ม.มหิดล ติด Top100 สาขาโรคติดเชื้อ และภูมิคุ้มกัน US News & World Report Rankings 2022

          เมื่อเร็วๆ นี้ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก US News & World Report Rankings 2022 มหาวิทยาลัยมหิดล ติด Top100 ถึง 2 สาขา คือ อันดับที่ 48 ของโลกในสาขาโรคติดเชื้อ (Infectious Diseases) และอันดับที่ 81 ของโลกในสาขาภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology) ซึ่งโครงการวิจัยระดับเมกะโปรเจค “ภาวะการดื้อยาต้านมาลาเรียของชีวโมเลกุลในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทศวรรษที่ผ่านมา” ซึ่งสามารถคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีงบประมาณ 2564 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถือเป็นหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ส่งผลให้ติด Top100 ถึง 2 สาขาดังกล่าว

          ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ หัวหน้าภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ผู้ทุ่มเทเวลานับทศวรรษในการเก็บกว่า 10,000 ตัวอย่างตัวบ่งชี้ทางชีวโมเลกุล (Biomarker) จากประชากรในพื้นที่เสี่ยงดื้อยาต้านไข้มาลาเรียทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ โรคไข้มาลาเรียยังมีการแพร่ระบาดทั่วโลกในอัตราที่สูงพอๆ กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19


ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์
หัวหน้าภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
หัวหน้าโครงการวิจัย “ภาวะการดื้อยาต้านมาลาเรียของชีวโมเลกุลในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทศวรรษที่ผ่านมา”
รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีงบประมาณ 2564 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

          ซึ่ง 10 ปีที่ได้ดำเนินการวิจัย ส่งผลให้นักศึกษาปริญญาโท-เอกที่ร่วมทำวิทยานิพนธ์กับโครงการฯ ทั้งที่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล และจากสถาบันต่างชาติที่ร่วมวิจัยกว่า 20 รายได้ไปถึงฝั่งฝัน โดย ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ ได้เล่าถึงบทบาทของทีมวิจัยและนักศึกษาว่า ต้องประสบกับความยากลำบากในการลงพื้นที่ห่างไกลเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำมาทดสอบทางชีวโมเลกุลต่อในห้องปฏิบัติการ ที่เป็นความร่วมมือจาก 25 หน่วยงาน หรือสถาบัน จากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน โดย หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล – ออกซ์ฟอร์ด เป็นแกนหลัก

          จากความสำเร็จดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัย ซึ่งแม้ในอนาคตจะมีโรคอุบัติใหม่ใดๆ เกิดขึ้นอีกก็ตาม หากนักวิจัย และประชาชนตื่นตัวและติดตามสถานการณ์โลก และพร้อมปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ก็จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติและเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ซึ่งไข้มาลาเรีย ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมาย SDGs3 ของสหประชาชาติ ที่มุ่งกำจัดให้หมดไปจากโลกภายในปีพ.ศ.2573 นี้ เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 10 ปีแล้ว จึงควรต้องมีการเร่งเครื่องและบูรณาการที่ถึงพร้อมด้วยองค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการทำวิจัยให้ยั่งยืนต่อไป


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ออกแบบแบนเนอร์โดย
วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author