อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้าแชมป์สุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ “FameLab Thailand 2021”

          เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการแข่งขันโครงการ “FameLab Thailand 2021” รอบชิงแชมป์ประเทศไทยทางออนไลน์ (สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/85hnd76VoA/) ซึ่งจัดขึ้นโดย บริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย อพวช. สวทช. สอวช. และกลุ่มทรู สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ หน่วยงานพาร์ทเนอร์ เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารให้แก่นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยไทย เป็นเวทีเฟ้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายหัวข้องานวิจัย หรือเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าติดตามภายในเวลา 3 นาที
 
          สำหรับการแข่งขัน FameLab Thailand ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 6 ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักศึกษาในสาขา STEM มาแล้วมากกว่า 240 คน
 
          สำหรับการแข่งขันในปีนี้ถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ โดยให้ผู้เข้าแข่งขันต้องเล่างานวิจัยหรือเรื่องราววิทยาศาสตร์ในความยาวไม่เกินคนละ 3 นาที โดยมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกมา 10 คนสุดท้าย ซึ่งได้ผ่านการอบรมในรอบ Master Class เพื่อเรียนรู้ทักษะการนำเสนอวิทยาศาสตร์กับผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร
 
 
          โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในโครงการ “FameLab Thailand 2021” วันเสาร์ที่ 18 ก.ย. 64 ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน คือ
  • คุณเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย
  • ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
  • ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มาร่วมตัดสินในการแข่งขันฯ ดังกล่าว
          ผลปรากฏว่าผู้ชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ ดร.สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในหัวข้อ The power of prediction amid the pandemic (พลังของการคาดการณ์ท่ามกลางโรคระบาด) โดยจะได้รับทุนเพื่อพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ แพ็คเกจพัฒนาความเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และถ้วยรางวัล มูลค่ารวม 100,000 บาท ทั้งนี้ยังได้คว้ารางวัล People’s Choice Award มาครองอีกหนึ่งรางวัล โดยได้รับอุปกรณ์ DJI หรือเทียบเท่ามูลค่า 5,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล
 
          สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายธีระพงษ์ พลตื้อ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในหัวข้อ Let me fix your bone! (ให้ผมช่วยซ่อมกระดูกของคุณ!) ได้รับทุนเพื่อพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มูลค่า 10,000 บาท และถ้วยรางวัล
 
          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวมัญชรี แสงเมือง จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาสื่อสารในหัวข้อHow climate change could impact future pandemics (ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมีผลต่อโรคระบาดในอนาคตอย่างไร) ได้รับทุนเพื่อพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มูลค่า 5,000 บาท และถ้วยรางวัล
 
          และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ นางสาวขวัญข้าว สิงหเสนี จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย และ RECOFTC ประเทศไทย กับหัวข้อ Forest for Food : triple F (ป่าไม้เพื่ออาหาร) ได้รับทุนเพื่อพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มูลค่า 2,500 บาท และถ้วยรางวัล
 
          และผู้ชนะเลิศในปีนี้จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมในการแข่งขัน FameLab International ที่จะถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ต่อไป
 

เรียบเรียงข้อมูลข่าวจาก อพวช.
https://bit.ly/3klcDpK

About Author