Chthulucene: มนุษย์ ไซบอร์ก สิ่งเเวดล้อม สัตว์ประหลาด เเละอนาคต

บทความโดย: พัทน์ ภัทรนุธาพร (พีพี)

          ถ้าจะมีเเนวคิดอะไรที่อยู่ในความคิดของพีพีช่วงนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเเนวคิดเรื่อง Chthulucene (ทูลูซีน) ของ Professor Donna Haraway ศาสตราจารย์ด้านประวัตศาสตร์ของความคิดที่ University of California ศาสตราจารย์ Haraway ให้เเนวคิดเเละความหมายของการอยู่รอดของมนุษยชาติเเบบพิลึก(กิ้ง)กือบนโลกที่ธรรมชาติเเละสภาวะอากาศเปลี่ยนเเปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างทรงพลังเเละน่าสนใจ ความพิเศษของ Haraway คือเค้าเป็นนักคิดที่ลุมลึกในหลายสาขาเเละทะลายกำเเพงที่กั้นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ปรัชญา เเนวคิดสตรีนิยม (feminism) ออกจากกันเพื่อสร้างเเนวคิดใหม่ที่ล้ำยุค
 
          งานเขียนก่อนหน้าของ Haraway เช่น เรื่อง Cyborg Manifesto มองมนุษย์กึ่งหุ่นยนต์หรือไซบอร์กผ่านมุมมองมนุษยวิทยาว่าเป็นตัวเเทนของมนุษย์อนาคตที่จะก้าวข้ามพรมเเดนความเหลื่อมล้ำเรื่องเพศ การเมือง ภาษาเเละวัฒนธรรมผ่านการร่วมร่างเข้ากับความเป็นอื่นเช่น เทคโนโลยี สัตว์ เเละสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ ที่เเสบไปกว่านั้นคือ Haraway เสนอว่าผู้หญิงควรกลายเป็น Cyborg เพื่อปลดเเอกจากสังคมชายเป็นใหญ่โดยเอาเทคโนโลยีที่ถูกมองว่าเป็นของผู้ชายมารวมร่างเข้ากับความเป็นหญิงเเล้วตอกกลับผู้ชาย ปลดปล่อยตัวเองจากนิยามทางชีวภาพเเละก้าวข้ามไปสู่อิสภาพใหม่ที่ไม่มีมนุษย์คนไหนเคยเข้าถึง
 
          นักคิดทั่วโลกอ่านงานของ ศาสตราจารย์ Haraway ไม่ว้าวสุดๆ ไปเลยก็คงร้องว่าอิหยังวะ เเต่ด้วยความสุดยอดของการเรียบเรียงความคิดเเละความกล้าหาญในการเสนอประเด็นใหม่ของศาสตราจารย์ Haraway ทำให้เธอกลายเป็นนักคิดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนนึงในโลกสมัยใหม่
          อีกความหน้าสนใจของ Haraway คือเธอประมวลเเนวคิดมาจากหลายๆ “SF” ได้เเก่ Science Fiction (นวนิยายวิทยาศาสตร์), Science Fact (ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์), Speculative Fabulation (การสร้างเรื่องราวสมมติ) เเละ Speculative Feminism (เเนวคิดเรื่องเพศสภาพเเละสตรีนิยมสมมติ) ซี่งทำให้เเนวคิดเเละทฤษฎีที่ Haraway นำเสนอมีความเป็นเรื่องราว (narrative) เเละทฤษฎีที่เเหวกเเนว มีจินตนาการเเต่ตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราได้ขบคิดกับเเนวคิดพวกนี้ได้อย่างลึกซึ้ง
 
          ศาสตราจารย์ Haraway เชื่อว่ามันสำคัญมากที่เราจะเข้าใจเเละตั้งคำถามว่าเรื่องราวที่เราเล่าถูกสร้างมาจากเรื่องราวเรื่องไหน โลกที่เราอยู่ถูกสร้างขี้นจากโลกทัศน์เเบบใด เเละความคิดที่เราใช้คิดมีรากฐานมาจากความคิดชุดไหน เพื่อที่เราจะไม่ตกเป็นอยู่ในกับดักของเรื่องราว โลกทัศน์ เเละความคิดในอดีต
 
