กลุ่มดาวคนยิงธนู ที่มาของเดือนธันวาคม

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


 

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เทพเจ้าโครนัส (Cronus) ได้แปลงร่างเป็นม้า แอบหนีภรรยาคือ รีอา (Rhea)

          โครนัสได้ไปพบฟิไลรา (Philyra) เทพธิดาแห่งมหาสมุทร และได้มีลูกชายด้วยกันชื่อ ไครอน (Chiron) มีลักษณะแปลกประหลาดคือ ลำตัวท่อนบนเป็นคน แต่ลำตัวท่อนล่างเป็นม้า

ภาพไครอนกำลังสอนลูกศิษย์คือ อาคิลีส (Achilles) ยิงธนู วาดโดย Jean-Baptiste Regnault (1754-1829) อาคิลีสเป็นวีรบุรุษสำคัญคนหนึ่งในสงครามกรุงทรอย
ที่มาภาพ Wellcome Collection
https://wellcomecollection.org/works/vzbb7m92

          ฟิไลรารู้สึกอับอายมากที่ลูกเกิดมาเช่นนี้ จึงอ้อนวอนขอให้เทพเจ้าช่วยเปลี่ยนร่างเธอเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่มนุษย์ เทพเจ้าจึงเปลี่ยนร่างเธอเป็นต้นไม้

          เทพอพอลโล (Apollo) ได้มาพบไครอนก็พาไปเลี้ยง และสอนศิลปะความรู้ต่าง ๆ ให้คือ ดนตรี การเล่นพิณ การยิงธนู การรักษาโรค และการพยากรณ์ อาร์ทิมิส (Artemis) น้องสาวของอพอลโลก็ช่วยสอนเรื่องการล่าสัตว์

          เมื่อไครอนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้กลายเป็นอาจารย์ของเหล่าวีรบุรุษกรีกหลายคน

          ลักษณะครึ่งคนครึ่งม้านี้เรียกว่า เซนทอร์ (centaur) ไครอนได้รับยกย่องว่าเป็นเซนทอร์ที่ฉลาดที่สุด

          บนท้องฟ้ามีกลุ่มดาว 2 กลุ่มที่เกี่ยวกับเซนทอร์และไครอนคือ กลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus ออกเสียงว่า เซนทอรัส) และกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius ออกเสียงว่า แซจิแทเรียส)

ภาพดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูวันที่ 20 ธันวาคม 2563 เวลา 18:00 น. กรุงเทพฯ
ที่มาภาพ แอป SkyPortal 3.3.4.0, iPhone SE (2nd generation)

          กลุ่มดาวคนยิงธนูเป็นที่มาของชื่อเดือนธันวาคม คำว่า “ธันวาคม” เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า “ธนุ” แปลว่า ธนู กับคำว่า “อาคม” แปลว่า มาถึง หมายความว่า ดวงอาทิตย์มาถึงราศีธนูหรือกลุ่มดาวคนยิงธนู

          เนื่องจากการส่ายของแกนโลกและการแบ่งเขตกลุ่มดาวสากลสมัยใหม่ ทำให้ปัจจุบันวันที่ 1-18 ธันวาคม ดวงอาทิตย์จะอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) และวันที่ 19 ธันวาคม ถึง 20 มกราคม จึงจะอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู

          เราจะเห็นกลุ่มดาวคนยิงธนูได้ในที่มืดสนิท ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ อาจจะเห็นได้เพียงบางดวงเท่านั้น ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวคนยิงธนูคือ ดาวเอปซิลอน แซจิแทรีไอ (Epsilon Sagittarii) มีความสว่าง 1.85

ภาพแสงเลเซอร์จากกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ในประเทศชิลี ส่องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก ถ่ายโดย Yuri Beletsky
ที่มาภาพ NASA: Astronomy picture of the Day (APOD)
https://apod.nasa.gov/apod/ap190106.html

          ใจกลางดาราจักรหรือแกเล็กซีทางช้างเผือก (Galactic Center) อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูด้วย ทำให้เราเห็นทางช้างเผือกสวยสุดเมื่อมองไปทางกลุ่มดาวคนยิงธนู

          ชื่อเทพโครนัส (พ่อของไครอน) เป็นภาษากรีก ซึ่งก็คือ แซเทิร์น (Saturn) ในภาษาโรมัน และหมายถึงดาวเสาร์ด้วย

          สำหรับเดือนธันวาคม 2563 มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ 2 เรื่องคือ

          1. ฝนดาวตกคนคู่ (Geminids) 150 ดวงต่อชั่วโมง มากที่สุดวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563 เวลา 07:50 น. เนื่องจากเป็นเวลากลางวัน อาจดูตั้งแต่หัวค่ำวันที่ 13 ถึงเช้ามืดวันที่ 14 ธันวาคม

          เราจะเห็นดาวตกเหมือนพุ่งออกมาจากกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini)

          ฝนดาวตกคนคู่เกิดประจำทุกปี มีดาวตกจำนวนมากเกิดในฤดูหนาวซึ่งท้องฟ้ามักโปร่งหรือมีเมฆน้อย และมักมีดาวตกลูกใหญ่สว่างหรือลูกไฟ (fireball) ทำให้ฝนดาวตกคนคู่เป็นฝนดาวตกทาน่าดที่สุดในประเทศไทย

ภาพจำลองฝนดาวตกคนคู่ (Geminids) วันที่ 14 ธันวาคม 2563 เวลา 04:00 น. กรุงเทพฯ
ที่มาภาพ แอป SkyPortal 3.3.4.0, iPhone SE (2nd generation)

          เนื่องจากวันที่ 14 ธันวาคมปีนี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวนเลย จึงเป็นปีที่ดีที่สุดในรอบ 11 ปี (2555-2566) ที่จะดูฝนดาวตกคนคู่

          ฝนดาวตกเกิดทั่วท้องฟ้า สามารถมองทิศทางใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมองไปที่จุดกระจายหรือจุดศูนย์กลางของฝนดาวตกในกลุ่มดาวคนคู่ (ยิ่งมองใกล้จุดกระจายดาวตกยิ่งสั้น แต่สำหรับการถ่ายภาพนิยมให้เห็นจุดกระจายด้วย)

          นอนดูกลางท้องฟ้าดีที่สุด เพราะเป็นบริเวณท้องฟ้าที่มืดสุด กว้างสุด และสบายสุด ไม่เมื่อยคอ

          2. การร่วมทิศใหญ่ (great conjunction) วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563 เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ใกล้กัน จะเกิดทุก 20 ปี และครั้งนี้จะใกล้กันมากที่สุดในรอบ 397 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1623

          ถ้ามองด้วยตาเปล่าจะเห็นเหมือนดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์รวมเป็นดวงเดียวกัน ถ้าดูด้วยกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องดูดาวที่มีกำลังขยาย 20-100 เท่า จะเห็นดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์อยู่ในกรอบ (frame) เดียวกัน

          ตอนหัวค่ำเวลาประมาณ 18:45-19:20 น. มองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หาดาวสว่างที่สุด ใกล้ขอบฟ้า


สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ในนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 93 เดือนธันวาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/217539

About Author