รัมฟิอุส-ชายตาบอดผู้เป็นยอดนักพฤกษศาสตร์

เรื่องโดย
โสมชยา ธนังกุล


          วิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ซึ่งสะสมโดยมนุษยชาติ ด้วยความเสียสละของคนรุ่นก่อน ผู้เล็งเห็นความสำคัญของความรู้ จึงสู้อุตส่าห์ เสาะหาความรู้มา นักดาราศาสตร์ยอมอดหลับอดนอนเพื่อส่องกล้องแสวงหาดวงดาวบนนภาอันกว้างใหญ่ไพศาล นักพฤกษศาสตร์ยอมเสี่ยงชีวิตผจญภัยไปในดินแดนซึ่งไม่มีผู้ใดเคยไปถึง เพื่อให้ได้มาซึ่งพรรณพฤกษชาติกลางป่าลึก ที่รอการค้นพบโดยนักปราชญ์ผู้กล้า

          ในครั้งกระโน้น ความรู้มิใช่ได้มาด้วยตำรา ทว่าอาศัยความกล้าหาญ ทรหด อดทน แม้กลายเป็นคนชรานัยน์ตามองไม่เห็นยังสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์ตำนานประดับวงการพฤกษศาสตร์ระดับโลก

          จอร์จ เอเบอร์ฮาร์ด รัมฟิอุส (Georg Eberhard Rumphius) คือนักพฤกษศาสตร์ผู้เป็นแบบอย่างของคำว่า เหนือกว่าอัจฉริยะคือหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ เขาคือผู้เรียบเรียงตำราพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อว่า Herbarium Amboinense เป็นตำราทางพฤกษศาสตร์ซึ่งมีภาพประกอบพร้อมรายละเอียดของพืชถึง 1200 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นพืชที่มีชื่อในระดับสปีชีส์ 930 ชนิด มีชื่อในระดับจีนัส(สกุล) 140 ชนิด ในเวลาต่อมา ข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ของรัมฟิอุสมีส่วนสนับสนุนให้บิดาแห่งวิชาอนุกรมวิธานคือคาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) สร้างรากฐานการจัดจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตด้วยระบบทวินาม (binomial scientific classification) อันใช้กันมาตราบเท่าทุกวันนี้ นอกจากนี้ในหนังสือของรัมฟิอุสยังสอนพื้นฐานการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ไว้ให้นักพฤกษศาสตร์รุ่นหลัง

          ผลงานของรัมฟิอุสถูกคนรุ่นต่อมาใช้เป็นเอกสารอ้างอิงจวบจนปัจจุบัน แต่กว่าตำราชุดนี้จะได้ตีพิมพ์ รัมฟิอุสก็จากโลกนี้ไปเป็นเวลาถึง 39 ปี! เขาจึงไม่มีโอกาสเห็นผลงานของตนเองได้ตีพิมพ์เผยแพร่แก่สาธารณชน

          ตลอดเวลาที่รัมฟิอุสมีลมหายใจบนโลกใบนี้ เขาต้องเผชิญอุปสรรคขวากหนามนานัปการ นับตั้งแต่ อายุ 19 ปี เขาลงเรือชื่อ The Black Raven เพื่อจะเดินทางไปยังประเทศบราซิล  แม้ว่าในเวลานั้น ประเทศดัทช์กับประเทศโปรตุเกสกำลังสู้รบติดพันกันในน่านน้ำ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรดานักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์ผู้ละทิ้งชีวิตอันสุขสบายหายไปลงเรือเพื่อแสวงหาดินแดนต่างๆนั้นกล้าหาญปานใด ในสมัยซึ่งวิทยาการเดินเรือยังล้าหลัง ชีวิตทั้งลำเรือฝากไว้กับดาวเหนือเพียงดวงเดียว มีเพียงคนโชคดีที่จะรอดชีวิตกลับมาอย่างสง่างาม ส่วนผู้ที่โชคร้ายก็ไปตายเป็นผีเฝ้าทะเลไม่รู้กี่พันศพ ในครั้งกระนั้น นาวาThe Black Raven พารัมฟิอุส ไปไม่ถึงฝั่งของประเทศบราซิล  จะด้วยว่าเรือแตกหรือถูกดักจับอยู่กลางทางไม่ปรากฎ คนรุ่นหลังทราบเพียงว่า เขาต้องขึ้นฝั่งอยู่ยังประเทศโปรตุเกส เป็นเวลานานถึง 3 ปี

