โลกยุคหลัง ‘โควิด-19’

โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์


 
มองไปข้างหน้า เมื่อมนุษย์ต้องอยู่กับ ‘โรค’ โควิด-19 อีกนาน …‘โลก’ จะเปลี่ยนไปอย่างไร และชาวโลกได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ถึงวันนี้ นักคิด ปัญญาชน และคนในรัฐบาลที่ต้องรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก มองข้ามช็อต เรื่องการรับมือเฉพาะหน้า ไปยังสิ่งที่จะเกิดตามมาหลังจากนี้กันแล้ว
 
อะไรจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้?
 
ความเห็นจากนักระบาดวิทยาส่วนใหญ่ก็คือ หากเรายื้อการติดเชื้อให้เป็น 10-12 เดือน แทนจะติดต่อกันอย่างรวดเร็วในเดือนเดียว จะมีความแตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาลเรื่องจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก จำนวนคนที่จะต้องไปโรงพยาบาล และคนที่ต้องเสียงชีวิต
 
ในช่วงเวลาที่ยืดยาวออกนั้น เราก็อาจจะได้วัคซีนหรือยาที่จำเพาะกับโควิด-19 ออกมา เพราะการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยกับผู้ป่วยจริงๆ จะต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอนกินเวลาอย่างน้อยก็เป็นปี
 
ระหว่างนั้นใครอยู่ในพื้นที่เขตร้อนก็อาจจะได้เปรียบหน่อย เพราะโคโรนาไวรัสเป็นไวรัสที่ชอบอากาศเย็น หากเจอกับอากาศร้อนและชื้น (อย่างในประเทศไทย) ก็จะแพร่กระจายได้ไม่ดีเท่ากับอากาศแบบเย็นและแห้งในกลุ่มประเทศเขตอบอุ่นหรือแถบหนาวเย็น
แน่นอนว่าเป็นเรื่องคาดหมายได้ว่า กว่าโรคนี้จะสงบลง คงก่อให้เกิดผลกระทบทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาล โดยคาดหมายกันว่าโครงสร้างเศรษฐกิจหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างกู่ไม่กลับ ผู้คนที่ต้องโดนกักตัวอยู่แต่ในบ้าน อาจจะเริ่มชินกับการสั่งของออนไลน์ ทั้งของกิน ของใช้ สายการบินจะปรับตัวครั้งใหญ่ โรงแรมอาจเริ่มคิดถึงการไม่พึ่งพาแต่ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักอีกต่อไป
 
จากความกลัวเรื่องโรคระบาดที่อาจติดไปกับอะไรก็ได้ที่ใช้มือหยิบจับ การจับจ่ายทุกอย่างผ่านแอพพลิชันจ่ายเงินหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) อาจจะสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า และแพร่หลายจนอาจกลายเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติ ไปจนถึงกลายเป็น “ความปกติแบบใหม่ (new normal)” ของสังคมต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบอินเทอร์เน็ตที่พร้อม และคนเชื่อมต่อกันอยู่มากแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าการระบาดของโรคนี้
 
 
ขณะที่คนส่วนใหญ่ในเมืองอาจจะต้องพึ่งพา “ระบบ” และเข้าสู่กริด (grid) ทั้งกริดไฟฟ้าและกริดอินเทอร์เน็ต ต้องพึ่งพาไฟฟ้าไปทุกกิจกรรมของชีวิต ตั้งแต่การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร ไปจนถึงการดูดฝุ่นและซักเสื้อผ้า ผู้คนอีกส่วนหนึ่งอาจจะเลือกออกจากกริดพวกนี้ กลับไปใช้ชีวิตที่พึ่งพาการทำอยู่ทำกิน โดยทรัพยากรรอบตัวที่ยังพอ “ควบคุมได้”
 
ถึงตอนนั้นโครงสร้างโลกขณะนี้ที่กลายเป็นสังคมเมือง เพราะคนส่วนใหญ่ในโลก (มากกว่า 4,000 ล้านคน) เข้ามาอยู่อาศัยในเมือง ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน
 
สำหรับเศรษฐกิจมหภาคและระดับโลกก็อาจมีดิสรัปชัน (disruption) ครั้งใหญ่เช่นกัน รูปแบบซัพพลายเชน (supply chain) ที่อาศัยวัตถุดิบจากประเทศหนึ่ง รวบรวมส่งไปผลิตชิ้นเป็นส่วนต่างๆ ในอีกประเทศหนึ่ง ก่อนนำไปประกอบในอีกประเทศหนึ่ง ตามแต่ความถูกของค่าแรงขั้นต่ำในประเทศนั้น หรือความพร้อมทางด้านเครื่องจักรของประเทศนั้น ก่อให้เกิดการส่งข้าวของผ่านไปมาทั้งโลก ก็อาจต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน
 
ประเทศขนาดใหญ่ที่อาจหาวัตถุดิบส่วนใหญ่หรือแม้แต่ทั้งหมดได้เองในประเทศ อาจจะเริ่มคิดวางแผนซัปพลายเชนใหม่ เพราะเห็นแล้วผลกระทบจากการปิดเมืองที่อีกซีกโลก เช่น ปิดเมืองอู่ฮั่น ที่เป็นเมืองหลักเมืองหนึ่งในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสารกึ่งตัวนำ ทำให้เกิดการชะงักงันด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของโลกได้
 
ถึงตอนนั้นโครงสร้างโลกขณะนี้ที่กลายเป็นสังคมเมือง เพราะคนส่วนใหญ่ในโลก (มากกว่า 4,000 ล้านคน) เข้ามาอยู่อาศัยในเมือง ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน

About Author