ดาวอังคาร บ้านใหม่ของมนุษยชาติ ตอนที่ 1

เรื่องโดย รวิศ ทัศคร


 

“Mars is there, waiting to be reached.”
… ดาวอังคารอยู่ที่นั่น รอให้พวกเราไปให้ถึง …

          คำกล่าวนี้ของ บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) นักบินอวกาศ โครงการอะพอลโล 11 ผู้ที่ต่อมาเป็นแรงบันดาลใจของคาแรกเตอร์ “บัซ ไลต์เยียร์” ในภาพยนตร์ Toy Story ที่โด่งดัง คงไม่เกินความจริงนัก ในอนาคตอันใกล้นี้

          มนุษย์สังเกตเห็นดาวอังคารมานานแล้ว ในสมัยโบราณ คนโบราณจึงผูกดาวอังคารไว้กับเทพปกรณัมและเรื่องเล่ามากมาย อย่างในคติไทยเรานั้นพระศิวะให้กำเนิดพระอังคารขึ้นมาด้วยการนำควายแปดตัวมาบดเป็นผง ห่อผ้าสีชมพูเข้ม พรมด้วยน้ำอมฤต เสกด้วยฤทธิ์บันดาลเกิดเป็นพระอังคาร เทพบุรุษผู้มีพระวรกายสีชมพู มี 4 กร ทรงหอก ตรีศูล กระบอง และศร ทรงเครื่องประดับทองแดงและแก้วโกเมน ในไตรภูมิพระร่วง พระอังคารมีวิมานอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นเทพแห่งสงครามผู้ประสาทพรแก่กษัตริย์และนักรบ คนไทยเราถือว่าพระอังคารเป็นเทพประเภทบาปเคราะห์ คือจะมีผลในอารมณ์ที่ร้อนแรง คนที่เกิดวันอังคารหรือมีพระอังคารอยู่ในลัคนามักจะมีอารมณ์โกรธง่าย ชอบใช้กำลัง ไม่ยอมคน ใจร้อน แต่ผลในทางดีก็มี คือด้วยจิตใจเช่นนี้จะทำให้ขยัน อดทน กล้าหาญ มีพลังงาน และมั่นใจในตนเอง

          เรื่องราวของพระอังคารของไทยในแง่ของการเป็นเทพแห่งสงคราม ซึ่งน่าจะรับคติมาจากทางอินเดีย ก็มีส่วนพ้องกับความเชื่อชองชาวโรมันโบราณในประเด็นที่ชาวโรมันเองก็ถือว่า เทพมาร์ส (Mars) เป็นเทพแห่งสงคราม ที่เป็นบุตรแห่งเทพจูปิเตอร์และเทพีจูโน ชาวโรมถือว่าเทพองค์นี้เป็นบิดาของรอมิวลุส กษัตริย์องค์แรกแห่งโรม เทพมาร์สจึงมีความสำคัญรองลงมาจากเทพจูปิเตอร์เลยทีเดียว ซึ่งเทพองค์นี้เดิมทีเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ พืชผล เกษตรกรรม และการพิทักษ์ปศุสัตว์ ต่อมาจึงได้รับบทบาทให้เป็นเทพผู้ปกป้องทหารและเป็นเทพแห่งการสงครามด้วย ซึ่งเทพที่ปรากฏในเทพปกรณัมกรีกที่เทียบเท่ากับมาร์ส คือเทพแอรีสนั่นเอง

