Citation หรือ การอ้างอิง สามารถแสดงความน่าเชื่อถือของบทความวิชาการได้ และบางครั้งก็อาจส่งผลให้ได้รับเงินรางวัลด้วย ในขณะที่ผู้วิจัยส่วนใหญ่แค่คาดหวังว่าบทความวิชาการจะถูกอ้างอิงโดยผู้อื่นนั้น แต่ก็มีผู้วิจัยบางส่วนได้ค้นพบวิธีที่ที่ทำให้บทความวิชาการนั้นเป็นที่สนใจหรือเป็นที่สังเกตได้

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ผู้วิจัยมักมีการวิจัยต่อยอดจากงานวิจัยเดิมที่มีอยู่ โดยการศึกษาผลการทดลองที่ผ่านมา ตั้งสมมติฐานใหม่ ทำวิจัย รายงานผล และมีการอ้างอิงงานวิจัยที่มีก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ผู้วิจัยเองก็หวังว่า งานวิจัยของตนจะได้รับความสนใจและมีการอ้างอิงโดยผู้อื่นต่อไป

บทความวิจัยที่มีการอ้างอิงโดยบทความวิจัยอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก จะดูน่าเชื่อถือมากกว่าบทความวิจัยที่ไม่มีการอ้างอิง และในการแสดงการค้นหาบทความวิจัยใน Google Scholar นั้น มีการใช้ชุดพารามิเตอร์ที่ซับซ้อน ซึ่งอาจรวมถึงจำนวนการอ้างอิงด้วย เพื่อตัดสินใจว่าผู้ค้นหาจะสามารถเห็นบทความวิจัยใดเป็นอันดับแรกของการค้นหาในครั้งนั้น ๆ

จำนวนการอ้างอิง

วิธีการจะดูจำนวนการอ้างอิงของแต่ละบทความวิจัย และบทความวิจัยใดนำไปอ้างอิงบ้างนั้น สามารถดูได้จากหลายเครื่องมือหรือฐานข้อมูล ตัวอย่างเช่น PubMed จะมีตัวเลือก Cited by ซึ่งจากตัวอย่างบทความวิจัย Host lifestyle affects human microbiota on daily timescales มีการถูกอ้างอิงเป็นจำนวน 404 ครั้ง (รูปที่ 1) แต่อย่างไรก็ตาม PubMed จะนับการอ้างอิงเฉพาะบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารที่ได้รับ Index ใน PubMed เท่านั้น เครื่องมือ Dimensions (https://app.dimensions.ai/discover/publication) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการหาจำนวนการอ้างอิง โดยใช้เลข DOI ทั้งนี้ จำนวนการอ้างอิงในค้นหาจากเครื่องมือนี้ จะมีจำนวนมากกว่า PubMed เนื่องด้วย Dimensions มีวารสารที่จัดทำ Index ไว้หลากหลายมากกว่า (รูปที่ 2) หากดูจำนวนอ้างอิงจากสำนักพิมพ์ (BioMedCentral) ของบทความวิจัยในตัวอย่างนี้ มีจำนวนอ้างอิง 588 ครั้ง (รูปที่ 3) จำนวนอ้างอิงจาก Google Scholar มีจำนวนอ้างอิง 893 ครั้ง (รูปที่ 4) และ AltMetric เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่นับจำนวนอ้างอิงจากการโพสต์บนโซเชียลมีเดียด้วย โดยจำนวนที่แสดงจะเป็นจำนวนเดียวกันกับเครื่องมือ Dimensions (รูปที่ 5) ซึ่งจะเห็นได้ว่า จำนวนการอ้างอิงจะแตกต่างกันไปตามฐานข้อมูลวารสารของเครื่องมือนั้น ๆ แต่โดยปกติแล้ว Google Scholar จะแสดงจำนวนการอ้างอิงที่มากที่สุด เนื่องด้วยมีการนับรวมการอ้างอิงจากหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ ซึ่งเครื่องมืออื่นๆ อาจไม่ได้นำมานับรวมด้วย ถึงแม้ว่าจำนวนอ้างอิงจะมีความแตกต่างกันตามฐานข้อมูล แต่ก็สามารถบ่งชี้ได้ว่าบทความวิจัยใด ได้รับความสนใจ

