ม.มหิดล ปลูกฝังเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนป่า ผ่านการเรียนรู้เสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

          อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาชุดการเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้สำหรับครู และผู้นำกิจกรรมได้นำไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเสริมสร้างความตระหนักรู้ เกี่ยวกับงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านงานวิจัยเกี่ยวกับนกเงือกด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เป็นทักษะที่จำเป็นในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองโลก

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงดี โตอิ้ม อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ได้ผลิตผลงานที่ได้รับลิขสิทธิ์จำนวน 2 ผลงาน คือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบโต้ตอบได้ (Interactive E-Book) เรื่อง นกเงือก ผู้ให้แห่งผืนป่า : รู้จักนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์กับนกเงือกไทย และชุดการเรียนรู้นิเวศวิทยา และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านนกเงือกด้วยสะเต็มศึกษา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงดี โตอิ้ม
อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          ชุดการเรียนรู้ที่ได้พัฒนาขึ้น เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการออกแบบทางวิศวกรรมและคณิตศาสตร์ ในการศึกษาและอนุรักษ์นกเงือกและทรัพยากรธรรมชาติในสถานการณ์จริง โดยใช้นกเงือกเป็นตัวเดินเรื่อง ที่มีเนื้อหาหลักทางวิชาการอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ (Science: S) เกี่ยวกับนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

          นอกจากนี้ ความสำเร็จของงานวิจัยและการอนุรักษ์นกเงือกในประเทศไทย ต้องใช้องค์ความรู้สาขาอื่นของสะเต็มศึกษา ได้แก่ กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี (Technology: T) กลุ่มสาระทางวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering: E) และกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ (Mathematics: M)

          โดยชุดการเรียนรู้นี้ได้พัฒนาขึ้นจากข้อมูลงานวิจัยของโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกเป็นหลัก ผนวกกับข้อมูลจากงานวิจัยนกเงือกในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารทางวิชาการและบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระ/มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด และสาระการเรียนรู้แกนกลาง ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          ชุดการเรียนรู้นี้ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ที่ถูกประกอบและพัฒนาขึ้นตามลำดับอย่างสอดคล้องตามความยากง่ายขององค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยา อันเป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่องานวิจัยและอนุรักษ์นกเงือก โดยแต่ละกิจกรรมจะมีองค์ประกอบของสะเต็มศึกษา และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 แตกต่างกัน ประกอบด้วยกิจกรรมที่ 1 รู้จักนกเงือก กิจกรรมที่ 2 ปฏิสัมพันธ์และโซ่อาหารของนกเงือกผู้กล้าหาญ กิจกรรมที่ 3 โฮมเรนจ์ออฟฮอร์นบิล และกิจกรรม 4 โพรงรัง…แสนรัก

          ในการพัฒนาชุดการเรียนรู้ ได้นำรูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5Es) มาเป็นกรอบในการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย ขั้นตอน 5 ขั้นตอน คือ

          (1) ขั้นการสร้างความสนใจ (Engagement) เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้เกิดความอยากรู้ (2) ขั้นการสำรวจและค้นคว้า (Exploration) เป็นการดำเนินการค้นหาและรวบรวมข้อมูลผ่านกิจกรรมที่ออกแบบไว้ (3) ขั้นการอธิบาย (Explanation) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำข้อมูลจากการค้นหา และรวบรวมมาวิเคราะห์ แปลผล สรุปและอภิปรายผลการศึกษา พร้อมนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพวาด ตาราง แผนผัง โดยมีการอ้างอิงความรู้ประกอบการให้เหตุผล และสรุปข้อมูลได้อย่างน่าเชื่อถือ