          จากอดีตไปสู่อนาคตในหนังสือเล่มล่าสุดของ Haraway ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 ชื่อ Staying with the Trouble: Making Kin in the Chthulucene เธอนำเสนอเเนวคิดเเสบๆ คันๆ คะยึกคะยืออีกครั้งให้กับวงการนักคิดโลก เธอเสนอคำว่า Chthulucene (ทูลูซีน) ชื่อยุคเเห่งอนาคตที่อ่านเป็นภาษามนุษย์ได้ลำบากเพราะมันไม่ใช่ยุคของมนุษย์อีกต่อไป ซึ่งถ้าเราจะเข้าใจ Chthulucene เราต้องกลับไปเข้าใจยุคของมนุษย์ทั้งสามยุค (Anthropocene, Plantationocene, Capitalocene) ที่เเบ่งโดยขนาด อำนาจ เเละ ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เเละธรรมชาติ
 
          เริ่มจาก Anthropocene ยุคที่มนุษย์เริ่มเป็นเจ้าโลกเเละสร้างความเปลี่ยนเเปลงในชั้นบรรยากาศเมื่อประมาณ 12,000–15,000 ปีมาเเล้ว ยุคนี้เป็นยุคเเรกที่มนุษย์ซึ่งวิวัฒนาการมาจากธรรมชาติเริ่มตัดขาดตัวเองจากธรรมชาติ เเละเริ่มขยายอารยธรรมออกจากถ้ำยุคหิน ยุคต่อมาคือยุค Plantationocene คือยุคที่มนุษย์เรียนรู้จะควบคุมเเละตักตวงผลประโยชน์จากธรรมชาติเช่นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ พรวนดิน เเละออกเเบบสิ่งเเวดล้อมเป็นไปอย่างที่เราต้องการ การใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินี้เองนำไปสู่ Capitalocene ยุดเเห่งทุนนิยม (Capitalism) ยุคที่มนุษย์เเทนค่าธรรมชาติด้วยทุน เเทนค่ามนุษย์กันเองด้วยทุนเเละเเทนค่าทุนด้วยทุน เอาทุนไปขยายทุนไปขยายทุนไปขยายทุน ลดทอนความซับซ้อนของธรรมชาติเเละทรัพยากรผ่านการ abstraction ให้ทุกสิ่งมีมูลค่าเป็นเป็นเงิน
 
          ผลกระทบที่ตามมาก็คือการเสื่อมโทรมของธรรมชาติอันถึงขีดสุด การสูญพันธู์เเละการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ซี่งมาจากความสำเร็จของทุนนิยมที่เพิ่มมูลค่าให้ตัวเองมีมูลค่าสูงขึ้นได้เรื่อยๆ โดยมองเรื่องอื่นเป็นปัจจัยรอง
 
          เเม้ว่าปัจจุบันเราจะมีความตระหนักต่อประเด็นนี้มากขึ้น มีการรณรงค์เรื่อง Recycle ปลูกต้นไม้ลดโลกร้อนเเละ Carbon Footprint เเต่สุดท้ายการรณรงค์เหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่บนเเนวคิดทุนนิยมอยู่ดี กล่าวคือเรามัก Recyle ในสิ่งที่เราถูกทุนนิยมทำให็ซื้อทั้งๆที่อาจจะไม่จำเป็น เราปลูกต้นไม้ในงานลดโลกร้อนต่างๆ เพื่อให้เรารู้สึกดีโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพืชนั้นจะโตได้ในสภาพเเวดล้อมเเบบนี้รึเปล่า ใส่เงินเเละทรัพยากรมหาศาลลงไปเเต่สุดท้ายต้นไม้ที่ปลูกเพื่อสร้างภาพก็อาจจะตายอยู่ได้ดี หรือเเม้กระทั้ง Carbon Footprint ก็ตั้งอยู่บนเเนวคิดว่าเราสามารถ “ซื้อ” คาร์บอนในชั้นบรรยากาศได้
 
          Haraway สร้าง Chthulucene ชื่อยุคเเห่งอนาคตที่ทำให้เราหลุดจากเรื่องราว โลกทัศน์ เเละ ความคิดของยุคก่อนหน้าโดยไม่ได้มองยุคนี้ว่าเป็นยุคของมนุษย์เเต่เป็นยุคของเหล่าตัวคะยึกคือยือ ปลาหมึก เเมงกระพรุน เเบคทีเรีย ไวรัส สัตว์ประหลาดเล็กเเละใหญ่ Haraway ชวนให้เรามองโลกในขณะที่มนุษย์ดิ้นรนเพื่อที่จะอยู่รอดโดยพยายามควบคุมธรรมชาติ (ซึ่งทำได้บ้างไม่ได้บ้าง) หรือไม่ก็ยอมเเพ้ด่าทอพระเจ้าด้วยความสิ้นหวังต่ออนาคตตัวเอง ในโลกกลับมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายกำลังเติบโตได้ดีอย่างทรงพลังโดยไม่เเคร์การดำรงค์อยู่เเบบมนุษย์ ตัวอย่างเช่น COVID-19 โชว์ให้เห็นพลังของธรรมชาติที่มนุษย์ต้องต่อกรด้วย
 
