Int-Ball หุ่นยนต์ช่างภาพสุดเจ๋ง ผู้ช่วยนักบินอวกาศบันทึกทุกช่วงเวลาสำคัญในสถานีอวกาศนานาชาติ

เรื่องโดย ปริทัศน์ เทียนทอง


การแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ The 5th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้จบลงอย่างสวยงามพร้อมกับการคว้าแชมป์ของทีมเยาวชนไทย ที่ครั้งนี้ได้เดินทางไปร่วมการแข่งขันและรับชมภาพวิดีโอการปฏิบัติภารกิจของหุ่นยนต์ Astrobee ที่ส่งตรงจากสถานีอวกาศนานาชาติมายังศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นของการแข่งขันบนสถานีอวกาศนานาชาตินั้นถูกบันทึกไว้ทั้งหมดโดย ‘Int-Ball 2’ หุ่นยนต์ทรงกลมตาแป๋วสุดน่ารักที่เพิ่งประเดิมภารกิจแรกในครั้งนี้

การบันทึกภาพกิจกรรมในส่วนที่เป็นโมดูลการทดลองของญี่ปุ่นหรือ Kibo Module บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่ผ่านมานั้นนักบินอวกาศต้องใช้เวลามากถึง 10% ของชั่วโมงการทำงานเพื่อเตรียมกล้องและดำเนินการถ่ายภาพ ทั้งยังมีข้อจำกัดอื่น ๆ อีกหลายอย่าง องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) จึงได้ริเริ่มพัฒนาหุ่นยนต์ทรงกลมล้ำสมัย “Int-Ball” (JEM Internal Ball Camera) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดย Int-Ball ได้รับการออกแบบให้เป็น “ช่างภาพอวกาศ” สามารถบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวภายในสถานีอวกาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเดินทางของ Int-Ball เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2017 โดยถูกส่งขึ้นไปกับยานอวกาศ Dragon ของ SpaceX ในภารกิจส่งเสบียง CRS-11 เมื่อ Int-Ball เดินทางถึง ISS ก็ได้เข้าประจำการที่ Kibo Module ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอวกาศของญี่ปุ่น

หุ่นยนต์ Int-Ball มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 15 เซนติเมตร น้ำหนักเบาแค่ 1 กิโลกรัม ไม่ได้เป็นเพียงกล้องบันทึกภาพธรรมดา หากแต่เป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะที่รวบรวมเทคโนโลยีล้ำสมัยไว้มากมาย เช่น ระบบขับเคลื่อนที่ช่วยให้เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ระบบหมุน 360 องศาเพื่อจับภาพได้ทุกมุมมอง และระบบส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้ผู้ควบคุมภาคพื้นดินสามารถรับชมภาพจาก ISS ได้โดยตรง

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้งาน Int-Ball ช่วยลดภาระงานของนักบินอวกาศได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบันทึกภาพและวิดีโอ ซึ่งเดิมต้องใช้เวลาและความพยายามของนักบินอวกาศในการจัดเตรียมและควบคุมกล้อง แต่ด้วย Int-Ball เพียงแค่สั่งการจากภาคพื้นดิน หุ่นยนต์ก็จะทำหน้าที่เก็บภาพตามต้องการโดยอัตโนมัติ

จากประสบการณ์ในการใช้งาน Int-Ball รุ่นแรก ทีมวิศวกร JAXA ได้นำข้อมูลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุง พัฒนา และยกระดับ จนเกิดเป็น Int-Ball 2 ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม มาพร้อมกับแบตเตอรี่และพัดลมที่ทรงพลังยิ่งกว่าเดิม ช่วยให้ Int-Ball 2 เคลื่อนที่ได้คล่องแคล่ว รวดเร็ว และมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงมีกล้องที่สามารถถ่ายภาพได้รอบทิศทางแบบเดียวกับรุ่น Int-Ball

Int-Ball 2 ถูกส่งขึ้นไปประจำการบน ISS ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 โดยยาน Dragon CRS-28 ของ SpaceX และยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักบินอวกาศ ช่วยบันทึกภาพ วิดีโอ และส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์กลับมายังศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินที่ศูนย์อวกาศสึกุบะของ JAXA

การพัฒนาจาก Int-Ball สู่ Int-Ball 2 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ JAXA ในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนภารกิจในอวกาศ  และเป็นเครื่องยืนยันว่า Int-Ball จะเป็นกำลังสำคัญในการสำรวจอวกาศในอนาคตอย่างแน่นอน

สำหรับภารกิจแรกที่ใช้งาน Int-Ball 2 อย่างเป็นทางการคือ การแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ  Astrobee ของ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ในโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 5 (The 5th Kibo-RPC) ซึ่งมีเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันและสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา (รายละเอียดข่าว https://www.nstda.or.th/r/1cKWm)

การปรากฏตัวร่วมกันของ Int-Ball 2 และ Astrobee บน ISS นับเป็นครั้งแรกที่หุ่นยนต์ทั้งสองตัวบินร่วมกันในภารกิจเดียวกัน โดย Int-Ball 2 ทำหน้าที่บันทึกวิดีโอหุ่นยนต์ Astrobee ขณะทำภารกิจอยู่ในช่วงเวลาการแข่งขัน และประสบความสำเร็จในการส่งภาพการแข่งขันแบบเรียลไทม์ไปยังศูนย์อวกาศสึกุบะซึ่งมีนักเรียนเฝ้าดูการแข่งขันจากภาคพื้นดิน ทั้งนี้ Astrobee เป็นหุ่นยนต์ทรงลูกบาศก์ขนาดเล็ก มีจุดเด่นคือสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยใช้พัดลมไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน Astrobee ติดตั้งกล้อง เซ็นเซอร์ และแขนกล เพื่อใช้ในการตรวจสอบอุปกรณ์ ขนส่งสิ่งของ และช่วยเหลืองานบำรุงรักษาต่าง ๆ ภายในสถานีอวกาศ

การทำงานร่วมกันระหว่าง Int-Ball 2 และ Astrobee เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ JAXA  แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์ทั้งสองสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนนักบินอวกาศบน ISS และอาจมีบทบาทสำคัญต่อภารกิจสำรวจอวกาศในอนาคต


ข้อมูลอ้างอิง

About Author