ชิดเอย ชิดชม .. ลูกชิดต้นต๋าว ต้นไม้มหัศจรรย์

บทความโดย รวิศ  ทัศคร


ผลชิดแช่อิ่มอบ หอมตรลบล้ำเหลือหวาน

รสไหนไม่เปรียบปาน หวานเหลือแล้วแก้วกลอยใจ

ตาลเฉาะเหมาะใจจริง รสเย็นยิ่งยิ่งเย็นใจ

คิดความยามพิสมัย  หมายเหมือนจริงยิ่งอยากเห็น

ผลจากเจ้าลอยแก้ว  บอกความแล้วจากจำเป็น

จากช้ำน้ำตากระเด็น  เป็นทุกข์ท่าหน้านวลแตง

– – – – –

ตอนหนึ่งจากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

 

          คนไทยกับผลไม้ตระกูลปาล์มผูกพันกันมาเนิ่นนานแล้ว โดยจะเห็นได้จากการที่คนไทยรู้จักนำเอาพืชตระกูลนี้มาใช้สอยทำประโยชน์มากมาย เช่น ต้นจาก นอกจากรับประทานแล้ว ยังนำใบมาเย็บเป็นตับเพื่อใช้มุงหลังคา รวมทั้งยังใช้ห่อขนมจาก ของหวานที่ใช้แป้ง น้ำตาล และมะพร้าวเป็นวัตถุดิบในการทำ

          น้ำตาลจากต้นตาลและต้นจากมีวิธีทำเหมือนกัน นั่นคือการตัดปลายช่อ เพื่อเอาน้ำตาลไปทำสุราหรือน้ำเมา ลูกตาลก็นำมารับประทานทั้งลอยแก้วและนำมาเชื่อม ทำอาหารหวานหลากหลายรูปแบบ แม้จะในยุคร่วมสมัย เช่น พายลูกตาล

          สำหรับลูกชิดเอง ในชีวิตประจำวันเรามักจะเห็นนำลูกชิดมาแช่อิ่มและใส่ในขนมหวานต่างๆ เช่น ใส่กับเฉาก๊วย ใส่น้ำแข็งใส เป็นท็อปปิงไอศกรีมกะทิ และใส่กับขนมไทยรวมมิตรราดกะทิ ใบของลูกชิดยังสามารถนำมาเหลาแล้วรวบเป็นหอบเพื่อทำเป็นไม้กวาดได้อีกด้วย แม้ว่าปัจจุบันไม้กวาดส่วนใหญ่จะทำจากก้านใบย่อยของมะพร้าวเพราะหาง่ายกว่าก็ตาม

          ลูกชิดเป็นชื่อที่คนภาคกลางเรียกผลของต้นชิด แต่ต้นของมันยังเรียกชื่อว่า ต้นตาว หรือต้นต๋าว(ภาคเหนือ) หรือต้นชก (ภาคใต้) และชื่ออื่นๆ อีกมากมายแล้วแต่ท้องถิ่น เช่น รังไก่ รังกับ ลังค่าย เนา โยก ต่าว ต๋งล้าง วู้ ต่ะดึ๊ เต่าเกียด อันที่จริงที่มาของชื่อว่าลูกชิดนี้เป็นเพราะแต่ละผลจะมีเมล็ดใสๆ เรียงกันอยู่ติดชิดกัน 3 เมล็ด คนภาคกลางจึงเรียกลูกต๋าวว่า “ลูกชิด” นั่นเอง ส่วนภาษาอังกฤษก็มีคำเรียกสามัญได้อีกหลายชื่อ เช่น sugar palm, aren, arenga palm, areng palm, black-fiber palm, gomuti palm, kaong, irok

          ต้นต๋าวจัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม หรือเรียกว่า วงศ์ Arecaceae ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้พบขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในมาเลเซีย พม่า กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ก็ยังพบในอินเดียด้วยเช่นกัน อันที่จริงแล้วพืชปาล์มสกุลต๋าว (Arenga) ของประเทศไทยยังแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกเป็นสองพันธุ์ย่อย คือ ต้นชก (Arenga pinnata (Wurmb) Merr.) ซึ่งพันธุ์นี้จะใช้ทำน้ำตาลชก พบกระจายอยู่ในภาคใต้เท่านั้น ส่วนต้นต๋าวหรือต้นชิด (Arenga westerhoutii) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในเชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี และที่อื่นๆ เป็นต้นต๋าวที่ให้ผลผลิตคือลูกชิดที่บริโภคกันทั่วประเทศนั่นเอง[1]