          ขั้นตอนต่อไปคือ (4) ขั้นการขยายความรู้ (Elaboration) เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้ขยายกรอบแนวคิดให้กว้างขึ้น หรือเชื่อมโยงความรู้เดิมและความรู้ใหม่ เพื่อให้เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น รวมทั้งการประยุกต์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในเรื่องอื่นๆ และ (5) ขั้นการประเมินผล (Evaluation) เป็นขั้นตอนที่ให้นักเรียนได้ตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ที่ได้เรียนรู้มา และสามารถสรุปประเด็นสำคัญของสิ่งที่ได้เรียนมาได้ด้วยตัวเอง

          ชุดการเรียนรู้นี้ เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่มีความสนุก ท้าทาย เสริมทักษะการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม การสร้างภาวะผู้นำ-ผู้ตาม ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 จึงกำหนดให้ผู้เรียนทำงานเป็นทีม (Team working) โดยมีการแบ่งหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่ม เป็น (1) คุณอำนวย (Facilitator) มีหน้าที่เอื้ออำนวยให้กับสมาชิกในกลุ่ม (2) คุณวางแผน (Planner) ที่หน้าที่เป็นผู้วางแผนควบคุม กระตุ้นและติดตามให้สมาชิกในกลุ่มร่วมกันทำงาน

          จากนั้นเป็นหน้าที่ (3) คุณรวบรวม (Data collector) มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติตามแนวทาง หรือแผนงานที่วางแผนไว้ และ (4) คุณนำเสนอ (Presenter) มีหน้าที่นำเสนอผลการทำงานที่สมาชิกในกลุ่มร่วมมือปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จ เพื่อให้ผู้ฟังการนำเสนอ เข้าใจถึงหลักการ แนวคิด วิธีปฏิบัติ

          ในการจัดกิจกรรม ผู้เรียนจะมีโอกาสในการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นด้วยตัวเอง จากกิจกรรม “โพรงรัง…แสนรัก” ที่ออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้วางแผน ออกแบบ เลือกใช้วัสดุ เพื่อสร้างโพรงรังจำลองได้อย่างเหมาะสมกับชนิดพันธุ์ของนกเงือก ทั้งนี้เป็นการเสริมสร้างทักษะที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์นกเงือกและผืนป่าได้ต่อไปในอนาคต

          ชุดการเรียนรู้นี้ สามารถประยุกต์ใช้เพื่อการเรียนรู้แนวทางในการประกอบอาชีพด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต ผนวกกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านการทำกิจกรรม หรือโครงงาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาการอนุรักษ์นกเงือกที่เกิดขึ้นจริง อันเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมต่อไป

          หากครูและผู้นำกิจกรรมมีข้อจำกัดเรื่องเวลา สถานที่ และบริบทของโรงเรียนสามารถปรับชุดกิจกรรมนี้ไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม เช่น นำไปใช้ในการเรียนรู้ในวิชาเพิ่มเติม วิชาเลือกเสรี กิจกรรมเสริมในชมรม กิจกรรมการเข้าค่าย เป็นต้น โดยใช้กิจกรรมที่ 1 รู้จักนกเงือก เป็นกิจกรรมพื้นฐานสำหรับกิจกรรมอื่นๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ครบถ้วนตามองค์ประกอบของสะเต็มศึกษา ควรจัดกิจกรรมเรียงลำดับออกแบบไว้ให้ครบทั้ง 4 กิจกรรม

          “จริงๆ ทีมวิจัยมุ่งหวังว่า ชุดการเรียนรู้นี้จะเป็นตัวอย่าง หรือต้นแบบในการนำไปประยุกต์ใช้ พัฒนา ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในแวดวงการศึกษาอย่างกว้างขวาง สอดคล้องกับบริบทของแต่ละแห่ง ถ้าเราสามารถสร้างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ดังกล่าวให้เด็กและเยาวชน จะเปรียบเสมือนการติดอาวุธ และสร้างทักษะ ที่จะทำให้พวกเขาสามารถอยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างปลอดภัยและดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณค่า และมีความหมายในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงดี โตอิ้ม กล่าวทิ้งท้าย

          ครู ผู้นำกิจกรรม และผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ https://en.mahidol.ac.th/Hornbill/lesson.html

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author