ถอดประสบการณ์ won-spaceY แชมป์ SRPC 2020 เขียนโค้ดควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ

(นายตุลา ชีวชาตรีเกษม, นายสิรภพ เวสน์ไพบูลย์ และนายธีรโชติ เมืองจำนงค์)

          เทคโนโลยีอวกาศ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มาโดยตลอด ทั้งในเรื่องการยกระดับเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีทางการทหาร เทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยีการสำรวจเพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติบนโลก และเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติจากนอกโลก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่เป็นส่วนตั้งต้นในการพัฒนาต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีที่จะยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คน เช่น โทรศัพท์มือถือ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ระบบจีพีเอส และอาหารฟรีซดราย เป็นต้น

          เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ และ STEM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา (National Aeronautics and Space Administration: NASA) และหน่วยงานพันธมิตร จัดโครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 (SRPC 2020) เวทีที่จะช่วยกระตุ้นเพิ่มพูนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม รวมทั้งต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีอวกาศให้กับเยาวชน

won-spaceY คว้าแชมป์ SRPC 2020

          โครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 (SRPC 2020) มีโจทย์การแข่งขันให้ผู้สมัครเขียนโค้ด (Coding) เพื่อควบคุมแอสโตรบี (Astrobee) หุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่จริงบนสถานีอวกาศให้ทำการซ่อมแซมสถานีที่เกิดการชำรุดเนื่องจากอุกกาบาตพุ่งชน โดยจะต้องปฏิบัติภารกิจให้แม่นยำและใช้เวลาน้อยที่สุด การแข่งขันจะตัดสินผลผู้ชนะจากผลการรันโค้ดที่มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะการทำงานบนอวกาศนั้นห้ามพลาด ดังวลีที่ Gene Kranz ผู้นำยาน Apollo 13 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้กล่าวไว้ว่า “Failure is not an option.”

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเศริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวแสดงความยินดีและมอบรางวัล

          ดร.จุฬารัตน์ ตันประเศริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า การแข่งขัน SRPC 2020 เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 มีผู้สมัครเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 151 ทีม จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบ 20 ทีม เพื่อเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ และได้ประกาศผลผู้ชนะเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยผลการแข่งขันผู้ชนะคือเยาวชน ‘ทีม won-spaceY (วนสเปซวาย)’  ประกอบด้วยนายตุลา ชีวชาตรีเกษม หรือตี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายธีรโชติ เมืองจำนงค์ หรือเอิร์ธ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายสิรภพ เวสน์ไพบูลย์ หรือริว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          “ตลอดระยะเวลาการแข่งขันกว่า 3 เดือน รู้สึกประทับใจในความตั้งใจของเด็กและเยาวชนทุกทีมเป็นอย่างมาก ได้เห็นถึงการผสานศาสตร์ความรู้แบบบูรณาการ และยังได้เห็นถึงการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 อย่างการคิดวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งนี้ ทีม won-spaceY ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 25,000 บาท และได้รับโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียกับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก อีก 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ที่ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้

          สำรับการเขียนโค้ดในรอบชิงแชมป์เอเชียจะแตกต่างจากรอบแข่งขันชิงแชมป์ประเทศ คือ การรันโค้ดจะไม่ได้ทดสอบบนเซิร์ฟเวอร์อีกต่อไป แต่จะทดสอบการรันโค้ดด้วยแอสโตรบีที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอวกาศจริงๆ โดยมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน หวังว่าเยาวชนทีม won-spaceY จะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานและการทำงานในอนาคต”

แอสโตรบี (Astrobee) กำลังปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศ

หนทางแห่งชัยชนะของ won-spaceY

          การแข่งขัน SRPC 2020 นอกจากจะต้องใช้ทักษะความสามารถในการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบีให้ทำงานได้อย่างแม่นยำไร้ข้อผิดพลาดซึ่งเป็นเรื่องที่ยากแล้ว ทีม won-spaceY ที่รวมตัวเยาวชนต่างสถาบัน ยังต้องฝ่าฟันความลำบากในการทำงานร่วมกันภายใต้สถานการณ์โควิด-19 อีก แต่กระนั้นพวกเขาก็สามารถผนึกกำลังนำความรู้ที่มีมาผสานและทำงานร่วมกันภายใต้ข้อจำกัดและคว้าชัยชนะมาได้อย่างน่าประทับใจ