          ต๋าวมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือมันจะขึ้นในป่า การเพาะปลูกมักจะทำได้ยาก ทำให้ชาวบ้านที่หาลูกชิดมาขายให้โรงงานแปรรูปต้องออกไปช่วยกันเก็บเกี่ยวในป่าแล้วจึงขนออกมาขาย เนื่องจากการจะติดผลนั้นต้นต๋าวต้องการระบบนิเวศที่มีพืชพรรณหลายชนิดขึ้นปนกันอยู่ แต่ปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ได้มีการริเริ่มการเพาะเมล็ดและทดลองให้ชาวบ้านตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นำไปปลูก โดยเพาะในโรงเพาะโครงการพัฒนาป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา ในการดำเนินงานตามโครงการ “ปลูกต๋าวคืนถิ่นนางพญา”[2] ซึ่งเป็นโครงการที่ปลูกต้นต๋าวกว่าสามหมื่นต้นในพื้นที่กว่า 300 ไร่ สนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2544 เพื่อให้อนุรักษ์ป่าและนำผลผลิตมาสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน

          ต้นต๋าวหายากในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะขึ้นตามป่าแล้ว ตามข้อมูลจากเอกสารการขยายพันธุ์และใช้ประโยชน์จากต้นต๋าวที่จัดทำโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) นั้น การจะมีลูกที่รับประทานได้ ต้นต๋าว Arenga westerhoutii ต้องมีอายุ 8 ปีขึ้นไปจึงจะออกดอก และหลังจากนั้นอีก 2 ปี จึงจะได้ผลที่เหมาะรับประทานได้ เรียกว่าต้องรอกันถึง 10 ปีทีเดียว ส่วนลูกชกจาก Arenga pinnata ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เป็นญาติกันนั้นยิ่งแล้ว นั่นคือเมื่อปลูกแล้วต้องรอนานกว่า 25 ปี และออกผลครั้งเดียว หลังจากนั้นต้นแม่จะตายภายใน 4–5 ปี ดังนั้นการที่เรารับประทานลูกชิด ถ้าเราได้รับประทานแบบที่เป็นพันธุ์ของลูกชก ที่หน้าตาเหมือนกันแล้วละก็ ถือว่าได้ทานของดีเมืองใต้ทีเดียว เพราะหายากระดับประเทศ พบยาก แม้แต่ในจังหวัดพังงาหรือกระบี่ก็ตาม


สแกน QR code เพื่ออ่านเอกสารการขยายพันธุ์และใช้ประโยชน์จากต้นต๋าว
ที่จัดทำโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก)

          ในการเก็บเกี่ยวลูกต๋าวเพื่อทำลูกชิดนั้นจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเปลือกผลของมันมีสารแคลเซียมออกซาเลตที่ทำให้คันได้ ชาวบ้านอาศัยผลดิบตำให้ละเอียดเป็นยาเบื่อปลา จึงต้องระวังเปลือกผล และยางของมัน ต้องใส่ชุดที่รัดกุมในการเก็บเกี่ยว และต้องบีบเอาตาสีเหลืองในเมล็ดต๋าวออกก่อนนำไปรับประทานทุกครั้ง

          แม้ว่าคนไทยเราจะรู้จักลูกชิดและต้นต๋าวมานาน แต่อันที่จริงแล้วมันยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกด้วย ในต่างประเทศอย่างมาเลเซียที่มีต้นต๋าวพันธุ์ต้นชกอยู่มากมายก็นำมาใช้งานเชิงอุตสาหกรรม โดยมีการศึกษาเพื่อสกัดเอาแป้งของต้นชก (sugar palm starch: SPS) ออกมาใช้งาน ซึ่งอาจเอาไปใช้ต่อในทางอุตสาหกรรม หรือเอามาใช้เพื่อผลิตเป็นเทอร์โมพลาสติก โดยมีงานวิจัยของ Sahari และคณะ[3] ที่ทดลองศึกษาพอลิเมอร์ชีวภาพ โดยการผสม SPS และกลีเซอรอลที่ใช้เป็นสารพลาสติไซเซอร์เข้าด้วยกัน โดยผสมเข้าไปในปริมาณร้อยละ 10–40  ก่อนจะนำไปผ่านกระบวนการบีบอัดด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 130 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ซึ่งเมื่อเพิ่มกลีเซอรอลก็จะทำให้พื้นผิวมีความเรียบและมีโครงสร้างที่อ่อนนุ่มขึ้น