รูปที่ 1 จำนวนอ้างอิงของตัวอย่างบทความวิจัย “Host lifestyle affects human microbiota on daily timescales” ใน PubMed
(
404 ครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 66) (
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25146375/)

 

รูปที่ 2 จำนวนอ้างอิงของตัวอย่างบทความวิจัย “Host lifestyle affects human microbiota on daily timescales” ใน Dimensions
 (713 ครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 66)

รูปที่ 3 จำนวนอ้างอิงของตัวอย่างบทความวิจัย “Host lifestyle affects human microbiota on daily timescales”
 ใน สำนักพิมพ์ BioMedCentral (588 ครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 66)
(
https://genomebiology.biomedcentral.com/articles/10.1186/gb-2014-15-7-r89)

รูปที่ 4 จำนวนอ้างอิงของตัวอย่างบทความวิจัย “Host lifestyle affects human microbiota on daily timescales”
 ใน Google Scholar (588 ครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 66)

รูปที่ 5 จำนวนอ้างอิงของตัวอย่างบทความวิจัย “Host lifestyle affects human microbiota on daily timescales”
 ใน AltMetric (713 ครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 66)
(https://dimensions.altmetric.com/details/2538004)

Incentive จากการได้รับการอ้างอิง

จำนวนการอ้างอิงส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้วิจัย และตัวชี้วัด h-Index ก็เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่มักนำมาใช้ในการวัดประเมินต่าง ๆ ของตัวบุคคลผู้วิจัย การอ้างอิงยังส่งผลต่อการจัดลำดับมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น การจัดลำดับมหาวิทยาลัยของ QS World University Rankings มีการกำหนดให้การอ้างอิงมีสัดส่วนคะแนนอยู่ที่ 20% ของคะแนนทั้งหมด และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ Times Higher Education’s World University Rankings มีการกำหนดให้การอ้างอิงมีสัดส่วนคะแนนอยู่ที่ 30% ของคะแนนทั้งหมด (รูปที่ 6)

รูปที่ 6 หลักเกณฑ์การให้คะแนนของการจัดลำดับมหาวิทยาลัยของ Times Higher Education’s World University Rankings
(
https://www.timeshighereducation.com/)

ในปี พ.. 2556 UNESCO ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดมหาวิทยาลัยว่าอาจเป็นตัวชี้วัดทางด้านคุณภาพและเป็นการสร้างการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างมหาวิทยาลัยทั่วโลก ดังนั้นสถาบันต่าง ๆ จึงเห็นว่าจำนวนการอ้างอิงมีความสำคัญมาก และอาจใช้จำนวนการอ้างอิงเป็นการประเมินบุคลากรและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ซึ่งในบางประเทศมีการเสนอเงินรางวัลให้กับผู้ที่ตีพิมพ์บทความวิจัยและได้รับการอ้างอิงบทความวิจัยอีกด้วย และ Wei Quan et al. (2017) รายงานว่ามหาวิทยาลัยในประเทศจีน มอบเงินรางวัลให้กับผู้วิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่ถูกทำดัชนีในฐานข้อมูล Web of Science รวมถึงการถูกอ้างอิงด้วย (รูปที่ 7)

รูปที่ 7 สัดส่วนการให้เงินรางวัลตามนโยบายที่เกี่ยวข้องการกับตีพิมพ์ผลงานวิจัย
Wei Quan et al., arXiv (2017),
https://doi.org/10.48550/arXiv.1707.01162

 

