“แนวกำแพงกันคลื่น” ดีต่อชายฝั่งจริงหรือ?

          ทะเลเป็นแหล่งอาหารและเส้นทางการเดินเรือมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เมื่อชายฝั่งถูกโจมตีด้วยน้ำขึ้นจากพายุ (Storm surges) มนุษย์จึงเริ่มทำกำแพงหินริมทะเลเพื่อปกป้องที่อยู่อาศัยของตน ซึ่งปัจจุบันบางประเทศยังคงมีการก่อสร้างโครงสร้างแข็ง เช่น กำแพงกันคลื่น (Seawall หรือ Revetment) แนวทิ้งหิน (Rip-rap) หรือกำแพงปากแม่น้ำ (Jetty) เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
 
          อย่างไรก็ตามการศึกษาในปัจจุบันพบว่า โครงสร้างแข็งเหล่านี้กำลังทำให้หาดทรายหายไปเรื่อยๆ โดยสามารถอธิบายได้จากปรากฏการณ์การเคลื่อนที่ของคลื่น เมื่อคลื่นเคลื่อนที่จากเขตน้ำลึกเข้าสู่เขตน้ำตื้น (Wave shoaling) คลื่นจะสูญเสียพลังงานไประหว่างการเคลื่อนที่ เนื่องจากแรงเสียดทานของพื้นทราย ทำให้อัตราเร็วและยาวของคลื่นลดลง คลื่นจึงยกตัวขึ้นก่อนจะแตกสลายบริเวณหาดทราย แต่เมื่อมีโครงสร้างที่แข็งและสูงชันมาขวางกั้น คลื่นที่ซัดเข้ากับโครงสร้างแข็งจะเกิดการสะท้อนกลับ ทำให้ตะกอนที่ฐานของโครงสร้างแข็งถูกกัดเซาะออก (Toe scoring) รวมถึงหาดทรายพื้นที่ชายฝั่งด้วย
 
          นอกจากนี้การที่หาดทรายบริเวณหน้าโครงสร้างแข็งถูกกวาดออก คลื่นจะไม่สามารถสลายพลังงานได้ดีพอ เป็นเหตุให้คลื่นบริเวณหน้าโครงสร้างแข็งรุนแรงมาก และเมื่อคลื่นปะทะกับกำแพง คลื่นที่มีพลังงานอยู่จะซัดออกไปรวมกับคลื่นที่เข้ามาใหม่ และซัดเข้าปะทะอย่างรุนแรงกับกำแพงต่อ ทำให้เราได้เห็นคลื่นยักษ์ซัดข้ามกำแพงมาในแผ่นดิน ดังที่เห็นได้จากข่าวพื้นที่ที่มีการก่อสร้างแนวกันคลื่น อย่างอ่าวประจวบคีรีขันธ์ และหาดปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และหาดทรายแก้ว จ.สงขลา เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแต่อย่างใด
 
          การรับมือการกัดเซาะกับพื้นที่ชายฝั่ง จะต้องตรวจสอบสาเหตุและแก้ปัญหาให้ถูกจุด ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีรักษาหาดทรายที่เป็นมิตรขึ้นหลายวิธี เช่น การกำหนดระยะถอยร่น (Setback) เพื่อแบ่งเขตชุมชนและเขตหาด, การทำแนวรั้วดักทราย (Sand facing), การติดตั้งกำแพงกันคลื่นแบบทุ่นลอย (Floating breakwater), กำแพงกันคลื่นแบบรูพรุนเล็ก (Small porous breakwater) และการปลูกหญ้าทะเล (Seagrass building) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานคลื่น (Wave energy) และพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal wave) ผนวกรวมโครงสร้างบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่งและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเข้าด้วยกัน เป็นกำแพงกันคลื่นใต้น้ำติดตั้งใบพัดผลิตไฟฟ้าอีกด้วย
 

ที่มาและรายละเอียดเพิ่มเติม
1) Beach for life (https://bit.ly/3oWGk09)
2) สมาคมฟิสิกส์ไทย (https://www.thaiphysoc.org/article/308)

About Author