          แต่สูตรพลาสติกที่ทำมาจากแป้งของต้นชกยังคงมีสมบัติเชิงกลไม่ดีนัก ยังมีข้อจำกัดการใช้งานในอุตสาหกรรมพลาสติก จึงมีผู้ทดลองเพื่อดัดแปลงสูตรส่วนผสมเพื่อปรับปรุงสมบัติของวัสดุ โดยผสมของอย่างอื่นเข้าไป[4] เช่น ผงวุ้น (agar) ซึ่งมีการทดลองผสมตั้งแต่ปริมาณร้อยละ 0–40 โดยน้ำหนัก แล้วทำให้หลอมตัวที่ 140 องศาเซลเซียส ก่อนผสมแบบหลอม (melt mixing) เพื่อให้วัสดุกระจายตัวเข้ากันได้ดี


สแกน QR code ดูภาพตัวอย่างเครื่อง Brabender ระดับใช้ในห้องปฏิบัติการในการทำ melt mixing

          ผู้ทดลองพบว่าพอลิเมอร์ที่ผสมขึ้นมีโครงสร้างที่เรียบเนียนมากกว่าโดยไม่มีการจับเป็นก้อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้ากันได้ดีระหว่าง SPS และผงวุ้น โดยสีของพอลิเมอร์ผสมนี้จะเป็นสีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลเข้มตามสัดส่วนของผงวุ้นที่ใส่เข้าไป

          การผสมผงวุ้นลงไปนี้ทำให้ตัวอย่างพลาสติกที่ได้มีความไวต่อความชื้นเพิ่มขึ้นด้วย ทดสอบได้จากการนำเอาตัวอย่างไปใส่ในพื้นที่ปิดที่มีความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 80 โดยหากยิ่งมีปริมาณผงวุ้นใส่เข้าไปมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งมีความจุในการดูดซับความชื้นมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เนื่องจากผงวุ้นเป็นสารพวก sulfated polysaccharide มีสมบัติที่ชอบน้ำ การมีหมู่ที่มีประจุส่งผลให้มีสายโซ่ที่มีความชอบน้ำมากกว่าพอลิแซ็กคาไรด์ชนิดอื่นอย่างเช่น แป้ง ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้เพิ่มเพียงร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 8 ไม่มีนัยสำคัญมากนักต่อการนำไปใช้งาน อย่างไรก็ตามเทอร์โมพลาสติก SPS ที่ได้จากการศึกษานี้มีค่าความแข็งแรงแรงดึง (tensile strength) ถึง 10 MPa ซึ่งสูงสุดในหมู่บรรดาเทอโมพลาสติกสตาร์ชด้วยกัน ผู้วิจัย[4] สรุปว่าเกิดจากการที่ SPS มีปริมาณอะไมโลสสูงและการใช้พลาสติไซเซอร์น้อย (ใช้กลีเซอรอลต่อแป้งในอัตราส่วน 30:100) เรียกพลาสติกที่ได้ว่า thermoplastic SPS/agar (TPSA)

          คณะผู้ทดลองยังได้ทำการทดลองต่อไปอีก โดยการใช้กากสาหร่าย Eucheuma cottonii ที่เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตคาราจีแนน โดยหลังจากสกัดคาราจีแนนออกไปแล้ว นำกากสาหร่ายที่ได้มาผสมใน TPSA ที่ทำมาจากแป้งสตาร์ชต่อผงวุ้นต่อกลีเซอรอล ในสัดส่วน 70:30:30 โดยใช้กากสาหร่ายในปริมาณร้อยละ 30 และร้อยละ 40 พบว่าที่ปริมาณสาหร่ายร้อยละ 30 จะทำให้ค่าความแข็งแรงแรงดึงและค่าโมดูลัสแรงดึง (tensile modulus) เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.5 และ 78.6 ตามลำดับ ในขณะที่ที่ปริมาณกากสาหร่ายร้อยละ 40 จะมีค่าดังกล่าวลดลง