          ชาวบาบิโลเนียเรียกเทพมาร์สว่า เนอร์กัล (Nergal) ซึ่งเป็นเทพตัวแทนแห่งไฟ การทำลาย และสงคราม ในระบบความเชื่อของพวกเขา ครั้งหนึ่งเนอร์กัลเคยเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังภาคที่เป็นตัวแทนของดาวอังคารได้เอาชนะ จึงกลายเป็นเทพแห่งความตาย โรคระบาด กาฬโรค และเจ้าแห่งปรโลก ในอารยธรรมแถบเมโสโปเตเมียตอนใต้ อย่างไรก็ตามความเป็นเทพสงครามก็ทำให้เนอร์กัลเป็นเทพที่ปกป้องดินแดนด้วย ซึ่งจำเป็นต่อความสงบสุข และด้วยความน่ายำเกรงของเขา จึงเป็นเทพผู้ปกป้องบ้านเรือนให้ปลอดจากความชั่วร้ายที่จะมากล้ำกรายอีกด้วย เทพองค์นี้มีลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์ดังรูป


ภาพที่ 1 เนอร์กัล เทพแห่งไฟ ความตาย การทำลาย สงคราม และการปกป้องดินแดนของอารยะรรมแถบเมโสโปเตเมีย

          ในอารยธรรมจีนและเกาหลี มองดาวอังคารเป็นลางบอกเหตุแห่งหายนะ ความเศร้าโศก สงคราม และการฆาตกรรม ชาวจีนเรียกดาวอังคารว่า หั่วซิง (Huŏxīng) (火星) หรือดาวแห่งเพลิง ซึ่งเป็นหนึ่งในธาตุทั้งห้า (ไม้ ดิน ทอง น้ำ และไฟ) ซึ่งมีความเกี่ยวพันทางธาตุกับ จู้หรง (Zhùróng) (祝融) ซึ่งเป็นเทพแห่งไฟที่น่ายำเกรง ผู้ทรงพาหนะเป็นมังกรสองตัว เป็นเทพผู้นำไฟจากสวรรค์ลงมาสู่โลกมนุษย์และซัดมันเป็นอาวุธใส่ศัตรูในยามสงคราม และเป็นเทพแห่งการป้องกันอีกด้วย

          จะเห็นว่าดาวอังคารมีความผูกพันกับมนุษย์เรามาตลอดตั้งแต่โบราณกาลในหลายอารยธรรม แม้ในปัจจุบันมนุษย์มีเทคโนโลยีมากขึ้นแล้ว แต่สายตาที่มนุษย์มองไปยังดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ ก็ยังคงเต็มไปด้วยความสนใจต่อมันไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ในยุคของวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศ ท่ามกลางความเสื่อมโทรมลงของสภาพแวดล้อมบนโลก จึงเริ่มมีคนตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้เพียงใดที่ดาวอังคารจะเป็นบ้านแห่งที่สองของมนุษย์เรา

          ท่ามกลางสงครามเย็นและการแข่งขันสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาและโซเวียตในระยะเวลากว่า 46 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2488-2534 ทำให้เกิดแรงผลักดันในการแข่งขันกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจ มนุษย์ส่งยานViking 1 และ Viking 2 ไปยังดาวอังคารในช่วงปี พ.ศ. 2518 และ 2519 ตามลำดับ โลกได้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากมาย แต่การสำรวจก็เว้นช่วงไปนาน จนถึงปี พ.ศ. 2535 ที่มีการส่งยาน Mars Observer ไปสำรวจดาวอังคารอีกครั้ง แต่สัญญาณติดต่อก็ได้ขาดหายไปก่อนจะเข้าวงโคจรรอบดาวอังคาร

          โลกเข้าสู่ความตื่นตัวของการสำรวจดาวเคราะห์แดงดวงนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการค้นพบว่าในตัวอย่างอุกกาบาตจากดาวอังคาร ชื่อ ALH84001 ที่เคยมีการขุดพบในทวีปแอนตาร์กติกา ใกล้เนินเขาอัลแลน(Allan Hill) ซึ่งเป็นกลุ่มเนินเขาที่อยู่ปลายสุดของเทือกเขา Transantarctic Mountains System ในภูมิภาค Oates Land และ Victoria Land ของทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อปี พ.ศ. 2527 มีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตปรากฏอยู่

