ดร.จำลอง เพ็งคล้าย กับตำนานการสำรวจทางพฤกษศาสตร์

เรื่องโดย โสมชยา ธนังกุล


 

          “การเรียนรู้เรื่องการจัดจำแนกพรรณพืช (Taxonomy) เป็นขั้นสุดของการเรียนวิชาพฤกษศาสตร์ เพราะจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของการเรียนวิชานี้ ก็เพื่อที่จะรู้จักพรรณพืชต่างๆ โดยถูกต้องแน่นอน”

(ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ราชบัณฑิตประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ)

 

โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand)

          เป็นโครงการวิจัยด้านพฤกษอนุกรมวิธานหรืออนุกรมวิธานพืช (Plant Taxonomy) ระดับนานาชาติ เพื่อศึกษาพรรณพืชที่มีท่อลำเลียง (vascular plants) ในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลไปตีพิมพ์ในหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) อันเป็นหนังสือสำรวจพรรณพฤกษชาติที่จัดทำโดยเจ้าของประเทศเพียงเล่มเดียวในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้น ส่วนหนังสือสำรวจพรรณพฤกษชาติในประเทศอื่นๆ ล้วนจัดทำโดยชนชาติที่เข้ามาปกครอง อาทิเช่น Flora of Java ของอินโดนีเซียจัดทำโดยชาว เนเธอร์แลนด์  Flora of Burma ของพม่า จัดทำโดยชาวอังกฤษ Flora of Indo-China ของลาว-เขมร-เวียดนาม จัดทำโดยชาวฝรั่งเศส ทั้งนี้ชาวตะวันตกมีจุดประสงค์หลักในการสำรวจพรรณไม้ในประเทศเมืองขึ้น เพื่อนำทรัพยากรกลับไปใช้ในประเทศของตน ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ จึงมีแนวคิดจะจัดทำ Flora of Thailand โดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจและเก็บพันธุ์ไม้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างนักพฤกษศาสตร์ไทยกับนักพฤกษศาสตร์ต่างชาติ อาทิเช่น เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, อังกฤษ, ฝรั่งเศส อเมริกา และญี่ปุ่น โครงการนี้ไปสำรวจพรรณไม้ในภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย เช่นภาคอีสานไปภูกระดึง ภาคตะวันออกไปเขาสอยดาว ภาคใต้ไปเขาหลวง ภาคเหนือไปดอยอินทนนท์

          ดร.จำลอง เพ็งคล้าย ผู้เป็นทั้งลูกศิษย์และลูกน้องของ ศ.ดร.เต็ม (ทำงานด้วยกันนาน 15 ปี) ย้อนอดีตให้ฟังว่า

          ในสมัยนั้น (ราวปีพ.ศ. 2507) สำนักงานหอพรรณไม้มีรถจี๊ปเพียง 1 คัน ทีมงานสำรวจพรรณไม้ไปกัน 4 คน ศ.ดร.เต็ม นั่งหน้าคู่กับคนขับ  ดร.จำลอง นั่งเบาะหลังกับศ.ดร.ธวัชชัย สันติสุข และอาจารย์ชุมศรี ชัยอนันต์  ภายในรถเต็มไปด้วยข้าวสารและเนื้อเค็มสำหรับการเดินทางแรมเดือน ถนนหนทางส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง หลายครั้งต้องไปขอพักแรมตามบ้านกำนันเพราะไม่มีที่พักกลางทาง

          ทีมสำรวจต้องอดทนกับแสงแดดอันแผดจ้า  อากาศหนาวจนน้ำค้างเป็นน้ำแข็ง หากไปทางใต้ต้องโรยขี้เถ้าเอาไว้รอบเต็นท์ โรยยาเส้นไว้ในขาพับกางเกงเพื่อป้องกันทากดูดเลือดอันชุกชุมบางครั้งต้องลงพื้นที่เดิมซ้ำ ในกรณีที่พืชยังไม่ออกดอก เพราะดอกเป็นส่วนซึ่งใช้บ่งบอกชนิดของพืชได้ดี คณะสำรวจเก็บตัวอย่างพรรณไม้ (specimen) ไว้ในแผงอัดพันธุ์ไม้ ก่อนทำให้แห้งโดยการนำไปย่างบนกองไฟ (ในสมัยนั้นยังไม่มีการดองตัวอย่างพืชด้วยแอลกอฮอล์) การเก็บพรรณไม้ในแผงต้องทำให้เสร็จใน 1 วัน