          ริวเล่าว่า พวกเราเรียนในระดับ ปวช. ที่โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ไทย-เยอรมัน จึงมีโอกาสได้มาพบเจอกันในชมรมหุ่นยนต์ของโรงเรียน ที่เปิดไว้ให้พวกเราได้ลองพัฒนาผลงานด้วยตัวเอง พวกเราที่เรียนต่างสาขาจึงมีประสบการณ์การทำงานร่วมกัน และช่วยเหลือกันในการแข่งขันต่างๆ ตามความถนัด ทั้งด้านเครื่องกล แมคคาทรอนิกส์ การคำนวณ และการเขียนโค้ด พอการแข่งขันนี้มีการประกาศรับสมัครทางออนไลน์ พวกเราที่สนใจเรื่องนี้เป็นทุนเดิมจึงมารวมตัวกันเป็นทีม นำเอาความถนัดที่แตกต่างมาเป็นจุดแข็งในการแข่งขัน

          แม้การแข่งขันเพื่อชิงแชมป์ประเทศไทย เยาวชนทุกทีมจะต้องแบกรับความกดกันในการเอาชนะเพื่อนอีก 150 ทีม แต่บรรยากาศในการทำงานของ won-spaceY กลับไม่ตึงเครียด และยังมีการแบ่งปันความรู้กับเพื่อนทีมอื่นอีกด้วย

            ตี้เล่าว่า ทีมเราพยายามที่จะไม่เครียดและกดดันซึ่งกันและกัน เพราะถ้าเกิดเหตุแบบนั้นจะทำให้คนในทีมไม่อยากพูดคุยหรือทำงานร่วมกันต่อ เราทำงานเหมือนมาเล่นกัน คล้ายๆ นัดเตะบอลนะ (หัวเราะ) ในทีมมีการแบ่งหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน คนหนึ่งพัฒนาสมการในการควบคุมการเคลื่อนที่ คนหนึ่งช่วยเสริมเรื่องการคำนวณที่แม่นยำ และอีกคนนำสมการที่ได้มาจัดเรียงเป็นโค้ดเพื่อสั่งการฮาร์ดแวร์ต่อ แต่ละคนทำส่วนที่ตนถนัดแล้วค่อยนำมารวมกัน การนัดคุยแต่ละครั้งก็จะคุยว่าถึงไหนแล้ว ต้องทำอะไรต่อ การแบ่งสรรหน้าที่ การทำงานร่วมกันเป็นทีม และการทำงานร่วมกันภายใต้ความกดดันให้มีความสุขและสนุกสนาน เป็นเรื่องหลักเลยที่เราได้เรียนรู้จากการแข่งขันครั้งนี้

            “นอกจากนั้นในระหว่างการแข่งขันยังได้แชร์ความรู้ที่มีกับเพื่อนทีมอื่นด้วย ถ้ามีใครถามอะไรมาแล้วเรารู้ก็จะบอกเขาเลย เมื่อเขานำไปพัฒนาต่อยอดเขาก็อาจนำมาแลกเปลี่ยนกับเราต่อ เราเชื่อเรื่อง Give and Take หลังการแข่งขันทั้งหมดจบลง ก็ตั้งใจจะทำคลิปอธิบายโค้ดของทีมเราแบบละเอียด เพื่อให้เพื่อนๆ ได้เรียนรู้ แต่ตอนนี้ยังเผยแพร่ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวทีมประเทศอื่นรู้ก่อน (หัวเราะ)”

            สำหรับ won-spaceY การเป็นผู้ชนะในรอบชิงแชมป์ประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดหมายที่พวกเขาตั้งใจไว้ เพราะพวกเขารู้สึกว่ายังทำได้ดีกว่านี้ และจะเตรียมความพร้อมให้ดีขึ้นเพื่อแข่งขันกับอีก 6 ประเทศต่อไป

            เอิร์ธเล่าว่า ที่บอกว่าพวกเรายังไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะเราคาดหวังว่าผลการทดสอบรันโค้ด 10 รอบ ในการแข่งขันจะได้ผลเป็นคลาส A ทั้งหมด แต่ปรากฏว่ามีรอบหนึ่งได้ผลเป็นคลาส C พวกเราตระหนักดีว่าสำหรับการทำงานนอกโลกความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ห้ามเกิดขึ้นเด็ดขาด จึงคิดว่าตอนนี้เราไปได้เพียงประมาณครึ่งทางของเป้าหมาย แต่ถ้าดูที่ความตั้งใจในการทำงาน พวกเราก็รู้สึกว่าเราทำกันค่อนข้างเต็มที่แล้ว แม้จะมีบางส่วนที่พัฒนาเพื่อปิดช่องโหว่ในรอบชิงแชมป์ประเทศไม่ทัน แต่ก็ยังมีโอกาสได้นำไปใช้ในรอบชิงแชมป์เอเชีย ช่วงเตรียมความพร้อม 2 เดือนนี้ พวกเราแบ่งกันไปหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อทางแจ็กซาเปิดให้ทดลองรันโค้ดในเซิร์ฟเวอร์อีกครั้ง ก็จะนำความรู้ที่ได้มารวมกันแล้วเขียนโค้ดเพื่อนำไปทดสอบต่อ การทำงานด้วยกันยังมีความสุขและสนุกเหมือนเดิม

