บ้านของปลาก้นอ่าวไทย ตอนที่ 2: ปลา 380 ชนิด จาก 91 วงศ์ และ 36 อันดับ

ชวลิต วิทยานนท์
จารุปภา วะสี สัมภาษณ์และเรียบเรียง


อ่านตอนที่ 1


          การสำรวจพรรณปลาก้นอ่าวไทยจนถึงปัจจุบัน พบปลา 380 ชนิดจาก 91 วงศ์ และ 36 อันดับ แบ่งตามนิเวศวิทยาทางน้ำและของปลาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ปลาน้ำกร่อยแท้ๆ (estuarine fishes) สำรวจพบ 279 ชนิด หรือราว 3 ใน 4 ของปลาทั้งหมด

          ปลากลุ่มนี้เป็นเจ้าถิ่นของโซนน้ำกร่อยใกล้ปากแม่น้ำ และแบ่งโซนกันอยู่ตามความเค็มของน้ำ เป็นโซนน้ำกร่อยมาก น้ำกร่อยน้อย บางชนิดพบเฉพาะในแม่น้ำ บางชนิดพบตามชายฝั่งและว่ายเข้าไปในแม่น้ำไปเป็นครั้งคราว เช่น กลุ่มปลาบู่ ที่พบตามป่าชายเลนที่เป็นหาดโคลน

  1. ปลาทะเลที่เข้ามาในโซนน้ำกร่อยเป็นครั้งคราว สำรวจพบ 101 ชนิด หรือราว 1 ใน 4 ของปลาทั้งหมด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

          2.1 ปลาที่มีชีวิตบางช่วงอยู่ในน้ำกร่อย บางช่วงอยู่ในทะเล (transient fishes) เช่น ตอนเป็นลูกปลาอยู่ในน้ำกร่อย เมื่อโตก็กลับไปวางไข่และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในทะเล หรือบางชนิดก็เข้ามาวางไข่ในน้ำกร่อย

          2.2 ปลาทะเลที่หลงเข้ามาเป็นครั้งคราว (marine visitors) เป็นปลาน้ำเค็มที่อยู่ในทะเลเปิด มหาสมุทร กองหิน หรือแนวปะการัง และแวะเวียนเข้ามาในโซนน้ำกร่อยบางครั้งในช่วงหน้าแล้งที่น้ำทะเลหนุนลึกเข้าไปในแม่น้ำ หรือช่วงที่กระแสน้ำจากมหาสมุทรพัดผ่านมาเข้ามาในอ่าวตอนใน มีทั้งที่ว่ายเข้ามาหากินตามกระแสน้ำบ้าง หรือซนว่ายหลงเข้ามาบ้าง

          ปลาหลายชนิดในกลุ่มนี้สร้างสีสันและความตื่นตาตื่นใจให้ผู้พบเห็นได้ไม่น้อย เช่น ตอนที่นักสำรวจวาฬบินโดรนพบปลากระเบนราหู (manta ray) ซึ่งเป็นกระเบนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปกติอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในทะเลเปิด มาว่ายเล่นอยู่กับวาฬที่ก้นอ่าวไทย หรือวันดีคืนดีเพื่อนนักสำรวจฉลามก็ส่งข่าวว่ามีฉลามวาฬ ซึ่งเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดและใกล้สูญพันธุ์ของไทย มาลอยเกยตื้นตายแถวอ่างศิลา การพบปลาตัวเล็กๆ อย่างม้าน้ำหรือเหาฉลามที่คงเกาะท้องวาฬเข้ามาในถิ่นนี้ การพบลูกปลาอินทรีที่บางครั้งก็เข้ามาเลี้ยงตัวในน้ำกร่อย ก่อนว่ายกลับออกไปอยู่ตามชายฝั่งทะเลเปิด รวมทั้งลูกปลาทู ที่เกิดในอ่าวไทยตอนกลาง และว่ายทวนกระแสน้ำตามสารอาหารและแพลงก์ตอนเข้ามาหากินและเติบโตที่ก้นอ่าวไทย

  1. ปลาน้ำจืดที่หลงน้ำออกมาในทะเล (freshwater vagrants) สำรวจพบ 3 ชนิด

          ปลากลุ่มนี้เป็นปลาน้ำจืดที่หลงมาในโซนน้ำกร่อยเวลามวลน้ำจืดจำนวนมากไหลออกทะเล เช่น พบปลาหมอ ปลาช่อน ปลาตะโกกหน้าสั้น ปนมาเวลาชาวประมงลากอวนและเจอปนในกองปลาเป็ด และเคยพบปลาสวายหนู ที่หมอสมิธรายงานว่าพบจากโป๊ะแถวปากน้ำด้วย จากที่ปกติมักพบในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใน ปลาส่วนใหญ่ที่หลงน้ำออกมาจะอยู่ได้พักเดียวก็ตาย ยกเว้นชนิดที่ทนมากๆ ก็อาจว่ายกลับเข้าไปได้

          นอกจากนั้นยังสำรวจพบปลาต่างถิ่นอีก 7 ชนิด (alien species) ที่คนเอามาเลี้ยงและปล่อยลงแม่น้ำ ทั้งที่ตั้งใจหรือหลุดออกมา ชนิดที่รุกรานสร้างปัญหาให้ระบบนิเวศและเศรษฐกิจ (invasive alien species) ของผู้เลี้ยงกุ้งคือ เจ้าปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron)

          ตัวเลขของชนิดปลาที่สำรวจพบบอกเราว่า บ้านหลังเล็กๆ ของปลาก้นอ่าวไทยที่มีพื้นที่ราวร้อยละ 0.01 ของพื้นที่ทะเลโลกแห่งนี้ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ซึ่งเกิดจากความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมที่ดีหรือเคยดีมาก เพราะนอกจากจะพบชนิด (species) จำนวนมาก ยังพบความหลากหลายเชิงอนุกรมวิธาน (taxonomic diversity) ด้วย ซึ่งดูได้จากอันดับหรือกลุ่มวงศ์ (order) ที่มีถึง 36 กลุ่มวงศ์ หรือมากกว่าร้อยละ 10 ของอันดับปลาในโลก และมีวงศ์ (family) จำนวน 91 วงศ์ ซึ่งถือว่าสูงเช่นกัน และจำนวนชนิดรวมแล้วก็มากกว่าร้อยละ 12 ของปลาที่พบทั้งประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นวงศ์ของปลาทะเลที่พบในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หลายชนิดคล้ายกับปลาน้ำกร่อยปากแม่น้ำโขง ทะเลสาบสงขลา ปากแม่น้ำของมาเลเซีย ซาบาห์ และซาราวัก กับอีกส่วนหนึ่งเป็นวงศ์ของปลาน้ำจืดลงมา

อ่านต่อฉบับหน้า



* บทความนี้เขียนในโอกาสการตีพิมพ์หนังสือ “พรรณปลาปากแม่น้ำของก้นอ่าวไทยตอนใน” โดยกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

About Author