Headlines

ม.มหิดล ไขปริศนาแห่งธรรมชาติ ด้วย “เทคโนโลยีโอมิกส์”

          โครงสร้างทางชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ รวมถึงมนุษย์ เปรียบเหมือนโลกลี้ลับที่รอคอยการค้นพบ ด้วย “เทคโนโลยีโอมิกส์” (Omics Technology) ซึ่งเป็นการศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบองค์รวม ตั้งแต่ระดับสารพันธุกรรม การแสดงออกของรหัสพันธุกรรม ไปจนถึงกลไกการสร้างสารชีวโมเลกุลในสิ่งมีชีวิต ในปัจจุบันเป็นหนึ่งในทิศทางสำคัญของการวิจัยระดับชาติและนานาชาติที่จะนำไปสู่การค้นพบคำตอบแห่งปริศนาทางธรรมชาติได้ในอนาคต

          มหาวิทยาลัยมหิดล วางนโยบายและทิศทางหลักในการดำเนินงานวิจัยทางชีววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการแพทย์แม่นยำ โดยมุ่งเป้าที่จะใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีโอมิกส์ และการวิเคราะห์แบบบูรณาการ เป็นแรงขับเคลื่อนในการศึกษาและคิดค้นวิธีการรักษาโรค และยาใหม่ที่ให้ผลการรักษาอย่างตรงจุด


อาจารย์ ดร.นที เจียรวิริยะไพศาล อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

          อาจารย์ ดร.นที เจียรวิริยะไพศาล อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีโอมิกส์ในการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นแนวทางการรักษาโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเกิดจากความผิดปกติในการสร้าง “ฮีโมโกลบิน” โปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่นำออกซิเจนไปตามเซลล์เนื่อเยื่อ (tissue) ต่างๆ ภายในร่างกาย

          ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่มีการสร้างฮีโมโกลบินลดลง หรือไม่สามารถสร้างได้เลย จึงมี “ภาวะซีด” และรู้สึกเหนื่อยง่าย ในประชากรไทยสามารถพบผู้มียีนแฝง หรือเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียสูงถึงร้อยละ 30 – 40 ของประชากร ดังนั้นโรคธาลัสซีเมียจึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ

          หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้สนับสนุนให้ทุนวิจัยแก่ อาจารย์ ดร.นที เจียรวิริยะไพศาล เพื่อใช้เทคโนโลยีโอมิกส์ในการศึกษาการควบคุมการแสดงออกของฮีโมโกลบิน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการพัฒนายา หรือวิธีการรักษาแบบใหม่สำหรับโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งอาจช่วยลดความรุนแรงของโรค และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

          นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีโอมิกส์ด้วยการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ “MAP-C” (Mahidol Apprenticeship Program Curriculum) ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาในรายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะต่อยอดสำหรับผู้มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือผู้ที่ต้องการเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตเพื่อใช้เทียบโอนศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาในระบบปกติของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปในอนาคต

          ผู้เรียน “MAP-C รายวิชา MBSB 501 Systems Biosciences” จะได้ศึกษาเทคโนโลยีโอมิกส์ตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ โดยในชั้นเรียนจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายทางการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านจีโนมิกส์ (Genomics) ที่เป็นการศึกษาโครงสร้างทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นหัวข้อวิจัยด้านสุขภาพที่ประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญ (โครงการ Genomics Thailand หรือจีโนมิกส์ประเทศไทย)

          รวมทั้งเทคโนโลยีทรานสคริปโตมิกส์ (Transcriptomics) และโปรตีโอมิกส์ (Proteomics) ซึ่งเป็นการศึกษาการแสดงออกของยีนในระดับอาร์เอ็นเอและโปรตีนตามลำดับ ไปจนถึงการศึกษาระดับเมตาโบโลมิกส์ (Metabolomics) หรือการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสารเมตาบอไลท์ (Metabolite) ภายในร่างกาย รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโอมิกส์ชนิดต่างๆ ในการศึกษาวิจัยแบบบูรณาการ ฯลฯ และที่สำคัญผู้เรียนจะได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการวิจัยได้โดยตรงจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญตัวจริง

          ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.mb.mahidol.ac.th

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

Cr: ภาพถ่าย และโปสเตอร์โดย
สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

About Author