          ต่อมาเมื่ออายุ เพียง 43 ปี  รัมฟิอุสได้สูญเสียการมองเห็นภายหลังจากป่วยเป็นโรคตาแข็ง (glaucoma) ด้วยดวงตาอันมืดบอด ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น รัมฟิอุสยังคงทำต้นฉบับตำรา 6 เล่มจบ เคราะห์กรรมอันซ้ำซัดยังคงทดสอบความแข็งแกร่งคงทนทางจิตใจของนักพฤกษศาสตร์คนนี้ ด้วยการพรากบุตรภรรยาของเขาไปในเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนเกิดคลื่นสึนามิเมื่อรัมฟิอุส อายุ 47 ปี

          13 ปีต่อมาเมื่อ รัมฟิอุสอายุ 60 ปี ขณะที่หนังสือของเขาใกล้เสร็จสมบูรณ์ ภาพประกอบเกิดสูญหายไปในกองเพลิง! แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะรัมฟิอุสกับผู้ช่วยของเขาสามารถทำหนังสือสำเร็จจนได้ใน  อีก 3 ปีต่อมา ทว่า โชคชะตายังไม่หยุดเล่นตลกกับรัมฟิอุส นาวาที่พาต้นฉบับของเขาให้บริษัท the East India Company ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ถูกโจมตีโดยเรือจากประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งจมลง รัมฟิอุสกับผู้ช่วยจึงต้องตั้งหน้าตั้งตาทำตำราขึ้นมาใหม่โดยใช้ต้นฉบับซึ่งทำสำเนาเก็บเอาไว้

          ในที่สุด ต้นฉบับหนังสือ Herbarium Amboinense ก็เดินทางไปถึงประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ.1696 ขณะที่รัมฟิอุสอยู่ในวัย 69 ปี โดยไม่เคยมีโอกาสมองเห็นตำราที่ตนเองทำขึ้นมากับมือ เจ้าหน้าที่ในบริษัท the East India Company พิจารณา ต้นฉบับหนังสือ Herbarium Amboinense ของรัมฟิอุสแล้วลงความเห็นว่า มีข้อความที่ไม่สมควรนำไปตีพิมพ์ อาจเป็นไปได้ว่า รัมฟิอุสเคยช่วยชาวพื้นเมืองอินโดนีเซียต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม เพราะในอีกบทบาทหนึ่งเขาคือนักชาติพันธุ์วิทยาผู้เป็นที่รู้จักกันดี

          สุดท้าย ต้นฉบับหนังสือ Herbarium Amboinense ของรัมฟิอุสจึงถูกวางกองทิ้งเอาไว้โดยไม่มีคนสนใจ จนกระทั่งรัมฟิอุสจากโลกนี้ไปในวัย 77 ปี เมื่อปีค.ศ.1704 ชาวโลกต้องรอเป็นเวลาถึง 39 ปีกว่าที่ ตำราเล่มนี้จะได้รับการตีพิมพ์ ภายหลังการเสียชีวิตของรัมฟิอุสเป็นเวลา 39 ปี!

