ปลาพญานาคมาต้อนรับปีมังกร

เรื่องโดย ชวลิต วิทยานนท์


ปั้นน้ำเป็นปลาฉบับสวัสดีปีมังกรทั้งทีเรามาเปิดปีกันด้วยเรื่องปลาพญานาค หรือ Oarfish ปลาทะเลลึกในตำนานที่เชื่อกันว่า การพบเจอปลาพญานาคนั้นเป็นลางบอกเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ !

Oarfish หรือปลาพญานาคเป็นปลากระดูกแข็งในอันดับ Lampriformes อันดับเดียวกับปลาโอปอ (Opahfish) อยู่ในวงศ์ Regalecidae พบแล้ว 3 ชนิดทั่วโลก แต่ที่มีขนาดใหญ่มี 2 ชนิด คือ


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กวิทยาศาสตร์การประมงและทรัพยากรทางน้ำ TSU

Giant oarfish (Regalecus glesne Ascanius, 1772) มีครีบหลังยาวมาก มีก้านครีบ 390-450 อัน กระโดงตอนหน้าที่ยาวเป็นหงอนแรกมี 6-8 ก้าน ตอนสองมี 5-11 ก้าน มักพบในเขตอบอุ่น แถบแอตแลนติกและแคลิฟอร์เนีย เคยพบยาวสุดประมาณ 17 เมตร หนักได้ถึง 270 กิโลกรัม

Russell’s oarfish (Regalecus russelii Cuvier, 1816) มีก้านครีบหลังน้อยกว่า 320-370 อัน กระโดงตอนหน้าที่มี 3-6 ก้าน ตอนสองมีก้านเดียว พบในเขตร้อน แถบอินโด-แปซิฟิกตะวันตก เช่น ญี่ปุ่น จีน ถึงคอสตาริกา และพบในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงตัวที่พบในประเทศไทยเมื่อช่วงขึ้นปีใหม่นี้ด้วย เจ้าตัวนี้มีความยาว 2.4 เมตร คุณธนิสร วสิโนภาส เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น Kensaku ไปติดต่อหามามอบให้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เก็บเป็นตัวอย่างอ้างอิงของไทย


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กวิทยาศาสตร์การประมงและทรัพยากรทางน้ำ TSU

ปลาพญานาคมีลำตัวบาง ยาว คล้ายปลาดาบเงิน ผิวบางมีสีเงินลายประสีคล้ำจาง ๆ ครีบสีแดง มันได้รับฉายาว่าเป็นปลาที่ตัวยาวมากที่สุด กินกุ้ง ปลาหมึกที่เป็นแพลงก์ตอนขนาดใหญ่ อาศัยอยู่กลางน้ำลึกตั้งแต่ 200 เมตรลงไป เวลาว่ายน้ำมักเอาหัวตั้งขึ้น

มีตำนานของญี่ปุ่นกล่าวถึงเจ้าปลานี้มานานแล้ว ตามตำนานของญี่ปุ่นนั้นเชื่อว่าปลาพญานาคเป็นปลาส่งสารจากวังของพระเจ้าแห่งท้องทะเล (Ryuuguu no Tsukai/รีวกู โนะ สึไค) เพราะมันจะโผล่มายังบริเวณผิวน้ำก่อนเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิ

โดยตัวอย่างในปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่ฟูกูชิมะ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคน ได้เกิดเหตุปลาพญานาคถูกซัดมาเกยตื้นราว 20 ตัว เชื่อกันว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ใต้ท้องทะเลก่อนหน้าการเกิดแผ่นดินไหว

ยังไม่มีการอธิบายที่แน่ชัดสำหรับการปรากฏตัวของเจ้าปลาพญานาค แต่ในทางวิทยาศาสตร์อาจอธิบายได้ว่า ด้วยความที่เจ้าปลาพญานาคเป็นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณก้นทะเลลึก จึงไวต่อการรับรู้เพราะมันอยู่ใกล้พื้นทะเลมากกว่า หรือเป็นไปได้ที่มันจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิใต้ท้องทะเล หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่แปลกไปใต้ท้องทะเลลึก

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่าการพบเห็นปลาพญานาคอาจไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเกิดลางร้ายแผ่นดินไหวหรือสึนามิทุกครั้งไป โดยการศึกษาความเกี่ยวข้องในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันถึงความเชื่อมโยงได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลยืนยัน แต่การตระหนักถึงภัยธรรมชาติและสถานการณ์ในธรรมชาติที่ผิดแปลกไปจากปกติก็เป็นหนทางที่อาจช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยได้ เช่น ถ้าหากนักท่องเที่ยวแถบทะเลอันดามันพบว่าที่ชายหาดเกิดน้ำลงเร็วผิดรอบที่ควรเป็น หรือลงมากกว่าปกติ ก็ควรระวังและรีบเผ่นขึ้นที่สูงให้ทัน เพราะอาจเกิดสึนามิขึ้น

พูดถึงการเกิดสึนามิ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เขียนถึงการเกิดสึนามิในประเทศไทยไว้ จึงขอเอามาสรุปให้อ่านเป็นความรู้กันครับ

  • ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ในระดับปฏิบัติการ แต่เราใช้ความรู้ทางธรณีวิทยาบอกได้ว่าตำแหน่งที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นอยู่ที่ใดบ้าง
  • พื้นที่ที่มีความเสี่ยงคือ พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล มีความเสี่ยงต่อคลื่นสึนามิหากมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในมหาสมุทรอินเดีย (ขนาด 5 บนสเกลริกเตอร์ขึ้นไป) แต่จังหวัดพังงาและภูเก็ตด้านตะวันตกมีโอกาสได้รับคลื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าจังหวัดอื่น
  • ประเทศไทยโชคดีกว่าหลายพื้นที่เพราะแนวการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียที่ก่อให้เกิดสึนามิได้นั้น อยู่ห่างราว 1,000 กิโลเมตร คลื่นสึนามิจึงใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอต่อการแจ้งเตือนและการอพยพ
  • กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยที่รับข้อมูลความสั่นสะเทือนซึ่งมีสถานีวัดกระจายอยู่ทั่วโลก โดยมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นหน่วยปฏิบัติการแจ้งเตือนระดับพื้นที่ ทั้งสองหน่วยงานเข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และมีระบบแจ้งเตือนทั้งแบบอัตโนมัติและเจ้าหน้าที่เวรตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัย วิทยุ โทรทัศน์ sms โซเชียลมีเดีย และช่องทางสื่อสารอื่น ๆ
  • หากเกิดการแจ้งเตือนสึนามิ หรือเห็นน้ำทะเลลงเร็วผิดปกติ ผิดรอบที่น่าจะลง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องอพยพทันที โดยเฉพาะคนชรา คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว จัดเตรียมอุปกรณ์ยังชีพเฉพาะที่จำเป็นไว้ให้พร้อมหยิบฉวยง่าย ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง (คืออยู่บนที่สูงเพียงพอ) ควรอยู่ในที่ตั้ง ไม่ออกมาให้เกะกะการอพยพของผู้ที่จำเป็น

About Author