Citation Ring

นโยบายการให้เงินรางวัลในมหาวิทยาลัยประเทศจีนนั้น จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ผู้วิจัยในจีนเผยแพร่บทความวิจัยและให้บทความวิจัยได้รับการอ้างอิง จากการศึกษาของ Caroline S. Wagner et al., (2022) รายงานว่าหากวัดคุณภาพของบทความวิจัยจากจำนวนครั้งในการอ้างอิงนั้น พบว่าจำนวนครั้งที่ถูกอ้างอิงจากการตีพิมพ์บทความวิจัยจากประเทศจีน จะสูงกว่าประเทศ USA ตั้งแต่ปี พ.. 2562 เป็นต้นมา ในการให้เงินรางวัลสนับสนุนนี้ อาจนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ได้ วารสาร Nature ได้รายงานว่า การมุ่งเน้นไปยังตัวชี้วัด อาจทำให้เกิดการประพฤติมิชอบได้ เช่น การลอกเลียนผลงาน (Plagiarism) การอ้างอิงผลงานของตนเองหรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อเพิ่มจำนวนการอ้างอิงและใน ปี พ.. 2563 กระทรวงวิทยาศาสตร์และการศึกษาของจีน ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยกเลิกนโยบายการให้เงินรางวัลในการส่งเสริมเผยแพร่บทความวิจัย

ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้วิจัยจำนวนหนึ่ง ได้รวมกลุ่มกัน เพื่อตกลงแลกเปลี่ยนการอ้างอิงบทความวิจัยซึ่งกันและกัน โดยกระบวนการนี้เรียกว่า “Citation Ring” หรือ “Citation Cartel” ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Retraction Watch ได้รายงานว่า บทความวิจัยจำนวน 60 บทความถูกเพิกถอน หลังจากตรวจสอบพบว่ามีการทำ Citation Ring นอกจากนี้ มีบริษัทที่จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินการ “Citation Ring” โดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มจำนวนการอ้างอิง โดยมีวิธีการ คือ เมื่อผู้นิพนธ์จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทแล้ว ผู้นิพนธ์จะต้องอ้างอิงบทความวิจัยที่อยู่ใน list ของบริษัท และบทความวิจัยของผู้นิพนธ์จะถูกเพิ่มไปอยู่ใน list ของบริษัท เพื่อให้ผู้นิพนธ์คนอื่น ๆ ที่จ่ายค่าธรรมเนียม ทำการอ้างอิงบทความวิจัยที่อยู่ใน list ของบริษัทต่อไป ดังนั้นผู้นิพนธ์ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน แต่สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มจำนวนการอ้างอิงได้ ทั้งนี้ Peer Reviewer บางส่วนอาจไม่ได้ตรวจสอบความสอดคล้องของการอ้างอิงกับเนื้อหาในบทความวิจัย ดังนั้น “Citation Ring” จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องระวังสำหรับผู้ที่กำลังค้นหาและศึกษาบทความวิจัยต่าง ๆ

 

อ้างอิง

[1] A. eliesbik, “Citation Statistics and Citation Rings,” Science Integrity Digest. Accessed: Sep. 28, 2023. [Online]. Available: https://scienceintegritydigest.com/2022/03/23/citation-statistics-and-citation-rings/

[2] “QS World University Rankings 2024 methodology.” Accessed: Sep. 28, 2023. [Online]. Available: https://www.topuniversities.com/qs-world-university-rankings/methodology

[3] “World University Rankings | Times Higher Education (THE).” Accessed: Sep. 28, 2023. [Online]. Available: https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings

[4] W. Quan, B. Chen, and F. Shu, “Publish or impoverish: An investigation of the monetary reward system of science in China (1999-2016),” AJIM, vol. 69, no. 5, pp. 486–502, Sep. 2017, doi: 10.1108/AJIM-01-2017-0014.

[5] C. S. Wagner, L. Zhang, and L. Leydesdorff, “A discussion of measuring the top-1% most-highly cited publications: quality and impact of Chinese papers,” Scientometrics, vol. 127, no. 4, pp. 1825–1839, Apr. 2022, doi: 10.1007/s11192-022-04291-z.

[6] A. I. Oransky, “SAGE Publications busts ‘peer review and citation ring,’ 60 papers retracted,” Retraction Watch. Accessed: Sep. 28, 2023. [Online]. Available: https://retractionwatch.com/2014/07/08/sage-publications-busts-peer-review-and-citation-ring-60-papers-retracted/

[7] “Is there a clubbing effect underlying Chinese research citation Increases? - Tang - 2015 - Journal of the Association for Information Science and Technology - Wiley Online Library.” Accessed: Sep. 28, 2023. [Online]. Available: https://asistdl.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/asi.23302