          แต่ที่พิเศษคือเมื่อเติมกากสาหร่ายลงไปแล้วจะทำให้พลาสติกที่ได้มีความต้านทานแรงดัดหรือเรียกว่า ความแข็งแกร่งต่อการโค้งงอ (flexural strength) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.6 เมื่อเติมกากสาหร่ายลงไปร้อยละ 30 ในขณะที่เมื่อเติมกากสาหร่ายลงไปร้อยละ 40 ค่านี้จะลดลง เป็นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 45.9 พลาสติกที่ได้จากการเติมกากสาหร่ายลงไปนี้ยังย่อยสลายในดินหลังจากฝังลงไปได้อีกด้วย ซึ่งการชั่งน้ำหนักใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการย่อยสลายได้ โดยพบว่าน้ำหนักของชิ้นงานลดลงไปร้อยละ 89 ในเวลาเพียงสี่สัปดาห์เท่านั้น

          หลายคนใช้คำว่า พลาสติกชีวภาพ (bioplastic) โดยเข้าใจปะปนไปกับคำว่า พลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ (biodegradable plastic) ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากพลาสติกชีวภาพทำมาจากวัสดุหมุนเวียน ในขณะที่พลาสติกที่ย่อยสลายได้อาจทำมาจากพอลิเมอร์จากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือจากการผสมวัสดุทั้งสองชนิดนี้เข้าด้วยกันก็ได้

          พลาสติกชีวภาพอาจแบ่งประเภทได้ตามเส้นทางการผลิตของมันดังในภาพ(ด้านล่าง/ข้าง) เช่น อาจเป็นพวกที่ทำจาก 1) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 2) พลาสติกจากกรดแล็กติก (polylactic acid) หรือที่เรียกว่า PLA  3) กลุ่ม polyhydroxyalkanoates (PHAs) ที่ได้จากการให้จุลินทรีย์หมักไขมันหรือน้ำตาล 4) พลาสติกจากแป้งสตาร์ช (starch plastics) 5) พวกที่ได้จากเซลลูโลส 6) กลุ่มพวกพลาสติกโปรตีนที่ได้จากโคพอลิเมอร์ของกรดอะมิโนต่างๆ รวมถึง 7) พลาสติกชีวภาพที่ได้จากการผสมแหล่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งโมโนเมอร์ที่มาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและโมโนเมอร์ที่มาจากวัสดุชีวภาพ

 


การแบ่งประเภทพลาสติกชีวภาพจากเส้นทางการผลิต ที่มา : [5]

นาโนเซลลูโลสคืออะไร?

          นาโนเซลลูโลสเป็นสารที่ได้จากการสกัดเซลลูโลสด้วยวิธีต่างๆ ทั้งทางเคมีและทางกายภาพ โดยมีโครงสร้างเล็กในระดับนาโนเมตร แบ่งออกได้เป็นสองประเภท อย่างแรกคือ นาโนเซลลูโลสในรูปผลึก (cellulose nanocrystals: CNCs หรือเรียก nanocrystalline cellulose: NCC) ก็ได้ อย่างที่สองคือ เส้นใยเซลลูโลสระดับนาโน (cellulose nanofibril: CNFs) นาโนเซลลูโลสมีสมบัติต่างๆ ที่พิเศษหลายประการ เช่น น้ำหนักเบากว่าวัสดุจำพวกโลหะ โดยมีน้ำหนักเพียงหนึ่งในห้า หากแต่มีความแข็งแรงกว่าถึง 5 เท่า มีพื้นที่ผิวมาก มีความแข็งแรงเชิงกลและความโปร่งแสงสูง มีความเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อร่างกายมนุษย์ และมีความเป็นพิษต่ำ รวมถึงสามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพอีกด้วย