          พอพลบค่ำต้องอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงเจ้าพายุ พอรุ่งเช้า รีบตื่นตั้งแต่ตี 5 มาเปลี่ยนกระดาษรองตัวอย่างในแผงอัดพันธุ์ไม้ ในวันหยุดราชการ ดร.จำลองจะสเก็ตช์ภาพตัวอย่างพืชโดยมีภรรยาซึ่งจบจากวิทยาลัยเพาะช่างเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ขั้นตอนที่ยากที่สุด คือการบ่งบอกชนิดของพืช ( Identify) โดยตรวจสอบกับตัวอย่างพรรณไม้ในต่างประเทศ การส่งตัวอย่างพรรณไม้ไปทางรถมักประสบปัญหาบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง ต่อมา ทีมงานจึงแก้ปัญหาโดยการส่งตัวอย่างพรรณไม้ไปทางเรือ

          การสำรวจพรรณไม้เพื่อจัดทำหนังสือ Flora of Thailand จะต้องเก็บตัวอย่างพืชให้ได้ 80 % ของพรรณไม้ในป่าที่มีมากกว่า 4 หมื่นชนิด พืชแต่ละวงศ์ (Family) มีหลายสกุล (Genus) บางสกุลมี 40 ชนิด

          หลายครั้งต้องทำงานนอกเวลาราชการ คนไทยได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 20-30 บาท ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 60 บาท ทั้งนี้ ลิขสิทธิ์หนังสือ Flora of Thailand เป็นของกรมป่าไม้  ได้เงินค่าพิมพ์หนังสือ 500 เล่มแรก มาจากหน่วยราชการ เพื่อพิมพ์แจกจ่ายไปตามมหาวิทยาลัยและประเทศต่างๆที่ได้ให้ความร่วมมือ

การประชุมโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยครั้งแรก

          จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2507 ณ สวนพฤกษศาสตร์คิว (Royal Botanic Gardens, Kew) ประเทศอังกฤษ โดยกลุ่มนักพฤกษศาสตร์นานาชาติ สำหรับประเทศไทย กรมป่าไม้ ได้ส่งผู้แทนคือศ.ดร.เต็ม สมิตินันท์ และดร.จำลอง เพ็งคล้าย เข้าร่วมประชุม เริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2510  ต่อมา จึงมีการจัดพิมพ์หนังสือ Flora of Thailand ในปี พ.ศ. 2513 โดยใช้ข้อมูลจากพรรณไม้ที่ไปสำรวจ ตัวอย่างพรรณไม้แห้งเหล่านี้ จะถูกนำไปเก็บไว้ในสำนักงานหอพรรณไม้

สำนักงานหอพรรณไม้ กรมป่าไม้

เป็นพิพิธภัณฑ์พืชที่มีตัวอย่างพรรณไม้แห้งจำนวนกว่า 2 แสนตัวอย่าง จากการสำรวจพรรณไม้ทั่วประเทศนับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้งกรมป่าไม้ ตัวอย่างพรรณไม้เหล่านี้เป็นแหล่งข้อมูลในการค้นคว้าวิจัยทางพฤกษศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ฯลฯ

ปัจจุบัน พืชหลายชนิดได้สูญพันธุ์ไป คงเหลือไว้เพียงตัวอย่างพรรณไม้ในสำนักงานหอพรรณไม้

