สร้างโลกด้วยการสื่อสาร เปิด ป.เอก “ภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม”

          ธรรมชาติของมนุษย์จะต้องอยู่รวมกันเพื่อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แม้วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมาจะทำให้มนุษย์ต้องอยู่ห่างไกลกัน แต่ก็ยังคงสามารถจับมือกันได้ เพียงเอื้อมมือออกไปสัมผัสโลกที่อยู่ตรงหน้า จะทำให้ทุกสิ่งเริ่มต้นและเป็นจริงได้

          รองศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท น้อมเนียน ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (ภาคพิเศษ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากบทเรียนที่ได้จากวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้โลกต้องหยุดหมุนไปชั่วขณะ ทำให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าของ “ภาษาและการสื่อสาร” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม”


รองศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท น้อมเนียน
ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (ภาคพิเศษ)
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

          มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย จึงได้สร้างสรรค์หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (ภาคพิเศษ) ขึ้นเพื่อให้มนุษย์สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยศาสตร์แห่ง “ภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม”

          จุดเด่นของหลักสูตรฯ อยู่ที่การมุ่งผลิต “นักภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม” ให้ได้เร็วที่สุดภายใน 3 ปี เนื่องจากถือเป็นบทบาทสำคัญเร่งด่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งรอไม่ได้ที่จะต้องฟื้นฟูเยียวยาโลกที่กำลังจะสูญสลายเนื่องจากขาดการติดต่อสื่อสาร

          จากความมุ่งหมายในการสร้างหลักสูตรฯ จะทำให้ทฤษฎี และกลยุทธ์ในการสื่อสารต่างๆ ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนในระดับปริญญาเอก ที่ต่างจากการเรียนในระดับปริญญาโท คือการได้ยกระดับความคิดสู่การวิเคราะห์และสังเคราะห์ที่ลุ่มลึกมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ได้จริงมากขึ้น

          ไม่ว่าจะเป็นรายวิชา “กระบวนทัศน์และทฤษฎีด้านภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม” “ประเด็นร่วมสมัยด้านการภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม” และ “ภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่เปิดสอนในหลักสูตรอย่างเข้มข้น

          เชื่อมั่นว่าจะทำให้ได้ “นักภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม” ที่พร้อมออกไปทำงานวิจัย เพื่อการเรียนรู้ถึงวิธีการที่จะทำให้โลกกลับมามีชีวิตอีกครั้งและยั่งยืนด้วยเครือข่ายที่สร้างขึ้นจากการสื่อสารที่ออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ผ่านการลงพื้นที่จริง ได้สัมผัสกับสนามจริงของชีวิต ในชั้นเรียนที่คุยกันด้วยภาษาไทย แต่จัดทำวิทยานิพนธ์ด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งจะทำให้สามารถต่อยอดขยายผลออกไปได้ทั่วโลก

          เพียงบอกเล่าเรื่องราวที่ต้องการทำวิจัย และประโยชน์ที่มุ่งหมายยื่นพร้อมใบสมัคร หลักฐานการศึกษา และผลคะแนนการทดสอบทักษะการใช้ภาษาอังกฤษผ่านบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล www.grad.mahidol.ac.th ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (สอบถามได้ทาง E-mail: singhanat.non@mahidol.ac.th) จะทำให้ยิ่งได้เข้าใกล้โอกาสแห่งความสำเร็จจากการได้เอื้อมสู่โลกแห่งอนาคตที่รอคอยในวันข้างหน้า

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author