          ในสมัยโบราณ การทำตำราพฤกษศาสตร์สักเล่มหนึ่งนั้น เป็นงานที่ต้องอุทิศชีวิตกันทีเดียว เพราะนอกจากเนื้อหาจะต้องเที่ยงตรงแม่นยำ ภาพประกอบก็มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าเนื้อหา ในสมัยที่ยังไม่มีกล้องถ่ายภาพ นักพฤกษศาสตร์บางคนมีความสามารถในการวาดภาพประกอบต้นไม้ซึ่งใช้ botanical art ที่มีนิยามว่า“เที่ยงตรงและคงความงาม”-“accurate and beautiful”มันเป็นภาพสะท้อนถึงทักษะอันเกิดจากการฝึกฝนของ botanical artist-จิตรกรผู้สร้างสรรค์พรรณพฤกษา

          เขาเหล่านี้ บ้างก็เป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียง บ้างเป็นเพียงจิตรกรพื้นเมือง ผู้ไม่ประสงค์จะลงนามไว้ในภาพวาด ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นจิตรกรนิรนามมาตราบเท่าทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี วิธีการใช้พู่กันของพวกเขาบอกเล่าอิทธิพลของความเป็นคนเอเชียเอาไว้ในภาพซึ่งเขาวาดให้กับนักสะสมต้นไม้ชาวยุโรป

          การวาดภาพต้นไม้ใบหญ้าเพื่อนำมาตีพิมพ์ในตำราพฤกษศาสตร์นั้น จิตรกรต้องแสดงส่วนต่างๆทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ตลอดจนเมล็ด ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลังอย่าง 3 มิติ ของอวัยวะทุกส่วนของพืช แสดงกลีบดอกทุกกลีบ เกสรทั้ง 2 เพศ รากแก้ว รากฝอย ผลสุก ผลดิบ การแตกแขนงของเส้นใบ ไปจนถึงเสี้ยนหนามตามกิ่ง จนกระทั่งถึงหัวหรือลำต้นใต้ดิน

          การบันทึกรูปพรรณสัณฐานของพันธุ์ไม้โดยใช้ภาพ มีข้อได้เปรียบกว่าการเก็บตัวอย่างแห้งที่เรียกว่า specimen ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของบรรดาแมลงแมงมอด ภาพวาดนั้นปลอดจากเชื้อรา ที่มาจู่โจมได้โดยอาศัยความชื้น อีกทั้งภาพวาดยังขนส่งได้ง่าย ในสมัยที่มีเพียงสำเภาเป็นพาหนะในการคมนาคมลำเลียงต้นฉบับไปตีพิมพ์ข้ามทวีป ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรดาผู้แต่งตำราพฤกษศาสตร์เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงเพียงไร บางคนจ้างจิตรกรถึง 5 คน เพื่อเขียนภาพประกอบหนังสือของตน

          โชคดีที่นักพฤกษศาสตร์เหล่านี้มักมีอาชีพหลัก เช่น เป็นศัลยแพทย์ นักการเมือง นักอุตุนิยมวิทยา พวกเขายอมอุทิศเงินทอง เวลา ตลอดจนมันสมอง เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการของวงการพฤกษศาสตร์โดยแท้  แต่มีเพียงคนเดียวที่เป็นคนตาบอด เขาคือยอดนักพฤกษศาสตร์ผู้มีนามว่า จอร์จ เอเบอร์ฮาร์ด รัมฟิอุส


จอร์จ เอเบอร์ฮาร์ด รัมฟิอุส(Georg Eberhard Rumphius)

เป็นชาวเยอรมัน  เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1627  เสียชีวิตเมื่อวันที่  15 มิถุนายน ค.ศ.1702

เป็นนักพฤกษศาสตร์ของบริษัท the Dutch East India Company ซึ่งปฏิบัติภารกิจอยู่ตามหมู่เกาะในแถบประเทศอินโดนีเซีย ข้อมูลซึ่งได้ในช่วงเวลาที่ทำการสำรวจพรรณไม้ให้แก่บริษัทนี้ ต่อมา ภายหลังสูญเสียดวงตา รัมฟิอุสกับผู้ช่วยได้นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ Herbarium Amboinense

เอกสารอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/w/index.php?title=Georg_Eberhard_Rumphius&oldid=608272911

Martyn Rix.Botanical Illustration in China and India.American Scientist.(July-August 2013): 301-307.

About Author