          อุกกาบาตลูกนี้เป็นจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของการสำรวจดาวอังคารไปตลอดกาล เมื่อลักษณะผิวที่พบภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแสดงให้เห็นถึงแร่คาร์บอเนตรูปทรงประหลาดขนาดเล็กราว 1 ไมครอน ที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฟอสซิลของจุลชีพจากยุคโบราณของดาวแดงดวงนี้

ภาพที่ 2 (ซ้าย) เม็ดแร่คาร์บอเนตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100–200 ไมครอน ที่พบในอุกกาบาต ALH84001 ที่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.5 ของเนื้ออุกกาบาต (ขวา) ภาพถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (SEM) แสดงให้เห็นถึง “ฟอสซิล” ขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน ที่อยู่บนพื้นผิวของเม็ดคาร์บอเนตที่นำมาตรวจสอบ (ที่มา: [1])

          สิ่งที่พบจากอุกกาบาต ALH84001 ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบมานาน เพราะยังไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่ปรากฏบนกล้องและร่องรอยของสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างซับซ้อนในกลุ่ม polycyclic aromatic hydrocarbon (PAH) ที่พบเป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่จากการสลายตัวของจุลินทรีย์หรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุให้โลกมีความสนใจในเรื่องนี้ และยานสำรวจที่ถูกส่งออกไปหลังจากนั้นมีเป้าหมายและเครื่องมือบนยาน ที่พยายามหาหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารในปัจจุบัน หรือร่องรอยการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตในอดีตให้ได้

          อันที่จริงดาวอังคารเคยมีช่วงที่อุณหภูมิอบอุ่น มีความชื้น บรรยากาศกาศมีความหนาแน่นและความดันมากกว่าปัจจุบัน มีแม่น้ำไหลหลายสาย มีมหาสมุทรอยู่บนพื้นผิว มีการปะทุของภูเขาไฟ และมีสนามแม่เหล็กเหมือนโลก แต่ในปัจจุบันหายไปจนหมด เหลือเพียงดาวที่แห้งผาก เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในการตอบคำถามนี้ ขอให้คุณผู้อ่านลองมาดูแผนภูมิแสดงสมมติฐานของการสูญเสียชั้นบรรยากาศของดาวอังคารกัน

ภาพที่ 3 แผนภูมิแสดงกระบวนการสามแบบที่นำไปสู่การสูญเสียชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร 1) ชั้นบรรยากาศหลุดออกไปสู่อวกาศ 2) การตกกระทบของอุกกาบาต 3) ปฏิกิริยาทางเคมีกายภาพ (ที่มาของภาพ: [1])

          สาเหตุแรกที่มีคนสันนิษฐานว่าทำไมบรรยากาศของดาวอังคารจึงหายไป อาจเป็นเพราะการตกกระทบของอุกกาบาตในช่วงพันล้านปีแรกของระบบสุริยะ ซึ่งทั้งโลกและดาวอังคารเคยมีช่วงที่ถูกอุกกาบาตตกกระทบอย่างถี่ยิบในช่วงต้นที่ระบบสุริยะเกิดขึ้นมาไม่นาน เนื่องจากอวกาศโดยรอบยังคงมีเศษชิ้นส่วนที่เหลือจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ต่างๆ ล่องลอยอยู่มาก ทำให้เกิดการสูญเสียบรรยากาศไปจากการชน แต่หลังจากนั้นโลกของเรายังคงเหนี่ยวรั้งชั้นบรรยากาศไว้ได้เพราะมีแรงโน้มถ่วงสูงกว่า ขณะที่ดาวอังคารสูญเสียชั้นบรรยากาศไปเนื่องจากมีแรงโน้มถ่วงต่ำกว่า แต่แม้กระนั้นก็ตาม จากการคำนวณที่อิงกับข้อมูลที่ทราบเกี่ยวกับการกัดกร่อนของชั้นบรรยากาศ ทำให้พบว่าแม้ในช่วงปลายของยุคที่มีอุกกาบาตตกใส่ถี่ๆ ดาวอังคารก็ยังมีชั้นบรรยากาศหนากว่าปัจจุบันอยู่มากโข

