ม.มหิดล ตีแผ่ปัญหาแรงงานย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตคนข้างหลัง แนะใช้พลังเสริมจากครอบครัวขยายช่วยเยียวยา

          ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้สังคมไทยมีพัฒนาการที่ซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งดำเนินไปถึงครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวข้ามรุ่น

          รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 เด็ก 0-17 ปี ร้อยละ 23 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่เนื่องจากพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ซึ่งพบว่าทำให้ลูกต้องเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งนับเป็นปัญหาระดับโลก โดยสถาบันฯ ได้ให้ความสำคัญและสนใจประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการหาแนวทางในการแก้ไขโจทย์ทางสังคมระดับโลกดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา

          เมื่อศึกษาลึกลงไปพบอีกว่า กรณีที่แม่ไม่อยู่กับครอบครัว ส่งผลกระทบมากกว่าพ่อไม่อยู่ นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยใช้ระเบียบวิธี “วิจัยแบบผสมผสาน” ที่เน้นทั้งปริมาณและคุณภาพ


ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ดุษฎีบัณฑิตของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาสังคมวิทยา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

          ซึ่งจากการศึกษาวิจัยโดย ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ดุษฎีบัณฑิตของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ข้อมูลที่มีกลุ่มตัวอย่าง 1,000 ครัวเรือน พร้อมลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูล “แม่แรงงานย้ายถิ่น” ในต่างแดนด้วยตัวเอง ทำให้ได้มุมมองซึ่งสามารถผลักดันสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายที่เป็นธรรมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานย้ายถิ่น และครอบครัวแรงงานย้ายถิ่นได้ต่อไป

          จุดที่น่าสนใจ คือ แม้จะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยคอยเติมเต็มความสัมพันธ์ที่ห่างไกล แต่ก็ไม่เทียบเท่าการได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง “ครอบครัวขยาย” ที่มีปู่-ย่า-ตา-ยายอยู่ด้วย จะเป็นที่พึ่งในภาวะดังกล่าวได้ดีที่สุด

          การศึกษาของ ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ยังพบอีกว่า ในภาวะที่พ่อหรือแม่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ เด็กผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพจิตและพฤติกรรมมากกว่าเด็กผู้หญิง เช่น ภาวะสมาธิสั้น และพฤติกรรมเกเร เนื่องจากขาด role model หรือต้นแบบในการดำเนินชีวิต โดยเด็กผู้ชายส่วนใหญ่มักเกรงใจพ่อและเรียนรู้ตัวแบบที่ดีจากพ่อ และแม้ลูกจะได้อยู่กับปู่-ย่า-ตา-ยาย เมื่อพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานไกลบ้าน แต่ในยามที่ครอบครัวขยายต้องประสบปัญหา ก็ไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับการที่เป็นพ่อแม่ดูแลลูกด้วยตัวเอง

          ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสัญญาจ้างงาน แรงงานย้ายถิ่นจะเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวในประเทศต้นทาง ซึ่งการใช้ความเห็นอกเห็นใจในการปรับเปลี่ยนข้อตกลงสัญญาว่าจ้าง ที่ส่งเสริมสวัสดิการ และเอื้อให้ครอบครัวแรงงานย้ายถิ่นได้กลับไปพบหน้ากันมากขึ้น จะทำให้แรงงานย้ายถิ่นมีกำลังใจ ทั้งในการปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิต ในขณะเดียวกันนายจ้างยังคงสามารถรักษาแรงงานย้ายถิ่นที่ดีมีคุณภาพเอาไว้ได้เช่นเดิม ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้มวลรวมของทั้งประเทศต้นทาง และปลายทางต่อไปได้อีกด้วย

          ทำให้การวิจัยซึ่งใช้ชื่อว่า “ผลกระทบจากการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของแรงงานไทยต่อสุขภาพจิตของครอบครัวและประเทศต้นทาง : สถานการณ์การสูญเสียการดูแลและการส่งต่อภาระการดูแลของครัวเรือนที่มีการย้ายถิ่นในประเทศไทย” ผลงานโดย ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาสังคมวิทยา จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ไปครองได้ในที่สุด

          แม้อ้อมอกของพ่อแม่จะอยู่แสนไกล และปู่-ย่า-ตา-ยายจะไม่สามารถแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็อุ่นใจกว่าการที่เด็กต้องโตขึ้นมาเพียงลำพังในช่วงวัยที่ต้องการใครสักคน โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่เชื่อมต่อ โดยหวังให้เกิดผลกระทบที่เป็นประโยชน์ซึ่งสอดคล้องต้องกันในประชากรทุกกลุ่ม เพื่อการบังเกิดผลสู่ความยั่งยืนได้ต่อไปในที่สุด

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author