Chat GPT คืออะไร?

            Chat GPT (https://chat.openai.com/chat) เป็นแชทบอทที่มีโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ได้รับการปรับแต่งอย่างละเอียดทั้งการควบคุมและเทคนิคการเรียนรู้แบบเสริมแรง และเป็นรูปแบบหนึ่งของซอฟต์แวร์สร้างภาษา GPT-3.5 ยอดนิยมของผู้พัฒนาบริษัท OpenAI ซึ่งออกแบบมาเพื่อสนทนากับผู้คน ตอบคำถาม และปฏิเสธคำถามที่ไม่เหมาะสมได้ จึงเป็นแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสนทนา สื่อสาร โต้ตอบผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และยังสามารถช่วยเขียน Code และบทความต่าง ๆ ได้ ChatGPT ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท OpenAI ในซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่นำโดย Sam Altman และการพัฒนานี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft

            ChatGPT มีวิธีการเรียนรู้โดย Reinforcement Learning from Human Feedback (RLHF) ทุกครั้งที่มีการถาม แชทบอทจะเรียนรู้เกี่ยวกับบทสนทนา และมีการสร้างโมเดลผ่านข้อความแบบวิธี Proximal Policy Optimization (PPO) ซึ่งสามารถเพิ่มความรู้ให้กับแชทบอทได้ ทั้งนี้การตอบคำถามของ ChatGPT ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด ยังคงพบความผิดพลาดของข้อมูล และยังต้องมีการพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ของกลุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ StackOverflow ได้ประกาศแบนคำตอบของ ChatGPT เนื่องด้วย อัตราการได้คำตอบที่ถูกต้อง ยังมีค่าต่ำเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนได้

           

Chat GPT สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีการใช้งานที่ไม่ยาก

นายอัมมาร์ เรชี ผู้จัดการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากบริษัทด้านเทคโนโลยีการเงินในซานฟรานซิสโก ของสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาเพียง 72 ชั่วโมงในการใช้ ChatGPT และ Midjourney รวมทั้ง AI อื่น ๆ ในการเขียนหนังสือโดยไม่ได้ใช้ปากกาหรือกระดาษเลย หนังสือมีชื่อว่า "Alice and Sparkle" เป็นหนังสือสำหรับเด็กโดยมีทั้งเนื้อหาและภาพประกอบจำนวน 12 หน้า และวางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม Amazon หลังจากที่ได้เปิดขายเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 65 แล้ว พบว่ามียอดขาย 70 ฉบับ คิดเป็นค่าตอบแทน (royalty) ราว 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 7,000 บาท และเขายังมีแผนที่จะบริจาคหนังสือเล่มนี้ให้กับห้องสมุดสาธารณะอีกด้วย

รายการ BBC News Night เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา พิธีกรได้ใช้ ChatGPT เขียนสคริปต์เปิดรายการเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ต่อบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ว่าจะเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ที่ย่ำแย่จากผลกระทบจากกำไรลดลงและปลดแรงงาน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้อย่างไร

 

ChatGPT กับงานทางวิชาการ

            มีรายงานว่าแชทบอทปัญญาประดิษฐ์นี้สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการเรียนได้ เนื่องด้วยนักเรียนสามารถตั้งคำถามและถกประเด็นต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง รวมถึงนักเรียนสามารถตั้งกลุ่มเพื่อทำงานในโครงการร่วมกันผ่านแชทบอท และยังสามารถเข้าเรียนแบบ Remote Learning ผ่านแชทบอทได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการใช้ ChatGPT ในการช่วยเขียนบทความวิชาการในปัจจุบันนั้นยังคงถูกถกเถียงกันในหลายประเด็น เช่น ความถูกต้องของข้อมูล ความเป็นเจ้าของของเนื้อหาที่เกิดขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบทความตีพิมพ์ในวารสาร Nature เกี่ยวกับการเขียนบทความวิจัยด้วย ChatGPT อีกด้วย

ตัวอย่างบทความวิชาการที่กล่าวถึงการเขียนบทความด้วย ChatGPT

เบิร์น เอลเลียต รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์ (Gartner Inc.) บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ได้กล่าวถึงข้อกังวลทางด้านจริยธรรมไว้ดังนี้

  • การสร้างความไม่สมดุลในอนาคต: เนื่องด้วยโมเดลนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด ด้วยการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาจำนวนมหาศาล และมีความสามารถด้าน AI เป็นสำคัญ จะส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจในหน่วยงานขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง
  • การสร้าง Deepfake: มีโอกาสที่จะมีการนำแชทบอทไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม (Potential Misuse) และการสร้างข้อมูลต่าง ๆ จะง่ายขึ้น จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิดพลาด
  • ทรัพย์สินทางปัญญา: โมเดลแบบจำลองถูกทดสอบกับคลังข้อมูลของชิ้นงานต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้น และยังไม่มีกฎหมายบังคับที่ชัดเจนสำหรับการนำเนื้อหามาใช้ รวมถึงกรณีที่มีการนำเนื้อหามาจากทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น 