          ปัจจุบันในอุตสาหกรรมอาหารนำเอานาโนเซลลูโลสจากผักมาใช้เป็นสารเติมแต่งอาหาร เช่น สารเพิ่มความคงตัวในซอสและซุป รวมถึงอาหารที่ต้องผ่านหม้อนึ่งไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อ เช่น อาหารกระป๋อง, ใช้ผสมฟิล์มบรรจุภัณฑ์ห่ออาหาร, ใช้เป็นสารทดแทนไขมันในสูตรส่วนผสมอาหารต่างๆ และยังใช้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ใน เค้ก ซอส วิปครีม ได้ เนื่องจากโมเลกุลนาโนเซลลูโลสจะดูดซับที่พื้นผิวระหว่างน้ำกับน้ำมัน (oil-water interface) ทำให้เกิดชั้นกั้นเชิงกล (mechanical barrier) ก่อให้เกิดอิมัลชันชนิด pickering emulsion ขึ้น แถมโมเลกุลของนาโนเซลลูโลสที่เหลือจากการดูดซับที่ชั้นพื้นผิวระหว่างน้ำกับน้ำมันยังกระจายในวัฏภาคต่อเนื่องของอิมัลชัน ทำให้เกิดร่างแหสามมิติซึ่งไปเพิ่มความหนืดให้วัฏภาคต่อเนื่องได้อีก จึงไปตรึงและลดการเคลื่อนที่ของหยดไขมัน ระบบอิมัลชันจึงมีความคงตัวต่อการแยกชันมากยิ่งขึ้น[6]

          ต้นต๋าวหรือต้นชกเองก็เป็นแหล่งที่ยอดเยี่ยมในการสกัดเอาผลึกนาโนเซลลูโลสออกมาใช้งาน มีงานวิจัยของประเทศเพื่อนบ้านของเราคือมาเลเซีย โดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย[7] ได้ศึกษากระบวนการสกัดผลึกนาโนเซลลูโลสผ่านกรรมวิธีสกัดลิกนินออก (delignification) การชุบมัน (mercerization) และการย่อยด้วยกรด (acid hydrolysis) ซึ่งจะทำให้ได้ผลึกนาโนเซลลูโลสจากต้นชก (sugar palm NCCs: SPNCCs) ออกมาใช้งาน สามารถนำไปใช้ผสมเพื่อเสริมคุณสมบัติของพอลิเมอร์ชีวภาพจากแป้งต้นชก (SPS biopolymers) ได้ ซึ่งมีทั้งนำไปทำถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับซื้อของ ระบบนำจ่ายยา ฟิล์มบรรจุภัณฑ์สำหรับผักผลไม้ เป็นต้น สำหรับการนำผลึกนาโนเซลลูโลสจากต้นชกไปผสมกับฟิล์มพลาสติกชีวภาพ ปรากฏว่าสามารถช่วยลดการดูดซับน้ำลงไปได้มาก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการใช้เส้นใยเซลลูโลสระดับนาโนร่วมกับซิลเวอร์นาโน หรือที่เรียกว่าอนุภาคเงินระดับนาโน เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารประเภท active food packaging เพื่อต่อต้านการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์อีกด้วย

          ต้นต๋าวหรือต้นชกนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในการนำไปผลิตเป็นลูกชิด ยังมีศักยภาพมหาศาลในการนำไปใช้ผลิตวัสดุแห่งอนาคต ซึ่งต่างชาติเริ่มเล็งเห็นคุณค่าและนำไปพัฒนา คนไทยเราจึงควรอนุรักษ์และให้ความสำคัญแก่ต้นต๋าว ทรัพยากรอันมีค่าที่เรามีอยู่ให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน


ที่มาของข้อมูล :

  1. https://www.qsbg.or.th/journal/showarticle.aspx?type=article&id=18
  2. https://www.bangkokbiznews.com/social/610830
  3. Sahari, J., Sapuan, S.M., Zainudin, E.S., and Maleque, M.A. (2013). Thermo-mechanical behaviors of thermoplastic starch derived from sugar palm tree (Arenga pinnata). Carbohydrate Polymers, 92, 1711 – 1716.
  4. Jamaidin, R., Sapuan, S.M., Jawaid, M., Ishak, M.R., and Sahari, J. (2016). Characteristics of thermoplastic sugar palm starch/agar blend: thermal, tensile, and physical properties. International Journal of Biological Macromolecules, 89, 575 – 581.
  5. Reddy, M. M., Vivekanandhan, S., Misra, M., Bhatia, S. K., & Mohanty, A. K. (2013). Biobased plastics and bionanocomposites: Current status and future opportunities. Progress in Polymer Science, 38(10-11), 1653–1689.
  6. https://litci-thaijo.org/index.php/ThaiJToxicol/article/view/244135
  7. Sapuan, S.M., Sahari, J., Ishak, M.R., & Sanyang, M.L. (Eds.). (2018). Sugar Palm Biofibers, Biopolymers, and Biocomposites (1st ed.). CRC Press. https://doi.org/10.1201/9780429443923

About Author