ประวัติส่วนตัวของ ดร.จำลอง เพ็งคล้าย

  • เกิดวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2477 เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี บิดา-มารดาเป็นชาวนา
  • สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีพ.ศ. 2503
  • รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งหัวหน้าหมวดทำไม้กระยาเลย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
  • พ.ศ.2504  เป็นพนักงานป่าไม้ตรี แผนกพฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์ กองค้นคว้า กรมป่าไม้
  • พ.ศ.2534 ได้รับรางวัลศิษย์เก่าคณะวนศาสตร์ดีเด่น ในฐานะนักค้นคว้าวิจัยรุ่นอาวุโสที่มีผลงานดีเด่น
  • พ.ศ.2535 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ.2545 ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
  • พ.ศ.2538 เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำรวจและจำแนกพันธุ์ไม้ ระดับ 10

          หลังเกษียณอายุราชการ ดร.จำลอง ยังคงเดินทางด้วยรถสาธารณะมาปฏิบัติงานเหมือนสมัยยังรับราชการ และเป็นวุฒิอาสาธนาคารสมอง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ดร.จำลอง เป็นหัวหน้างานวิจัยด้านพืช ทำหน้าที่สำรวจรวมรวมพรรณพืชตามโครงการฯ เพื่อเก็บไว้ ในหอพรรณไม้เขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และเก็บรวบรวมพันธุ์พืชที่มีชีวิตตามโครงการฯ เพื่อนำไปปลูกไว้บน เกาะแสมสารภายในพื้นที่ซึ่งกองทัพเรือดูแลรับผิดชอบ คณะสำรวจของดร.จำลอง สำรวจพบผักกูดหางนกซึ่งเป็นเฟิร์นที่พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทยบนเกาะแสมสาร สมดังปณิธานของดร.จำลอง เพ็งคล้าย ซึ่งกล่าวว่า

ผมอยากให้คนไทยภูมิใจในทรัพยากรที่ไม่มีวันหมดไปจากประเทศไทย”

ผลงานด้านพฤกษศาสตร์

          ดร.จำลอง เพ็งคล้าย  มีผลงานการศึกษาวิจัยพรรณไม้ในหนังสือ Flora of Thailand อยู่หลายวงศ์ อาทิเช่น วงศ์ไม้มะเกลือ (Ebenaceae), วงศ์กัญชา (Cannabaceae), วงศ์ไม้มะกอกน้ำ (Elaeocarpaceae), วงศ์ไม้สน (Pinaceae), วงศ์ไม้นุ่น (Bombacaceae) วงศ์ไม้ก่อ (Fagaceae) ฯลฯ

          มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศมากกว่า 60 เรื่อง

          พ.ศ. 2526  ได้รางวัลผู้มีผลงานวิจัยทางพฤกษศาสตร์ดีเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติพ.ศ. 2532 ได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา-เข็มศิลปวิทยา และโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสืออนุกรมวิธานพืช ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์พฤกษศาสตร์

          เป็นผู้แต่งหนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯกับงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านป่าไม้, ความหลากหลายของพืชกับภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน, พรรณไม้ป่าพรุ จังหวัดนราธิวาส, พืชมีพิษบางชนิดในเมืองไทย ฯลฯ เป็นผู้ร่วมจัดทำหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ของศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์และหนังสือพรรณไม้ในสวนหลวง ร.9 เล่ม 2

Cleistocalyx phengklai P. Chantaranothai & J. Parn. คือต้นไม้ที่ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ ดร.จำลอง เพ็งคล้าย

 


เอกสารอ้างอิง

ดร.จำลอง เพ็งคล้าย .ราชบัณฑิต สาขาวิชาพฤกษศาสตร์.สัมภาษณ์,๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๘.

ก่องกานดา ชยามฤต.ประวัติการสำรวจค้นคว้าทางพฤกษศาสตร์ป่าไม้.ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์.หน้า 133.กรุงเทพมหานคร: บริษัท รำไทย เพรส จำกัด, 2538.  

https://www.dnp.go.th/botany/Herbarium/Herbarium_people/herbariumThai_Kasin.html

ขอขอบคุณ

คุณบำรุง คูหา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ อดีตผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมป่าไม้

คุณวิสูตร อยู่คง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9

คุณทนงศักดิ์ จงอนุรักษ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ และคุณวลัยพร วิศวชัยวัฒน์ เจ้าหน้าที่บริหารงาน สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

About Author