ไบโอชาร์ใบสับปะรดผสมสารกึ่งตัวนำ กระตุ้นด้วยแสงแดดช่วยลดมลพิษ

ด้วย “ปัญญา” และไม่ทิ้ง “โอกาส“ ไขว่คว้า จะนำพาสู่ ”หนทางรอด“ แม้ในวิกฤติ “โลกเดือด” จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) จะสามารถแปรเปลี่ยนสู่โอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อใช้เยียวยามลพิษโลก

ศาสตราจารย์ ดร.ศิวพร มีจู สมิธ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงคุณค่าของ “ไบโอชาร์” (Biochar) ที่ได้จากการเผาของเศษใบสับปะรดที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส จนเกิดรูพรุนและมีพื้นที่ผิวสูง ใช้ประโยชน์เป็นสารบำรุงดิน ไปจนถึงเป็นวัสดุบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม หรือน้ำเสียจากภาคการเกษตร

จากงานวิจัยล่าสุด ผู้วิจัยได้นำใบสับปะรด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีเป็นจำนวนมากจากบรรดาแหล่งปลูกสับปะรดเพื่อเป็นสินค้าส่งออกในประเทศไทย มาผลิตเป็น “ไบโอชาร์” ทดลองใช้บำบัดน้ำที่ปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชในห้องปฏิบัติการ พบว่าสามารถใช้กรอง และดูดซับสารปนเปื้อนดังกล่าวได้อย่างเห็นผล พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ด้วยต้นทุนต่ำต่อไปในวงกว้าง

และการผสมเป็น “ไบโอชาร์” กับสารกึ่งตัวนำ ทำให้เกิดเป็น “วัสดุใหม่” ที่สามารถใช้บำบัดน้ำเสียจากการกระตุ้นด้วยแสงแดด

นอกจากใบสับปะรด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรแล้ว ยังสามารถใช้ได้กับเศษวัตถุชีวมวลอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติที่ตอบโจทย์ SDG9 เพื่อการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และอุตสาหกรรม (Industry Innovation and Infrastructure) และ SDG12 เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า (Responsible Consumption and Reduction) ได้ต่อไปอีกด้วย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author