Jeffrey Brainard บรรณาธิการของเว็บไซต์ www.science.org ได้กล่าวถึง การศึกษาการมีชื่อในบทความตีพิมพ์ที่ไม่ตรงตามเกณฑ์หรือข้อตกลงการมีชื่อที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น เกณฑ์การมีชื่อของ International Committee of Medical Journal Editors (ICMJE) และ Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) เป็นต้น

     การศึกษานี้ดำเนินการโดย Nicola Di Girolamo นักวิจัยด้านสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Cornell ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาบทบาทการมีส่วนร่วม (Contribution) ของแต่ละผู้นิพนธ์ ที่ผู้นิพนธ์หลัก (Lead Author) ระบุไว้ในบทความตีพิมพ์ โดยศึกษาบทความตีพิมพ์ทั้งหมด 82,000 บทความ ที่ตีพิมพ์ในวารสารเข้าถึงแบบเปิด หรือ ตั้งแต่ปี พ.. 2560-2564 มีผู้นิพนธ์รวมจำนวน 629,000 คน จากการศึกษาพบว่า ผู้นิพนธ์จำนวน 35% ไม่ตรงตามเกณฑ์การมีชื่อของ ICMJE และ 4% ไม่ตรงตามเกณฑ์ของ PNAS และพบว่า 1% ของผู้นิพนธ์ ได้มีชื่อในบทความตีพิมพ์เนื่องจาก เป็นผู้จัดหาเงินทุน วัสดุ หรือทรัพยากรต่าง ๆ ในการดำเนินการวิจัย ซึ่งไม่สอดคล้องกับเกณฑ์การมีชื่อ นอกจากนี้ ผลการศึกษายังสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของเกณฑ์การมีชื่อของ ICMJE และ PNAS เช่น เกณฑ์ของ ICMJE กล่าวไว้ว่าต้องมีส่วนร่วมเชิงปัญญาอย่างสำคัญในการเขียนบทความหรือตรวจเนื้อหาผลงาน (ไม่ใช่เฉพาะภาษาหรือรูปแบบ) แต่เกณฑ์ของ PNAS กล่าวไว้เพียงการมีส่วนร่วมในการเขียนหรือแก้ไขบทความ

     Nicola Di Girolamo กล่าวว่า แรงผลักดันที่ทำให้ศึกษาเรื่องการมีชื่อในบทความนั้น มีสาเหตุจากประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อยังเป็นนักวิจัยประสบการณ์น้อย ได้ถูกขอให้เพิ่มชื่อนักวิจัยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมเชิงปัญญาอย่างสำคัญในการเขียนบทความให้มีชื่อในบทความตีพิมพ์ด้วย ซึ่งรวมแล้วมีชื่อนักวิจัยที่ไม่ตรงตามเกณฑ์การมีชื่อของ ICMJE มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้นิพนธ์ทั้งหมด และยังเห็นว่า Honorary Authorship นี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการประพฤติมิชอบทางการวิจัย (Research Misconduct) และเป็นเรื่องยากสำหรับ Co-author ที่จะปฏิเสธนักวิจัยที่อาวุโสกว่า ในการมีชื่อร่วมในบทความตีพิมพ์ด้วย

     อย่างไรก็ตาม Honorary Authorship หรือการมีชื่อในบทความตีพิมพ์ของนักวิจัยที่มีชื่อเสียง นักวิจัยอาวุโส อาจารย์อาวุโส หรือเจ้าของเงินทุนวิจัย ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติของผู้มีชื่อในผลงาน แต่ได้มีชื่อในผลงาน พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน

     Annette Flanagin บรรณาธิการของวารสาร JAMA Network (Open Access Medical Journal) ได้ให้ความเห็นว่า Honorary Authorship อาจเป็นรูปแบบของผู้ที่ต้องการมีชื่อในบทความตีพิมพ์เป็นจำนวนมากเพื่อดำรงตำแหน่งหรือเลื่อนตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกัน ต้องรับความเสี่ยงในการเสียชื่อเสียงด้วยเช่นกัน หากบทความตีพิมพ์นั้นถูกกล่าวหาว่ามีการประพฤติมิชอบทางการวิจัย (Research Misconduct)

เอกสารอ้างอิง

[1] สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, แนวทางการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ, พิมพ์ครั้งที่ 1. 2562.

[2] “‘Honorary authors’ of scientific papers abound—but they probably shouldn’t.” https://www.science.org/content/article/honorary-authors-scientific-papers-abound-they-probably-shouldn-t (accessed Sep. 29, 2022).

[3]  “ICMJE | Recommendations | Defining the Role of Authors and Contributors.” https://www.icmje.org/recommendations/browse/roles-and-responsibilities/defining-the-role-of-authors-and-contributors.html (accessed Sep. 29, 2022).

[4] M. K. McNutt et al., “Transparency in authors’ contributions and responsibilities to promote integrity in scientific publication,” Proc. Natl. Acad. Sci., vol. 115, no. 11, pp. 2557–2560, Mar. 2018, doi: 10.1073/pnas.1715374115.