ม.มหิดล แจ้งข่าวดี พร้อมให้บริการประชาชนด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียม ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศาลายา

          ภาพคนชรากับไม้เท้า เป็นภาพแห่งอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ไม่มีผู้ใดอยากจะเป็น ทำให้ผู้สูงวัยในโลกยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น จนกลายเป็น “สูงวัยพฤฒพลัง” หรือ “Active Agers” ที่ยังคงดูกระฉับกระเฉง และแข็งแรงอยู่เสมอ

          ทว่าจากข้อมูลโดย ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย พบว่า ผู้สูงวัยถึง 1 ใน 10 รายป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม จึงปฏิเสธไม่ได้ถึงความจำเป็นในส่วนที่ยังคงต้องดูแล

          นายแพทย์นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และรองหัวหน้าฝ่ายการแพทย์แผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ได้เปิดเผยข่าวดีสำหรับประชาชนแถบชานเมือง ภาคกลาง ภาคตะวันตก และประตูสู่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ ประจวบคีรีขันธ์

          ต่อไปนี้ผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับการรักษาถึง “โรงพยาบาลศิริราช” โรงพยาบาลอันดับหนึ่งของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          แต่สามารถเข้ารับการรักษาที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และทันสมัยเทียบเท่า

          ภายหลังจากเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการเปิดตัว “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม” ณ โรงพยาบาลศิริราช ต่อมาไม่นานในปีเดียวกัน ได้มีการเปิดรักษาด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยดังกล่าวเช่นกันที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ในอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าเอกชน และผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายผ่านกรมบัญชีกลางได้ตามระเบียบราชการ โดยมีส่วนเกินบางส่วน


นายแพทย์นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และรองหัวหน้าฝ่ายการแพทย์แผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

          ผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมระยะที่ 4 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้แก่ การปรับพฤติกรรม การออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก และจำเป็นต้องผ่าตัด สามารถมาติดต่อขอเข้ารับการวินิจฉัยเพื่อรักษาด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียมดังกล่าวได้

          ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียมจะช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บน้อยลง และเสียเลือดน้อยลง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

          โดยหลังเข้ารับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เพียง 2 – 3 วัน พบว่าผู้ป่วยสามารถฝึกเดิน ทำกายภาพ และกลับบ้านได้

          ความอัจฉริยะของหุ่นยนต์ที่น่าสนใจ คือ ความแม่นยำสูงซึ่งสามารถผ่าตัดกระดูกได้ละเอียดถึง 0.5 องศา และบางกว่า 1 มิลลิเมตร ในขณะที่การผ่าตัดแบบธรรมดาสามารถตัดกระดูกได้บางที่สุดเพียง 2 มิลลิเมตร

          อย่างไรก็ดี ในฐานะแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมาอย่างยาวนาน นายแพทย์นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ ก็ยังคงยืนยันให้ทุกท่านใส่ใจสุขภาพของตัวเองให้ดี ก่อนที่จะต้องมาพบแพทย์เมื่อสาย

          เพียงหมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขา ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยพยุงข้อเข่า รวมถึงบริเวณรอบข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรใช้งานข้อเข่าอย่างเหมาะสม ระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ ยกของหนักผิดท่า

          และที่สำคัญที่สุดควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ก็จะสามารถป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ โดยไม่ต้องใช้ยา

          ท่าบริหารเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมที่แนะนำ ได้แก่ การนั่งบนเก้าอี้แล้วยกขาขึ้นในแนวขนานกับพื้น ให้ข้อเข่า และขาเหยียดตรง พร้อมกับเกร็งบริเวณต้นขา แล้วนับ 1 ถึง 10 อย่างช้าๆ หรือประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยๆ ลดขาลง ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง ต่อ 1 เซ็ท วันละ 2 – 3 เซ็ท

          สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่าเรื้อรัง สามารถติดต่อเพื่อขอเข้ารับการวินิจฉัยได้ในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 12.00 น. คลินิกพิเศษ วันจันทร์ อังคาร พุธ เวลา 16.00 – 20.00 น. นายแพทย์นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ นายแพทย์ตะวัน อินทิยนราวุธ นายแพทย์ชัยวัฒน์ อาชวกุลเทพ หน่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ คลินิกข้อเข่าเทียม

          สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-2849-6600 ต่อ 2161 คลินิกพิเศษ โทร. 0-2849-6600 ต่อ 2160, 2164 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author