เมื่อ มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการ COPE (Committee on Publication Ethics) ร่วมกับ STM ซึ่งเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานการตีพิมพ์ (https://www.stm-assoc.org/about-stm/) จัดทำผลการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ได้มีการขายร่างบทความสำเร็จ ที่เรียกว่า “Paper mill ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบทางด้านคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย

     กระบวนการของ Paper mill คือผู้ขายจะจัดทำร่างบทความวิชาการ (Manuscript) ในสาขางานวิจัยต่างๆ ให้ได้รับการตอบรับจากสำนักพิมพ์ จากนั้นจะนำมาหาผู้ที่สนใจต้องการใส่ชื่อตัวเองเข้าไปในบทความ โดยสามารถเลือกตำแหน่งของผู้นิพนธ์ เช่น First author, Co-responding author ซึ่งค่าใช้จ่ายจะขึ้นกับตำแหน่งของผู้นิพนธ์ และ Impact factor ของวารสารที่ตีพิมพ์ ทั้งนี้ Editor สามารถสังเกตพบบทความที่เกิดจากกระบวนการ Paper mill เช่น การระบุหน่วยงาน (Affiliation) ที่ไม่ชัดเจน การที่ผู้นิพนธ์ไม่ใช้อีเมลของหน่วยงานต้นสังกัด ข้อมูลของการวิจัยที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการทดลอง การขอปรับแก้รายชื่อผู้นิพนธ์ระหว่างช่วง Revision หรือ Proof corrections

     สาเหตุที่ส่งเสริมให้เกิด Paper mill ได้แก่ ความต้องการเพิ่มจำนวนผลงานทางวิชาการเพื่อใช้สำหรับการเลื่อนตำแหน่งหรือเพิ่มโอกาสที่จะได้รับทุนวิจัย ความจำเป็นต้องมีผลงานตีพิมพ์ของนักศึกษาเนื่องจากเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นพฤติกรรมที่ไม่ตรงกับหลักการทางจริยธรรม ส่งผลกระทบหลายอย่าง อาทิ เช่น บทความที่ถูกตีพิมพ์จาก Paper mill หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและถูกนำไปใช้ต่อในการวิจัยอื่นๆ จะทำให้สูญเสียทรัพยากรในการวิจัยนั้น และหากนำข้อมูลไปปรับใช้ทางด้านการแพทย์ อาจเกิดความเสี่ยงต่อคนไข้ได้

 

อ้างอิง :

[1] https://doi.org/10.24318/jtbG8IHLb