ปูทางนักศึกษา สู่หนทางแห่งความเป็นเลิศด้วยจริยธรรม

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบันนี้ ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีหรือดิจิทัล คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง และแสวงหาความรู้ข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว วันนี้เราจึงกำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลก ที่มีความรู้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้เสมอไป สิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคดิจิทัลกลับกลายเป็นหลักการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการตัดสินใจ

          อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำทักษะและความรู้มาใช้โดยไม่ได้คิดพิจารณาไตร่ตรองอาจเกิดประโยชน์ หรือโทษก็ได้ จริงๆ แล้ว หลักการคิด และการตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักจริยธรรม เป็นปัจจัยจำเป็นที่มีความสำคัญมาก หลักจริยธรรมจะช่วยให้แต่ละคนมีหลักพิจารณาตัดสินใจช่วยให้แต่ละคนมองออกว่า อะไรที่คิดพูดทำแล้วเกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น อะไรที่ถูก อะไรที่ผิด อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเหมาะสม และอะไรไม่เหมาะสม


อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล
คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

          วันนี้ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไร หรือไม่นับถือศาสนาอะไร การมีหลักตัดสินใจจะช่วยให้แต่ละคนรู้ว่า ควรคิดพูดทำอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ และสร้างคุณค่าให้ตนเองกับสังคม นี่เป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมเราจึงจำเป็นต้องปลูกฝังจริยธรรม

          ถ้าเปรียบเทียบการนำความรู้มาใช้เป็นการสร้างบ้าน ถ้าเราอาจสร้างบ้านโดยมีฐานรากที่ไม่แข็งแรง บ้านหลังนั้นอาจสร้างได้เสร็จเร็ว แต่สุดท้ายแล้วบ้านหลังนั้นจะพังลง แต่ถ้าเราปลูกฝังจริยธรรมให้ดี ก็เปรียบเสมือนการสร้างฐานรากให้มั่นคงก่อน เมื่อเราสร้างบ้าน บ้านหลังนั้นก็จะมีโครงสร้างที่แข็งแรง มีความมั่นคงและเป็นหลักเป็นที่พึ่งของคนในบ้านได้ จริยธรรมคือสิ่งที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จอย่างมั่นคงและเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้

          สิ่งที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนัก คือ การปลูกฝังจริยธรรมให้นักศึกษามองเห็นคุณค่าของ “การให้” “ความเข้าใจ” และ “ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์”

          หลายวิชาที่มีการจัดการสอนช่วยให้มีความเข้าใจความแตกต่างความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม ความเข้าใจความแตกต่างช่วยให้เรามีหลักคิดว่า ควรคิดพูดทำอย่างไร เพื่อให้เกียรติทุกคน และช่วยให้มองออกว่า คนในแต่ละสังคมเขาต้องการอะไร และหากเราจะทำธุรกิจ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจ หรือนวัตกรรมดังกล่าว จะสร้างคุณค่าอย่างแท้จริง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจ

          ในอีกด้านหนึ่ง ในการพัฒนาหลักคิดให้มองได้รอบด้าน บัณฑิตควรมีความรู้หลายด้านที่จำเป็นในโลกดิจิทัล ดังนั้น วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงพัฒนาหลักสูตรเพื่อฝึกทักษะในการคิดทั้งเรื่องของการคิดนอกกรอบ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงนวัตกรรม การคิดอย่างผู้ประกอบการ ความเข้าใจเรื่องธุรกิจ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และอื่นๆ

          ในช่วงเวลาสี่ปีของการเรียนที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จะให้ความสำคัญกับ “การเข้าใจตัวเอง” “การเข้าใจผู้อื่น” และ “การเข้าใจหลักคิดโลกยุคดิจิทัล” โดยสนับสนุนให้นักศึกษาเก่งในสิ่งที่นักศึกษาเลือก และชอบ นักศึกษาจะได้ค้นหาตัวเอง และเลือกเส้นทางชีวิตในการทำงานของตัวเอง

          นอกจากนี้ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นประโยชน์จากการให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องการปลูกฝังจริยธรรมที่ขยายไปสู่วงกว้าง จึงเป็นที่มาของการจัดบริการวิชาการในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดโครงการแนะแนวแนะใจในช่วงปีที่ผ่านมา และการสร้างความร่วมมือกับคู่ความร่วมมือต่างๆ ตัวอย่างเช่น การทำความร่วมมือกับ “มูลนิธิครูดีของแผ่นดิน” เพื่อเตรียมจะจัดบริการวิชาการให้ความรู้กับเครือข่ายครู บุคคลทั่วไป และนักเรียนในเครือข่ายทั่วประเทศ

          หากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม “เปิดบ้านวิชาการ CRS Open House 2023 ภายใต้แนวคิด รู้จักเราให้มากกว่าเดิม” พบกันวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2566 ที่จะถึงนี้

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author