ม.มหิดล นำร่องห่มชุมชนด้วยความสุขมวลรวม และหลักจิตตปัญญา

          นอกเหนือไปจากการสร้าง “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product : GNP)” ที่ผ่านมาทั่วโลกได้หันมาให้สำคัญต่อ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness : GNH)” กันมากขึ้น

          โดยเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า “ความสุขอันยั่งยืน” ไม่ได้มาจากความเจริญทางวัตถุเพียงด้านเดียว แต่พึงอยู่บนพื้นฐานของความเจริญทางด้านจิตใจร่วมด้วย

          และเมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับ “จิตตปัญญา” จะทำให้ไม่ว่าเรื่องใดๆ ที่เป็น “ผงเข้าตา” จะสามารถล้างออกได้ด้วย “หัวใจของความเป็นมนุษย์”

          อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าที่ผ่านมาทุกพันธกิจของวิทยาเขตฯ ให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบของวิทยาเขตฯ และพร้อมเป็นที่พึ่งให้แก่คนในชุมชน


อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์
รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          การใช้หลัก GNH ผนวกกับแนวคิดจิตตปัญญา มองปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนโดยใช้ “9 มิติ GNH” ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านการศึกษาที่ดี สุขภาวะที่ดี จิตใจที่ดี การใช้เวลาในชีวิตที่เหมาะสม ต้นทุนที่ดีทางวัฒนธรรม การใช้หลักธรรมาภิบาลพลังชุมชน ความเข้มแข็งทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัจจัยทางเศรษฐกิจ จะทำให้สามารถมองปัญหาในองค์รวมได้อย่าง “คมชัด” ยิ่งขึ้น

          โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือชุมชนให้ผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ด้วยองค์ความรู้ที่พร้อมมอบเพื่อนำไปสู่หนทางของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วยปัญญาตลอดเวลาที่ผ่านมา

          โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดอบรมผู้นำชุมชนโดยรอบวิทยาเขต เพื่อมอบหลัก 9 มิติ ตามแนวคิด เรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness : GNH)” พร้อมเสริมทัพด้วยกระบวนการจิตตปัญญานำร่องขยายผลในวงกว้างสู่หนทางแห่งปัญญาในการดำเนินชีวิตด้วยความสุขที่ยั่งยืน วิทยาเขตนครสวรรค์ตั้งใจตอบโจทย์ชุมชนท้องถิ่น

          โดยเชิญหน่วยงานโดยรอบวิทยาเขตฯ 4 พื้นที่ ประกอบไปด้วย อบต.เขาทอง และ รพ.สต.เขาทอง อบต.ยางขาว และ รพ.สต.ยางขาว อบต.ย่านมัทรี และ รพ.สต.หาดสะแก อบต.เขากะลา และ รพ.สต.สระบัว ใช้เครื่องมือจิตตปัญญา เพื่อมองผ่านการเล่าคุณค่าความภูมิใจในชุมชนตนเอง บอกถึง “สิ่งที่ขาดหาย” และ “อยากเพิ่ม” ในชุมชน แบ่งปันความฝันถึง “ชุมชนที่ดีกว่า” ในอนาคต โดยให้ อบต. และ รพ.สต. แต่ละพื้นที่ได้ร่วมระดมความคิด-วาดฝัน “ชุมชนในฝัน”

          โดยอาจารย์โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมสนับสนุนชุมชน สร้างภาพฝันร่วมรับรู้ถึงความภูมิใจของคนทำงานชุมชน ได้สัมผัสตัวจริงเสียงจริง เกิดคำถาม เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการรับฟัง สู่การมองอย่างรอบด้านเป็นองค์รวมของชีวิต ทั้ง 4 ชุมชน

          ย้อนมองความสุขของตนและชุมชนผ่านแว่นตา ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ (The 9 Domain of Gross National Happiness) 1.สุขภาวะทางจิตใจ 2.สุขภาพ 3.การใช้เวลา 4.การศึกษา 5.ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม 6.ธรรมาภิบาล 7.พลังชุมชน 8.ความเข้มแข็งทางนิเวศสิ่งแวดล้อม และ 9.มาตรฐานการครองชีพ ออกมาเป็น GNH spider web ที่มีมุมมองของคนในขุมชน และมุมมองของคนนอกจากอาจารย์วิทยาเขตนครสวรรค์ที่ขยายขอบเขตการเรียนรู้ของทั้งสองฟากฝั่ง เกิดเป็นหัวข้อโครงร่างความร่วมมือพัฒนาความสุขของชุมชน จากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

          ตัวอย่างเช่น ชุมชนตำบลยางขาว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ สนใจแนวความคิด “ศูนย์ 3 วัย” ที่ต้องการจะดูแลคนในชุมชนทุกช่วงวัยให้มีความสุข

          ชุมชนตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เดิมเป็นแหล่งชุมชนของ “ชาวมอญอพยพ” ที่ชอบร้องรำทำเพลงเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นที่มาของ “รำชี้บท” หรือ “รำวงเขาทอง” ซึ่งเป็นการร้องและรำโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวโดยแต่งเนื้อและทำนองให้เข้ากับจังหวะโทน แต่มีการแสดงลีลาท่าทางที่ชัดเจนกว่า ไม่ว่าจะเป็นบทรัก หรือชี้นิ้วไม่พอใจ

          และที่พบได้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยในประเพณีสงกรานต์ ได้แก่ “การละเล่นจับข้อมือสาว” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ชายหนุ่มหญิงสาวได้พบปะพูดคุยรู้จักกันด้วยความสุภาพเรียบร้อยในสายตาผู้ใหญ่

          ชาวชุมชนตำบลเขาทองต้องการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมดังกล่าว ถือเป็น “รากเหง้า” ของชุมชน ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ “ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนให้เกิดความประทับใจ พร้อมทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไปได้ในขณะเดียวกัน

          ด้วยพลังของชุมชนที่มีต้นทุนที่ดีทางวัฒนธรรม จะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชน และด้วยองค์ความรู้ที่ดี จะยิ่งทำให้ชุมชนสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น และพร้อมเป็น “ต้นแบบ” ขยายผลสู่ปวงชนชาวไทยทั่วประเทศได้ต่อไปในอนาคต

          มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “พี่เลี้ยงนำองค์ความรู้” อันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ห่มชุมชนด้วย “ความสุขมวลรวม” และ “หลักจิตตปัญญา” และก้าวเดินเคียงข้างปวงชนชาวไทยไปด้วยกันจนถึงทุกที่หมายปลายทาง

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author