กลุ่มดาวแพะทะเล ที่มาของเดือนมกราคม

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เกิดการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างเทพเจ้าซูส (Zeus) กับยักษ์ไทฟอน (Typhon) ของกรีก

          ซูสพลาดท่าโดนยักษ์ไทฟอนจับไปไว้ในถ้ำ แพน (Pan) เทพเจ้าแห่งป่าและคนเลี้ยงแกะได้แอบมาช่วยซูส เมื่อถูกไทฟอนพบเห็นเข้า แพนจึงแปลงร่างกระโดดลงน้ำหนียักษ์ไทฟอน

          แพนมีลักษณะกึ่งคนกึ่งแพะ ตัวท่อนบนเป็นคน มีเขา หู และขา เป็นแพะ เมื่อแปลงร่างแล้วกลายเป็น แพะทะเลหรือแคพริคอร์น (Capricorn) มีลำตัวท่อนบนเป็นแพะ ท่อนล่างมีหางเป็นปลา (เหมือนนางเงือก)

          กลุ่มดาวแพะทะเล (Capricornus) เป็นที่มาของเดือนมกราคม คำว่า มกราคม มาจากคำว่า มกร (มังกร) + อาคม (มาถึง) หมายถึง ดวงอาทิตย์มาถึงราศีมกร หรือกลุ่มดาวแพะทะเล (สันนิษฐานว่าที่แพะทะเลกลายเป็นมังกรเพื่อให้คนไทยเข้าใจง่าย เพราะคนไทยส่วนใหญ่อาจไม่รู้จักแพะทะเล แต่รู้จักมังกร)

          วันที่ 1 มกราคม 2564 ดวงอาทิตย์ยังอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ยังไม่เข้าไปในกลุ่มดาวแพะทะเล หัวค่ำวันนั้นจะเห็นกลุ่มดาวแพะทะเลบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ภาพดวงอาทิตย์ตกวันที่ 21 ธันวาคม 2564 จะเห็นดวงอาทิตย์เข้าไปอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล
ที่มาภาพ แอป SkyPortal 3.3.4.0

          ดวงอาทิตย์จะเข้าไปในกลุ่มดาวแพะทะเลวันที่ 21 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 (ช่วงที่ดวงอาทิตย์เข้าไปอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเลเราจะมองไม่เห็นกลุ่มดาวแพะทะเลบนท้องฟ้า)

          กลุ่มดาวแพะทะเลไม่มีดาวสว่างมาก อาจมองไม่เห็นในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษแสงรบกวน

ส่วนหัวของเทพเจ้าเจนัส ที่พิพิธภัณฑ์วาติกัน กรุงโรม
ที่มาภาพ Wikipedia

          ชื่อเดือนมกราคมภาษาอังกฤษคือ January มาจาก เจนัส (Janus) เทพเจ้าแห่งประตู การเริ่มต้นและการสิ้นสุด ของโรมัน มีลักษณะน่าสนใจคือเป็นคน 2 หน้า ตรงข้ามกัน หน้าหนึ่งหันมองไปอดีต อีกหน้าหนึ่งหันมองไปอนาคต

          ปัจจุบันสากลกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เดิมชาวโรมัน ใช้วันที่ 1 มีนาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่

          ไทยเราใช้วันสงกรานต์ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบไทย ไม่ใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 หรือเดือนอ้าย (ตามปฏิทินจันทรคติไทย ที่ใช้ขนาดดวงจันทร์กำหนดเดือน) เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ล่าสุดวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563)

          แต่วันที่เปลี่ยนปีนักษัตรจะใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตัวอย่างเช่น วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 (ปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2564) ยังเป็นปีชวด แต่ถัดมาอีกวันคือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (14 มีนาคม 2564) จะเปลี่ยนเป็นปีฉลู

          ในสมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 9 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม เริ่มตั้งแต่ปี 2483 และใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

          จีนใช้วันตรุษจีน คือ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบจีน (ปีนี้ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564)  


สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ในนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 94 เดือนมกราคม 2564
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/218938

About Author