          เเต่เเทนที่เราจะต้องต่อกรเเละควบคุมเเบบยุคที่ผ่านๆมา ศาสตราจารย์ Haraway เสนอให้เรากลับไปหา mother earth กลับไปสู่ธรรมชาติ เเต่ไม่ใช่การกลับไปเเบบการไปเที่ยวน้ำตกที่มีน้ำไหลริน เห็นตัวปลาว่ายอยู่ในน้ำใสๆ เเต่เป็นการกลับไปหากองขยะพลาสติก การกลับไปหากากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ กลับไปหาความเลวร้ายที่สุดที่มนุษย์ทำต่อธรรมชาติเเล้วให้ธรรมชาติส่งหนวด tentacle มาบีบรัดให้เราซึมซับเอาสิ่งเหล่านี้เข้าไปเพื่อที่จะกลายพันธุ์ไปสู่สิ่งใหม่ Haraway บอกว่าเราต้องกลับไป make kin not baby กลับไปสู่ครอบครัวธรรมชาติอันเเตกสลายเเละเตือนให้เราไม่โลกสวยเพราะโลกที่สวยได้ตายไปเเล้ว เราต้องเผชิญกับความจริง “Staying with the Trouble” เอาวิถีความเป็นมนุษย์ที่สร้างปัญหาออกเเล้วกลายเป็นเเบคทีเรียย่อยคราบน้ำมัน หนอนที่กินพลาสติก เเละสัตว์ประหลาดที่โตบนกากนิวเคลียร์
 
          เเน่นอนว่าเเนวคิดนี้ค่อนข้างสุดโต่งทางจินตนาการเเละมีความเป็น Haraway สูงคือมีความอิหยังวะ factor ค่อนข้างมาก เเต่สิ่งที่ Haraway ทำได้ดีมาตลอดคือการสร้างทฤษฎีที่เปิดพรมเเดนทางจินตนาการใหม่ที่ไม่ใช่การต่อยอดของอดีตที่เคยเป็นๆ มาเเต่เป็นอนาคตที่สดใหม่จากเตา(ปฏิกรณ์นิวเคลียร์) ให้นักคิดคนอื่นกระโดดเข้ามาคิดต่อเเละศึกษาสัตว์ประหลาดในดินเเดนที่เธอสร้างขึ้น
 
          จากที่พีพีได้คุยเรื่องนี้กับพี่กอล์ฟ ปวีณ ภูริจิตปัญญา เเละโจนี่ วิวัฒนานนท์ ประเด็นหนึ่งที่เราควรตั้งข้อสังเกตเเละวิพากษ์ Chthulucene ของ ศาสตราจารย์ Haraway คือสุดท้ายเเล้วมันกลับไปผลิตซ้ำวาทะกรรม “มนุษย์ชนะ” (เเบบหมอชนะ) รึเปล่า? เพราะต่อให้มนุษย์ต้องกลายเป็นสัตว์ประหลาดในโลกนิวเคลียร์เราก็อยู่รอดในความเสื่อมโทรมที่เราสร้างขึ้นมาอยู่ดี ดังนั้นเราก็ทำเลวร้ายกับธรรมชาติเเบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆหรือ? อันนี้พีคิดว่าเป็นคำถามใหญ่ที่เราจะได้เห็นกันว่าเมื่อ Chthulucene มาถึงสุดท้ายมนุษย์จะยังชนะธรรมชาติหรือเราจะโดนหนวดปลาหมึกคราเก้นบีบคอเราจนเราต้องคาย ego ของความเป็นมนุษย์ผู้โอหังออกมา
 
          ต้องขอบคุณพี่เเบงค์ งามอรุณโชติ ที่ทำให้พีพีได้รู้จักงานเขียนของศาสตราจารย์ Haraway เเละได้ทำงานศิลปะที่ไปเเสดงที่ญี่ปุ่นเรื่องนี้ด้วยกัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://dl.acm.org/doi/10.1145/3282805.3282820
 

About Author