ภารกิจ Asian Try Zero-G 2018 ณ ประเทศญี่ปุ่น ตอนที่ 1

เรื่องโดย ไอซี (วริศา ใจดี)


การมาญี่ปุ่นครั้งนี้ ฉันและพี่สาวมีโอกาสชมการทดลองของพวกเราโดยนักบินอวกาศญี่ปุ่น ณ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ผ่านการถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติ อีกทั้งยังได้ชม พิพิธภัณฑ์อวกาศ Tsukuba Space Center และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติของญี่ปุ่น (มิไรคัง) อีกด้วย


ไอเดีย (คนซ้ายสุด) กับเพื่อนๆ เข้าร่วมโครงการ Space Seeds for Asian Future ของ สวทช. ในปี พ.ศ. 2556

ก่อนอื่นฉันขอเล่าที่มาของการมาเข้าร่วมกิจกรรม Asian Try Zero G 2017-2018 สักหน่อย ฉันรู้จักโครงการนี้จากพี่ไอเดีย (ศวัสมน ใจดี) พี่สาวของฉัน โดยพี่สาวฉันได้สมัครเข้าร่วมโครงการ Space Seeds for Asian Future 2013 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ซึ่งเป็นการทดลองปลูกถั่วแดงญี่ปุ่นในอวกาศเปรียบเทียบกับที่ปลูกบนโลก

แนวความคิด Zero G painting ของฉันกับพี่ได้รับการคัดเลือกจาก JAXA ในปี 2558

หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2558 ก็มีโครงการ Asian Try Zero G 2015 เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุไม่เกิน 27 ปี ส่งแนวความคิดการทดลองด้านอวกาศเข้าร่วมประกวด เพื่อคัดเลือกให้นักบินอวกาศของ JAXA นำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

นักบินอวกาศญี่ปุ่น คุณคิมิยะ ยูอิ กำลังทดลองแนวความคิด Zero G Painting ของพวกเราในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

ฉันกับพี่ชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับดวงดาวและนักบินอวกาศ และก็ชอบดูภาพยนตร์แนวอวกาศอยู่แล้ว จึงช่วยกันคิดและได้ส่งการทดลองเรื่อง Zero G painting เข้าร่วมประกวด เพื่อต้องการทราบว่าในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงนั้น เราจะวาดภาพบนอวกาศได้หรือไม่ ภาพวาดจะออกมาเป็นเช่นใด ปรากฏว่าแนวความคิดของพวกเราได้รับการคัดเลือกให้นำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติในปีนั้น

ต่อมาพวกเราก็ส่งแนวความคิดเข้าร่วมทุกปีจนมาถึงปี พ.ศ. 2560 แนวความคิด “Inside the Slinky” ของพวกเราก็ได้รับการคัดเลือกอีกครั้ง รวมแล้วพวกเราส่งไปทั้งหมด 4 เรื่อง และได้รับเลือก 2 เรื่อง ซึ่งในปีนี้มีการเปิดโอกาสให้เจ้าของแนวคิดที่ได้รับการคัดเลือกได้เดินทางไปชมการทดลองแบบ real time ด้วยตนเองที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน Tsukuba Space Center เมืองสึคุบะ พวกเราจึงได้รับโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 11-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โดยร่วมเดินทางไปกับคุณปริทัศน์ เทียนทอง (นักวิชาการอาวุโส สวทช.) หรือคุณเบ้ง และ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ (ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช.)

ชมพิพิธภัณฑ์อวกาศ Tsukuba Expo Center


เดินทางมาถึงสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น

About Author