          สาเหตุต่อมาคือการทำปฏิกิริยากับผิวดาว ซึ่งในกรณีที่มีน้ำที่เป็นของเหลว คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะทำปฏิกิริยากับหินที่พื้นผิวเพื่อก่อตัวเป็นคาร์บอเนตทำให้ปริมาตรของชั้นบรรยากาศลดลง ซึ่งบนโลกกระบวนการนี้อยู่ในสมดุล เนื่องจากมีการหมุนเวียนของชั้นหินจากกระบวนการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งสารจำพวกคาร์บอเนตที่ถูกดึงลงไปในเนื้อโลกพร้อมกับเปลือกโลกจะคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และในเวลาต่อมาจะกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศพร้อมกับการระเบิดของภูเขาไฟ ส่วนบนดาวอังคาร กิจกรรมของเปลือกโลก/เปลือกดาวหยุดชะงักไป ชั้นบรรยากาศเกือบทั้งหมดอาจเปลี่ยนเป็นคาร์บอเนต

          ซึ่งในปี พ.ศ. 2551 ยังไม่มีหลักฐานการค้นพบคาร์บอเนตที่มากเพียงพอที่จะบ่งชี้ว่าบรรยากาศส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นคาร์บอเนต เพราะเท่าที่เจอในปี พ.ศ. 2546 ส่วนใหญ่จะพบคาร์บอนในรูปของแร่แมกนีไซต์ (MgCO3) ในฝุ่นดาวอังคาร และพบในสัดส่วนเชิงมวลแค่ร้อยละ 5 ปะปนมาในฝุ่นเท่านั้น ทำให้ในช่วงนั้นมีแนวคิดว่าบางทีสภาพแวดล้อมโบราณของดาวอังคารอาจเหมาะต่อการตกตะกอนของสารซัลเฟต น้ำบนพื้นผิวอาจมีสภาพที่ค่อนข้างจะเป็นกรด และสารคาร์บอเนตเกือบทุกชนิดไม่น่าจะสามารถก่อตัวได้

          แต่ก็มีอีกแนวคิดว่าบางทีชั้นบรรยากาศโบราณของดาวอังคารอาจถูกกักอยู่ที่ใต้ผิวดาวในรูปของคาร์บอเนตจริงๆ แต่ที่ไม่พบบนพื้นผิวก็เพราะแม่น้ำโบราณบนดาวอังคารบางสายได้ละลายหินใต้พื้นผิวจนกลายเป็นโพรงคาสต์ (Karstic cavities) ซึ่งคาสต์ (Karst) บนโลกก็คือลักษณะของหินปูนที่ถูกน้ำกัดเซาะละลายหินออกไป ทำให้เกิดเป็นทางน้ำและถ้ำใต้ดิน น้ำที่ไหลข้างบนมักจะซึมหายลงไปในเนื้อหินลงไปใต้ดิน บนโลกมักเกิดกับพื้นที่แห้งแล้งที่มีธารน้ำไหลลงที่ต่ำในหน้าฝน

          บนโลกพื้นที่แบบนี้มีหินปูนมาก และมีคาร์บอเนตอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหากเกิดสิ่งนี้ขึ้นตรงที่เคยเป็นแม่น้ำบนดาวอังคาร ก็เป็นไปได้ที่ชั้นบรรยากาศจะกลายเป็นคาร์บอเนตและถูกฝังอยู่ใต้ผืนทรายของดาวอังคารซึ่งไม่สามารถตรวจพบในขณะนั้น ที่พบโดยยานPhoenix ในสภาพแร่แคลไซต์ในปริมาณร้อยละ 3–5 โดยน้ำหนักในตัวอย่างดินด้วยอุปกรณ์ Thermal and Evolved Gas Analyzer (TEGA) ก็เพิ่มโอกาสขึ้นแต่ถือว่ายังพบในปริมาณน้อย [1], [2]

          อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. 2553 ยานโรเวอร์สำรวจพื้นดาว Spirit ที่ลงจอดบริเวณหลุมอุกกาบาตกูเซฟ (Gusev crater) ซึ่งเป็นปากปล่องภูเขาไฟโบราณบนดาวอังคาร ได้ยืนยันการค้นพบพื้นที่ในเนินเขาโคลัมเบียในหลุมอุกกาบาตดังกล่าวที่อุดมไปด้วยแร่แมกนีเซียม-เหล็กคาร์บอเนต ในปริมาณร้อยละ 16-34 โดยน้ำหนัก ซึ่งน่าจะเกิดจากการตกตะกอนจากสารละลายที่มีคาร์บอเนตภายใต้สภาพแวดล้อมของภูเขาไฟในยุคธรณีของดาวอังคารชื่อยุค Noachian era ในช่วง 3700–4100 ล้านปีมาแล้ว [2]


ภาพที่ 4 ลักษณะของโพรงคาสต์ ที่น้ำเซาะหินจนเป็นโพรงใต้ผิวดาว (ที่มา: [1])

          แต่เมื่อสองปีที่แล้วมานี้เอง ในปี พ.ศ. 2562 มีหลักฐานใหม่ที่แสดงอย่างชัดเจนว่าดาวอังคารเคยมีน้ำบนพื้นผิวที่เป็นของเหลวซึ่งมีไอออนของคาร์บอเนต/ไบคาร์บอเนตที่มาจากคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ จับตัวอยู่ปะปนกับเกลือแร่ที่มีน้ำปะปนในโครงสร้างอยู่ทั่วพื้นผิวดาวอังคาร [3],[4]

          โดยมีความหนาตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตรจนถึงเป็นร้อยเมตร ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (remote sensing) นี้ ทำได้จากกล้อง high resolution stereo camera (HRSC) ที่ติดตั้งอยู่บนยาน Mars Express ที่โคจรเก็บข้อมูลรอบดาวอังคารมานานหลายปี ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2563 หรือปีที่แล้วนี้เอง ยาน Mars Express ก็ยังค้นพบข้อมูลทรัพยากรอันมีค่าต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เพิ่มอีกจากอุปกรณ์ MARSIS บนยาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์กำเนิดคลื่นพัลส์เรดาร์ความถี่ต่ำ ค้นพบว่ามีทะเลสาบยักษ์ ซ่อนอยู่ใต้ธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกของดาวอังคาร โดยแห่งใหญ่สุดมีความกว้างถึง 30 กิโลเมตร

          ถ้าตัดประเด็นเรื่องบรรยากาศที่เบาบางและอุณหภูมิที่อาจหนาวเย็นถึง –61 องศาเซลเซียสออกไป เหตุผลที่มนุษย์เรามองดาวอังคารมากกว่าดาวดวงอื่นที่มีมวลและแรงดึงดูดใกล้เคียงกับโลก เช่น ดาวศุกร์ ในการไปตั้งอาณานิคมบนดาว ก็เพราะดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่มีพื้นผิวแข็งเหมือนโลกเรา สามารถนำยานลงจอดและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้เหมือนโลก อีกทั้งยังไม่มีบรรยากาศที่หนาแน่นและมีความดันสูงเหมือนดาวศุกร์ ซึ่งแม้จะมีแนวคิดในการตั้งถิ่นฐานที่ดาวศุกร์ แต่การสร้างฐานที่พักบนผิวดาวคงยังทำไม่ได้ในเร็วๆ นี้

          นอกจากยานในรูปของบอลลูนในระดับชั้นเมฆของดาวศุกร์เท่านั้น แต่ที่ดาวอังคาร แม้ความดันบรรยากาศจะน้อยมากและมีแรงโน้มถ่วงเพียงร้อยละ 38 ของโลกเท่านั้น แต่การสร้างโครงสร้างกักอากาศบนผิวดาวก็ไม่ใช่ปัญหาในช่วงต้นของการตั้งถิ่นฐาน อีกทั้งดาวอังคารยังมีบริเวณต่างๆ ที่เป็นหลุมยุบบริเวณปากปล่องของภูเขาไฟที่ดับแล้ว

