เอ็มเทค สวทช. ลงนามความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมฯ

19 กันยายน 2565 ณ ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถ.นางลิ้นจี่ กรุงเทพฯ

         ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค ลงนามความร่วมมือการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมเพื่อรองรับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ร่วมกับ คุณธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมี คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีในความร่วมมือในครั้งนี้

         คุณธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ปัจจุบัน ปัญหาสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น การปรับตัวต่อผลกระทบและการลดก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นเรื่องจำเป็นของประเทศที่จะต้องมีการพัฒนาโครงการที่จะนำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันของภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินโครงการที่มีส่วนช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”

       กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ดร. จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ในการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมสำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการรองรับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริงอีก 3 ปีข้างหน้าหรือเร็วกว่านั้น

       นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นโครงการนำร่องในการจัดทำฐานข้อมูล Life Cycle Assessment (LCA) หรือ การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมสำหรับประเทศเราอย่างเป็นระบบ ดังนั้นบริษัทที่ร่วมโครงการสามารถเข้าถึงรายการสารขาเข้าและสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพื่อนำมาต่อยอดวิเคราะห์หาจุดที่ต้องปรับปรุงพัฒนาในแต่ละกระบวนการ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตในอนาคตต่อไป

         ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล กล่าวว่า การใช้อะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมต่างๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มการก่อสร้าง กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า จากการที่ประเทศไทยเป็นทั้งฐานการผลิตรถยนต์และฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีความสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมไทยในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานหลักจากภาครัฐที่คอยให้การสนับสนุนโดยตรงเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศ มีเพียงกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่เป็นจุดศูนย์รวมของผู้ประกอบการอะลูมิเนียมในประเทศ ดังนั้น สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีพันธกิจการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาคอุตสาหกรรม ชุมชน หรือสังคม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศชาตินั้น เห็นควรดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมแบบ Gate to Gate และ Cradle to Gate ที่สามารถสะท้อนและเป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตของกลุ่มอะลูมิเนียมของไทยโดยมีเป้าหมายการจัดทำฐานข้อมูลในผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมหน้าตัดและกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมแผ่นฟอยล์ อย่างน้อย 6 ฐานข้อมูล โดยเป็นกลุ่มโรงงาน rolling 5 โรงงาน และ extruding 10 โรงงาน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. ผ่านโครงการของ ศูนย์ข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีต่อการร่วมมือในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันนี้ ความสำคัญของอะลูมิเนียมของประเทศไทย นอกจากการใช้อะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องยังมีการใช้งานเพิ่มขึ้นในกลุ่มยานยนต์และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า จากการที่ประเทศไทยเป็นทั้งฐานการผลิตรถยนต์และฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกจึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีความสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้สังกัดสภาอุตสาหกรรมฯ อยู่ 5 กลุ่ม อาทิ กลุ่มไฟฟ้า ซีเมนต์ ปุ๋ย(เคมี) เหล็ก และอะลูมิเนียม เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของการจัดทำฐานข้อมูลฯ

         กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม นับว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ริเริ่มดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมเพื่อรองรับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นกลุ่มแรก นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะได้ริเริ่มดำเนินการจัดทำโครงการดังกล่าวนี้ต่อไปในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วย

About Author