‘เรียนรู้และปฏิบัติจริง’ แนวคิด won-spaceY

            นอกจากเรื่องการแข่งขันแล้ว won-spaceY ยังได้สะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพวกเขาในฐานะนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

            เอิร์ธสะท้อนว่า จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา ผมคิดว่าการที่อาจารย์อธิบายทฤษฎีในห้องเรียนโดยไม่ได้บอกเป้าหมายของการเรียนรู้ รวมถึงให้โอกาสนักศึกษาได้นำทฤษฎีที่เรียนไปทดลองใช้น้อย ทำให้ผมและเพื่อนอีกหลายคนประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนมาไม่เป็น ส่งผลให้ไม่อยากเรียนในห้องเรียน หลายครั้งเราจำเนื้อหาเพื่อเอาตัวรอดในการสอบ แต่ไม่ได้เข้าใจเรื่องเหล่านั้นจริงๆ สิ่งที่เรียนรู้จากห้องเรียนจึงนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย ดังนั้นพวกผมอยากให้อาจารย์อธิบายก่อนจะสอนแต่ละเรื่องว่าเป้าหมายในการเรียนคืออะไร ชี้ให้เห็นว่าแต่ละเรื่องมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในการใช้งานจริง และจัดสรรเวลาการสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติมากขึ้น

            ริวเสริมว่า อยากให้มีการอัปเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย เพราะมีหลายเทคโนโลยีที่ก้าวไกลไปแล้ว แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงในชั้นเรียนมากนัก กลุ่มของเราคิดว่าการที่พวกเราเข้าใจทฤษฎีต่างๆ รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถนำมาปรับใช้ได้ ก็เพราะประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติและการแข่งขัน รวมถึงจากโครงการ SRPC 2020 ด้วย พวกเราแสวงหาโอกาสเหล่านั้นจากความสนใจด้วยตัวเอง ดังนั้นผมจึงคิดว่าการชี้ชวนให้นักเรียนนักศึกษาได้นำความรู้ไปลงมือใช้งานจริงเพื่อเสริมความเข้าใจและต่อยอดความรู้สำคัญมาก

            สุดท้ายทีม won-spaceY ได้ฝากข้อคิดถึงเพื่อนๆ และน้องๆ ที่อยู่ในช่วงของการค้นหาเส้นทางการเรียนและการทำงานของตัวเอง

            ตี้สรุปข้อคิดของทีมไว้ว่า อยากให้ค้นหาสิ่งที่ตนเองสนใจ แล้วทดลองทำมันจริงๆ หากทำแล้วยังไม่ชอบอย่างน้อยก็จะได้รู้ว่ายังไม่ใช่ อย่างตัวพวกเราเองรู้ว่าชอบอะไร ความสนใจจึงพาเราไปสู่การค้นหาต่อยอดสิ่งต่างๆ หากสิ่งที่เราชอบผู้ปกครองหรือคนรอบตัวคิดว่ายังไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม ให้ลองเปิดใจคุยกันถึงความสำคัญและข้อดีของสายงานนั้น หรือหากใครยังไม่รู้ว่าสิ่งที่สนใจคืออะไรก็ให้ลองค้นหาเป้าหมายด้วยตัวเอง ลองออกนอกกรอบ การได้ลองทำสิ่งต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการค้นหาความสนใจ

            “ก็อยากให้ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนทั้งเรื่องการพัฒนาการศึกษา การชี้นำให้เห็นว่าแต่ละสายงานมีความน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร รวมถึงอยากให้เพิ่มพื้นที่ทดลองปฏิบัติงานและแข่งขัน เพื่อค้นหาความสนใจและพัฒนาศักยภาพของตนเอง”

            ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์การแข่งขันและข้อคิดด้านการศึกษาอันน่าสนใจของเยาวชนทีม won-spaceY โดยหลังจากนี้ในเดือนกันยายน ทีม won-spaceY จะเดินทางไปแข่งขันต่อรอบชิงแชมป์เอเชียที่ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น เชื่อว่าความมุ่งมั่นตั้งใจและความรักในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของพวกเขา จะเป็นแรงผลักให้พวกเขาสามารถพัฒนาโค้ดได้อย่างที่ตั้งหวังไว้ และได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป  

About Author