          ซึ่งมีเครือข่ายของอุโมงค์ใต้ดินที่เคยเป็นทางไหลของลาวาเมื่อนานมาแล้วเป็นถ้ำโดยธรรมชาติ มีผู้มองว่ามนุษย์เราอาจจะได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาตินี้ในการสร้างเมืองภายใต้นั้นก็เป็นได้


ภาพที่ 5 หลุมภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดบนดาวอังคาร ใกล้ Pavonis Mons ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร ถ่ายโดยยาน Mars Reconnaissance Orbiter

          การสร้างฐานที่พัก ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจกลายเป็นเมือง มีความน่าสนใจเนื่องจากสามารถปกป้องมนุษย์จากรังสีคอสมิกบนพื้นผิวดาวอังคารได้ รวมถึงก้อนอุกกาบาต เพราะดาวอังคารไม่มีชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่น หรือสนามแม่เหล็กที่มีแรงสูง คอยปกป้องเหมือนโลกของเรา เราไปติดตามเรื่องนี้กันต่อในฉบับหน้าครับ


แหล่งข้อมูล

  1. Forget, F., Costard, F., and Lognonne, P. 2008. Planet Mars: Story of another world. Praxis Pub., Ltd. Dorset, UK.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbonates_on_Mars
  3. https://eos.org/research-spotlights/detecting-carbonates-on-the-surface-of-mars
  4. Bultel, B., Viennet, J., Poulet, F., Carter, J., & Werner, S. C. (2019). Detection of carbonates in martian weathering profiles. Journal of Geophysical Research: Planets. doi:10.1029/2018je005845
  5. https://www.wired.co.uk/article/underground-mars-habitat
  6. https://www.space.com/37200-read-elon-musk-spacex-mars-colony-plan.html
  7. https://www.cnet.com/news/spacex-mystery-moon-passenger-yusaku-maezawa-first-bfr-tourist/
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/SpaceX_Mars_program#Mars_early_missions
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/SpaceX_Starship
  10. https://www.nasa.gov/feature/nasa-x-hab-2017-challenge-seeks-exploration-systems-and-habitation-designs-from-university
  11. https://engineering.purdue.edu/CE/AboutUs/News/Features/nasa-selects-purdue-to-develop-resilient-and-smart-deep-space-habitats
  12. https://www.globaltimes.cn/page/202106/1226925.shtml
  13. https://gizmodo.com/china-hopes-to-put-first-human-on-mars-in-2033-report-1847163177
  14. https://en.wikipedia.org/wiki/China_Academy_of_Launch_Vehicle_Technology
  15. https://www.sundayvision.co.ug/science-china-plans-to-send-androids-to-mars-before-a-manned-base/
  16. Oze, C., Beisel, J., Dabsys, E., Dall, J., North, G., Scott, A., Lopez, A.M., Holmes, R., Fendorf, S. (2021). Perchlorate and Agriculture on Mars. Soil Systems, 5(3), 37. doi:10.3390/soilsystems5030037
  17. Eichler, A., Hadland, N., Pickett, D., Masaitis, D., Handy, D., Perez, A., Batcheldor, D., Wheeler, B., Palmer, A. (2021). Challenging the agricultural viability of Martian regolith simulants. Icarus, doi:10.1016/j.icarus.2020.114022
  18. https://www.sciencenews.org/article/mars-farming-harder-martian-regolith-soil
  19. Davila, A. F., Willson, D., Coates, J. D., & McKay, C. P. (2013). Perchlorate on Mars: a chemical hazard and a resource for humans. International Journal of Astrobiology, 12(04), 321–325. doi:1017/s1473550413000189

About Author