คลอดก่อนกำหนดสามารถดูแลได้ หากอยู่ภายใต้การติดตามอย่างต่อเนื่องโดยสูติแพทย์และกุมารแพทย์

การคลอดก่อนกำหนดสามารถดูแลได้ หากได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่องโดยสูติแพทย์ และกุมารแพทย์ ทารกจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย เจริญเติบโต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงทารกที่เกิดครบกำหนด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส พงษ์มี อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงกรณีทารกเกิดก่อนกำหนด หมายถึงทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ซึ่งมักจะพบภาวะแทรกซ้อนของระบบต่างๆ ได้ ยิ่งเกิดก่อนกำหนดมาก ภาวะแทรกซ้อนจะยิ่งมีมากขึ้น เช่น หายใจหอบเพราะปอดยังไม่สมบูรณ์ ติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ รวมถึงภาวะ ”ลำไส้เน่าอักเสบ“ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในทารกเกิดก่อนกำหนด

โดยเฉพาะทารกที่น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 1,500 กรัม ในต่างประเทศพบอุบัติการณ์ร้อยละ 7-10 แต่ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด ทารกมักจะมีอาการท้องอืด รับนมได้ไม่ดี บางรายมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ อุณหภูมิกายไม่คงที่ หายใจแผ่ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ โดยภาวะลำไส้เน่าอักเสบมักพบในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังเกิด

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะลำไส้เน่าอักเสบ แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ลำไส้ของทารกเกิดก่อนกำหนดและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ร่วมกับมีความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ การรักษาเมื่อเกิดภาวะนี้ คือ การงดนม ให้สารน้ำทางหลอดเลือดร่วมกับให้ยาปฏิชีวนะ หากอาการรุนแรงมากขึ้น อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งเมื่อหายขาดแล้ว มักไม่ส่งผลต่อเนื่องในอนาคต

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า นมแม่ช่วยลดอุบัติการณ์ของภาวะลำไส้เน่าอักเสบได้ กรณีที่แม่ยังไม่มีน้ำนมช่วงหลังคลอดแพทย์ผู้ดูแลอาจพิจารณาให้ ”นมแม่บริจาค“ จาก “ธนาคารนมแม่” แก่ทารก ซึ่งนมแม่บริจาคช่วยลดอุบัติการณ์ของภาวะนี้ได้เช่นกัน ในปัจจุบันโรงเรียนแพทย์หลายแห่งมีธนาคารนมแม่ ซึ่งรับบริจาคนมแม่แล้วนำนมแม่มาผ่านกระบวนการพาสเจอไรส์ เพื่อให้น้ำนมนั้นมีความปลอดภัยก่อนนำมาใช้ และช่วยลดโอกาสเกิดภาวะลำไส้เน่าอักเสบในทารกเกิดก่อนกำหนด

มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมส่งเสริมทารกให้ได้รับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากนมแม่ และมอบองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อประชาชนตามปณิธาณ “ปัญญาของแผ่นดิน”

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author