กลุ่มดาวแมงป่อง ที่มาของเดือนพฤศจิกายน

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


 

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในดินแดนกรีกโบราณ มีนายพรานชื่อ โอไรออน (Orion)

          วันหนึ่งโอไรออนพูดขึ้นว่า “เราจะฆ่าสัตว์ให้หมดทั้งโลก”

          เมื่อไกอา (Gaia) เทพีแห่งโลก ผู้เป็นมารดาแห่งสรรพชีวิต ได้ยินคำพูดของโอไรออนก็โกรธมาก จึงส่งแมงป่องมาต่อยโอไรออนจนเสียชีวิต

          อาร์เทมิส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์ ผู้เป็นเพื่อนล่าสัตว์กับโอไรออน ได้ขอร้องซูส (Zeus) ราชาแห่งทวยเทพ ให้นำร่างของโอไรออนไปประดับเป็นดาวบนฟากฟ้า

          ซูสได้นำทั้งร่างของโอไรออนและแมงป่องไปเป็นกลุ่มดาว 2 กลุ่ม คือ กลุ่มดาวนายพราน (Orion) และกลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius)

          โดยให้กลุ่มดาวทั้งสองอยู่คนละฝั่งตรงข้ามกัน ถ้าเห็นกลุ่มดาวนายพรานจะไม่เห็นกลุ่มดาวแมงป่อง ถ้าเห็นกลุ่มดาวแมงป่องก็จะไม่เห็นกลุ่มดาวนายพราน

          กลุ่มดาวแมงป่องเป็นที่มาของเดือนพฤศจิกายน คำว่า “พฤศจิกายน” มาจากคำว่า “พฤศจิก” แปลว่า แมงป่อง และคำว่า “อายน” แปลว่า การมาถึง ดังนั้น “พฤศจิกายน” จึงแปลว่าการมาถึงแมงป่อง หมายถึงดวงอาทิตย์เดินทางมาถึงกลุ่มดาวแมงป่อง หรือราศีพฤศจิก (หรือใช้ว่า ราศีพิจิก)

          กลุ่มดาวแมงป่องเป็นกลุ่มดาวเก่าแก่โบราณ ตั้งแต่สมัยบาบิลอน (Babylon) ประมาณ 3,000 ปีก่อน ตอนนั้นเมื่อเข้าเดือนพฤศจิกายนดวงอาทิตย์จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง (จะมองไม่เห็นกลุ่มดาวแมงป่อง เพราะดวงอาทิตย์อยู่ตรงนั้น)

          เมื่อเวลาผ่านไปดวงอาทิตย์ก็เขยิบห่างออกไปหน่อย ปัจจุบันวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) ที่อยู่ติดกัน (แต่จะสามารถมองเห็นกลุ่มดาวแมงป่องตอนหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก)  ต้องรอจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ดวงอาทิตย์จึงจะเข้าไปในเขตกลุ่มดาวแมงป่อง

          กลุ่มดาวแมงป่องประกอบด้วยดาวสว่างหลายดวง ทำให้สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าแม้ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ดาวที่สว่างที่สุดคือดาวแอนแทรีส (Antares) มาจากคำว่า ant แปลว่า คู่แข่ง กับคำว่า Ares (แอรีส) หมายถึง ดาวอังคาร ดังนั้นแอนแทรีสจึงแปลว่า คู่แข่งของดาวอังคาร เนื่องจากมีสีแดงเหมือนดาวอังคาร และมีความสว่างใกล้เคียงกัน (ดาวแอนแทรีสมีความสว่างเฉลี่ยประมาณ +1) คนไทยเรียกดาวแอนแทรีสว่า ดาวปาริชาต (ต้นไม้บนสวรรค์ในสวนของพระอินทร์)

          กลุ่มดาวแมงป่องอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางทางช้างเผือก (Milky Way) ถ้าออกไปดูในที่มืดสนิท ไกลจากเมือง ไม่มีแสงไฟหรือมลพิษแสงรบกวน จะเห็นกลุ่มดาวแมงป่องและทางช้างเผือกสวยงาม

ภาพกลุ่มดาวแมงป่อง วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ตอนดวงอาทิตย์ตก (ที่มาภาพ แอป SkyPortal)

ภาพแผนที่กลุ่มดาวแมงป่อง
ที่มาภาพ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union ย่อว่า IAU)
https://www.iau.org/public/themes/constellations/

 

ภาพถ่ายกลุ่มดาวแมงป่อง ดาวที่สว่างที่สุดคือดาวแอนแทรีส ซ้ายมือคือทางช้างเผือก ถ่ายภาพโดย Akira Fuji
ที่มาภาพ https://www.spacetelescope.org/images/heic0211e/

 

ภาพแมงป่องช้าง (Heterometrus laoticus) เป็นแมงป่องที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทย (ภาพนี้ถ่ายที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) แลหลายประเทศในเอเชีย มีขนาดใหญ่ อาจยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร สีดำหรือน้ำตาลเข้ม ก้ามใหญ่ มีนิสัยดุ กินแมลงเป็นอาหาร รวมทั้งกินพวกเดียวกันด้วย จะใช้ก้ามจับเหยื่อแล้วใช้เหล็กในต่อยอย่างรวดเร็วซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนเหยื่อตาย พิษแมงป่องช้างไม่สามารถทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้ ถ้าโดนแมงป่องต่อย ให้ทำความสะอาดแผล ใช้น้ำแข็งประคบ จะหายเองภายใน 1-2 วัน ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ไข้สูง ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ที่มาภาพ Wikipedia https://en.wikipedia.org/wiki/Heterometrus_laoticus

 

ภาพท่าโยคะที่เรียกว่า ท่าแมงป่อง (scorpion pose) หรือ พิจิกอาสนะ (Vrischikasana)  
ที่มาภาพ https://www.yogaclassplan.com/yoga-pose/scorpion-pose/

 


สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ที่
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/216676

About Author