Cotton และคณะ (2023) ได้ตั้งข้อสังเกตในการแยกแยะการเขียนบทความด้วย ChatGPT ไว้ดังนี้

  • รูปแบบ (Pattern) การเขียน: แชทบอทมักจะมีความสามารถทางภาษาที่จำกัด และมักมีการสร้างประโยคที่มีวลีหรือคำซ้ำ ๆ หรือการใช้ภาษาที่ไม่สอดคล้องกัน
  • แหล่งที่มาและการอ้างอิง (Citation): แชทบอทไม่สามารถสรุปแหล่งที่มาและการอ้างอิงที่ถูกต้องและเหมาะสมได้
  • การริเริ่มของข้อมูล (Originality): แชทบอทไม่สามารถริเริ่มงานต้นฉบับ หรือสร้างแนวคิดใหม่ได้ ดังนั้นงานเขียนโดยแชทบอท จะคล้ายคลึงกับข้อมูลในแหล่งต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นการตรวจสอบ Plagiarism ของบทความจะสามารถช่วยแยกแยะได้
  • ข้อความที่ไม่ถูกต้อง (Factual Error): แม้ว่าแชทบอทสามารถสร้างข้อความที่สอดคล้องกันได้ แต่อาจไม่สามารถสร้างข้อความที่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้เสมอไป
  • ไวยกรณ์ (Grammar) และการสะกดคำ (Spelling): การเขียนโดยมนุษย์นั้นอาจมีข้อผิดพลาดในเรื่องของไวยกรณ์และการสะกดคำได้ แต่การเขียนด้วยแชบอทนั้น จะไม่พบข้อพลาดดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของโมดูล AI และการฝึกฝนด้วยเช่นกัน
  • ประสิทธิภาพและความชัดเจนของเนื้อหา: การเขียนโดยแชทบอทจะมีเนื้อหาที่กว้างกว่า และปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะสมกับแต่ละบริบทได้น้อยกว่าการเขียนโดยมนุษย์ ดังนั้นความชัดเจนของเนื้อหาที่เขียนโดยมนุษย์นั้นจะมีความชัดเจนที่มากกว่า

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงการรวบรวมข้อสังเกตส่วนหนึ่งในการใช้งาน ChatGPT ร่วมกับงานทางวิชาการ อย่างไรก็ตามแชทบอทนี้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ใช้งานเองควรคำนึงถึงหลักจริยธรรมกับการใช้งาน ChatGPT ด้วย

 

เอกสารอ้างอิง [1]–[6]

[1] D. Cotton, P. Cotton, and R. Shipway, “Chatting and Cheating. Ensuring academic integrity in the era of ChatGPT,” Jan. 2023, doi: 10.35542/osf.io/mrz8h.

[2] “ChatGPT: คุณรู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับ ChatGPT ทั้งข้อดีและข้อพึงระวัง,” BBC News ไทย, Feb. 24, 2023. https://www.bbc.com/thai/articles/cn47gpnp7n7o (accessed Apr. 24, 2023).

[3] “ทำความรู้จัก ChatGPT AI สุดล้ำตอบสารพัดทุกคำถามพร้อมทักษะที่หลากหลาย,” Techsauce. https://techsauce.co/news/chat-gpt-open-ai (accessed Apr. 24, 2023).

[4] Smart, “เปิดมุมมองรองประธานฝ่ายวิจัย Gartner ทำไม ChatGPT สั่นสะเทือนโลก AI?,” Marketing Oops!, Feb. 05, 2023. https://www.marketingoops.com/tech-2/chatgpt-gartner-ai-analysis/ (accessed Apr. 24, 2023).

[5] “รู้จัก ‘Chat GPT’ AI น้องใหม่ที่ทำเหล่าอาจารย์กังวล จนต้องกลับมาใช้วิธีสอบปากเปล่า และเขียนตอบบนกระดาษแบบเดิมๆ,”. https://mgronline.com/science/detail/9660000006807 (accessed Apr. 24, 2023).

[6] “รู้จัก ChatGPT แชตบอตผู้รอบรู้ เข้าใจภาษาซับซ้อนของภาษามนุษย์ ถกเถียงปรัชญา และมีจุดยืนทางการเมือง,”. https://plus.thairath.co.th/topic/undefined/undefined (accessed Apr. 24, 2023).