีอวัยวะพิเศษ คือ “ต่อมน้ำลาย” ผลิตของเหลว ลักษณะเป็นเมือกใส สำหรับนำมาใช้สร้างรังตามผนังถ้ำ ตามที่ที่มีแสงน้อยหรือมืด นกแอ่นบางชนิดทำรังโดยใช้น้ำลายร่วมกับวัสดุทำรัง เช่น ขนของตัวเอง เศษพืช รังจึงมีสีน้ำตาล ดำ กระดำกระด่าง แต่มีบางชนิดใช้น้ำลายตัวเองล้วน ๆ สร้างรังแบบไม่มีวัสดุอื่นเจือปน รังที่ได้จะเป็นสีขาวถึงสีแดง ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคและขายได้ราคาสูงมาก

นกแอ่นที่พบในประเทศไทย เช่น นกแอ่นกินรัง (Aerodramus germani) นกแอ่นกินรังตะโพกขาว (Collocalia germani) นกแอ่นหางสี่เหลี่ยม (Aerodramus maximas)

ส่วนนกนางแอ่นนั้นภาษาอังกฤษเรียก swallow อยู่ในวงศ์นกนางแอ่น (Hirundinidae) ลักษณะปีกจะต่างจากนกแอ่นคือ ยาวและแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ไม่เรียวแหลม ชอบเกาะตามสายไฟฟ้าเป็นฝูงขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพมาประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว พบเห็นบ่อยทั้งในเมืองใหญ่ ตามท้องไร่ ท้องนา นกนางแอ่นมักสร้างอยู่ตามหน้าผาหรือบ้านเรือน รังทำจากดินโคลนผสมเศษซากพืช

ชนิดที่พบเห็นได้บ่อยในประเทศไทย คือ นกนางแอ่นบ้าน (Hirundo rustica) ที่มักมาชุมนุมกันที่ถนนสีลมตอนช่วงฤดูหนาวของทุกปี แล้วก็มีนกหายากอย่าง “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” (Eurochelidon sirintarae) หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของประเทศไทย ที่ไม่มีรายงานการพบเห็นมากว่า 40 ปีแล้ว เป็นสมาชิกในวงศ์นกนางแอ่นนี้เช่นกัน

ชนิดสุดท้าย…นกอีแอ่น ภาษาอังกฤษว่าอะไรไม่แน่ใจ ส่วนภาษาไทย ถ้าหาข้อมูลดูจะเจอนกอีแอ่นเป็นทั้งนกแอ่น นกแอ่นฟ้า นกนางแอ่น นกแอ่นพง และนกแอ่นทุ่ง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 บอกว่า “อีแอ่น (น.) เป็นชื่อนกขนาดเล็กในหลายวงศ์ คือ Apodidae, Hemiprocnidae, Hirundinidae, Corvidae และ Glareolidae…” นั่นแปลว่านกอีแอ่นของเราอาจไม่เท่ากัน อาจจะหมายถึงนกชนิดใดชนิดหนึ่งในวงศ์เหล่านี้ ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด แต่การเรียกชื่อให้ตรงตามชนิดก็จะช่วยลดความสับสนและสื่อสารได้ตรงประเด็นมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอ้างอิงชื่อนกจากหนังสือ “นกเมืองไทย” ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

ขอขอบคุณ รศ. ดร.ประทีป ด้วงแค คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับข้อมูล คำปรึกษา และช่วยตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ


ที่มา
ประทีป ด้วงแค เรื่อง “นกแอ่นกินรัง ทองคำขาวแห่งเอเชีย”, วารสาร @ll BIOTECH ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2546

About Author