น้ำสกัดชีวภาพจากกระดุมทองกำจัดวัชพืชในนาข้าว

เรื่องโดย  ธีรดา มาลานัน


          “ข้าว” เป็นอาหารหลักและพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยมูลค่าการส่งออกข้าวไทยนั้นเป็นอันดับต้นๆของโลก สำหรับภาคเหนือเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของไทยอีกพื้นที่หนึ่ง ทั้งนี้ในกระบวนการเพาะปลูกข้าวนั้น ปุ๋ยเคมี สารฆ่าแมลง และสารกำจัดวัชพืชมีการใช้ในปริมาณสูงมาก ซึ่งอาจมีผลต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมได้ ก่อให้เกิดการตกค้างของมลพิษในแหล่งน้ำและดิน แนวทางในการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนจำเป็นจะต้องมีการลดปริมาณการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม

          แต่อย่างไรก็ตามวัชพืชในนาข้าวยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำลง โดยเฉพาะหญ้าข้าวนก (Echinochloacrus-galli) และหญ้าปากควาย(Dactylocteniumaegyptium) จัดเป็นวัชพืชที่เป็นปัญหาสำคัญ โดยมักกระจายพันธุ์พร้อมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าวและคอยแย่งธาตุอาหารในดิน ดังนั้นการพัฒนาสารเคมีจากธรรมชาติเพื่อการกำจัดวัชพืชจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เหมาะกับการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน โดยสารเคมีกลุ่มดังกล่าวมีชื่อเรียกว่าแอลลีโลเคมิคอล คือสารเคมีที่พืชชนิดหนึ่งปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้วมีคุณสมบัติเป็นพิษหรือเป็นประโยชน์ต่อพืชอีกชนิดหนึ่ง

          กระดุมทอง (Wedeliatrilobata) เป็นไม้ดอกที่ปลูกเพื่อประดับอาคารสถานที่ ใช้ในการรักษาหน้าดินและเป็นพืชในท้องถิ่น จากการสังเกตพบว่าบริเวณที่มีการทับถมของใบกระดุมทอง จะไม่มีการขึ้นของวัชพืชอื่นๆ จึงสันนิษฐานว่าในใบกระดุมทางอาจมีสารเคมีบางชนิดที่มีสมบัติเป็นแอลลีโลเคมิคอล ดังมีรายงานสมบัติการเป็นแอลลีโลเคมิคอลของพืชบางชนิด ซึ่งพบว่าสารสกัดจากพืชแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติในการเป็นแอลลีโลเคมิคอลที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับส่วนที่นำมาใช้สกัด ตัวทำละลายที่ใช้สกัดและความเข้มข้นของสารสกัด  ทั้งนี้การสกัดสารในรูปของน้ำสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพ ทำให้สารที่ได้มีส่วนประกอบด้วยสารอินทรีย์ต่างๆ หลายชนิด เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมน และธาตุอาหารต่างๆ

          เอนไซม์บางชนิดจะทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ ฮอร์โมนหลายชนิดที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่อพืช นอกจากนี้หากนำน้ำหมักชีวภาพมาใช้กำจัดวัชพืช ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและรวดเร็วเมื่อเทียบกับการใช้สารเคมีอื่นๆ ที่มีราคาแพงและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม  และเมื่อนำกระดุมทองมาทำเป็นน้ำสกัดชีวภาพจากกระดุมทอง จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า ในประสิทธิภาพของน้ำสกัดชีวภาพต่อการยับยั้งการงอกของเมล็ดวัชพืชโดยใช้น้ำสกัดชีวภาพต่อน้ำ (ml/ml) อัตราส่วน 1:300 มีผลยับยั้งการงอกของเมล็ดหญ้าข้าวนกได้ถึง 80%  ทั้งนี้เมื่อนำน้ำสกัดดังกล่าวไปทดสอบการยับยั้งการงอกของเมล็ดข้าวพบว่าไม่มีผลทำให้การงอกผิดปกติ ยกเว้นอัตราส่วน 1:100 ที่เมล็ดข้าวจะงอกลดลง 20%

          อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการศึกษาผลของน้ำสกัดชีวภาพต่อกิจกรรมเอนไซม์ อะไมเลส และปริมาณโปรตีนทั้งหมดในเมล็ดวัชพืชและเมล็ดข้าวในขณะที่เกิดการงอก ซึ่งจะทำให้ทราบกลไกในการยับยั้งการงอกของเมล็ดวัชพืชดังกล่าวได้

About Author