สวทช. ผนึกกำลัง จับมือพันธมิตร 3 หน่วยงาน สร้างความสามารถในการดำเนินการด้านระบบบริหารการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDIMS) สำหรับผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

     กระทรวงวิทย์ จับมือประชารัฐ หนุนเศรษฐกิจประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันหลายมาตรการเพื่อ SMEs และ Startups พร้อมเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% ขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม เอกชนขานรับร่วมงาน CEO Innovation Forum 2016

     20 มกราคม 2564 - ณ สวทช. : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (สรอ.) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (สพช.) ในการผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้มีการประยุกต์ใช้ รวมถึงได้รับการตรวจประเมินและรับรองความสอดคล้องตามข้อกำหนดระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Research, Technology Development and Innovation Management System : RDIMS) โดย สวทช. วว. และ สรอ. จะทำหน้าที่ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานระบบ RDIMS ตามข้อกำหนดที่พัฒนาขึ้น ส่วน สพช. จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำการจัดให้มีมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยฯ ของผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีความต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ กิจการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบ RDIMS ยังจะสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการยกเว้นภาษี สำหรับรายจ่ายการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ด้วยวิธีการ Self-Declaration ได้อีกด้วย

 

 

     ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อยังคงความสามารถในการแข่งขันและการอยู่รอดแบบยั่งยืน ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการดำเนินกิจกรรมต่อยอดผลงานวิจัยให้เกิดเป็นนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถตอบสนองต่อโอกาสภายนอกและภายในได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การมีระบบบริหารจัดการงานวิจัยที่เป็นระบบและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการนวัตกรรม จะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

     ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวง อว. โดย สวทช. จึงได้จัดทำมาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรเกี่ยวกับระบบ RDIMS ขึ้น และร่วมกับ วว. โดยสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) ขับเคลื่อนการดำเนินการตรวจประเมินและรับรองระบบ RDIMS ทั้งนี้ในเบื้องต้นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีในรูปแบบ Self-Declaration ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถนำรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาฯ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก สวทช. ก่อน ในปีงบประมาณ 2564 นี้ สวทช. ได้ประสานความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น โดยร่วมกับ สพช. เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำการจัดให้มีมาตรฐาน และร่วมกับ วว. และ สรอ. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรับรองมาตรฐานดังกล่าว โดยเป็นความร่วมมือภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา >>ผลการดำเนินงาน<<

 

 

 

     ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. และ สวทช. มีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. นั้นเป็นหน่วยรับรอง (Certification Body) มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจประเมินระบบบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล ด้าน สวทช. มีความเชี่ยวชาญด้านการพิจารณาโครงการวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทางภาษี จึงร่วมกันพัฒนามาตรฐาน RDIMS โดยมีการประยุกต์จากมาตรฐานระบบบริหารจัดการคุณภาพ (ISO 9001) รวมถึงพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับผู้ตรวจประเมิน RDIMS ต่อมาขยายความร่วมมือเรื่อยมากระทั่งล่าสุด คือ การดำเนินงาน “การสร้างความสามารถในการดำเนินการด้านระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับองค์กรภาครัฐและเอกชน” โดย วว. และ สวทช. ได้ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขมาตรฐาน RDIMS และมีการประกาศใช้ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ขณะนี้ได้ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน RDIMS เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีอีกด้วย

 

 

 

     นางพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (สรอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สรอ. เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบบริหารจัดการตามแนวทางมาตรฐานสากล รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร การตรวจประเมินและการทวนสอบการนำมาตรฐานระบบการบริหารจัดการสากลไปปฏิบัติในองค์กรหรือสถานประกอบการ ซึ่งบทบาทของ สรอ. ในการเข้าร่วมโครงการนี้ มี 2 บทบาทหลัก ได้แก่ 1) การตรวจประเมินและการทวนสอบการนำข้อกำหนดระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ระบบ RDIMS) ไปปฏิบัติขององค์กร/สถานประกอบการภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ 2) การพัฒนาผู้ตรวจประเมิน (Auditor) และวิทยากร (Trainer) ระบบ RDIMS และระบบการจัดการนวัตกรรมอื่นๆ ตามแนวทางมาตรฐานสากล รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรขององค์กร/สถานประกอบการ ร่วมกับ สวทช. โดยระบบ RDIMS สามารถพัฒนา ต่อยอดการดำเนินงานสู่มาตรฐานสากลได้หลายมาตรฐาน โดยเฉพาะ ISO 56002 Innovation Management System (InMS) หรือระบบการจัดการนวัตกรรม หรือแม้กระทั่ง ISO 30401 Knowledge Management System (KMS) หรือระบบการจัดการองค์ความรู้ ซึ่งการจัดการองค์ความรู้เป็นพื้นฐานที่สำคัญขององค์กร/สถานประกอบการภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานวัตกรรม นอกจากนี้ ระบบ RDIMS ยังสามารถบูรณาการและประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบบริหารจัดการสากลต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกได้อีก เช่น ISO 9001 ระบบการบริหารคุณภาพ, ISO 14001ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม, ISO 45001 ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

 

 

 

    ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (สพช.) กล่าวเสริมถึงการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่า สพช. จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำการจัดทำระบบมาตรฐาน RDIMS แก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งทาง สพช. ได้เตรียมความพร้อมไว้ในหลายด้าน โดยเฉพาะวิทยากรที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยจะทำหน้าที่อบรมให้ความรู้ด้านข้อกำหนดของมาตรฐานให้กับผู้บริหารและทีมงาน พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม คู่มือการดำเนินงานและเอกสารต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน RDIMS เช่น การวางแผนการดำเนินงานวิจัย การควบคุมกระบวนการวิจัย การจัดการกับผลของงานวิจัยให้เป็นระบบ โดยที่ปรึกษาจะช่วยตรวจประเมินระบบเบื้องต้น (Pre-Assessment) และให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีความพร้อมในการขอการรับรองมาตรฐาน RDIMS และ สพช.หวังอย่างยิ่งว่าจะสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการยกระดับผลิตภาพขององค์กรด้วยการสร้างผลงานวิจัย ก่อเกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมกระบวนการได้ต่อไปในอนาคต

 

 

 

    ทั้งนี้ทั้ง 4 หน่วยงานพันธมิตรจะร่วมกันดำเนินการผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานระบบ RDIMS รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ระบบ RDIMS ในองค์กรได้อย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่การกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารองค์กรพันธมิตรเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยฯ ของผู้ประกอบการเอกชนต่อไป หากผู้ประกอบการรายใด สนใจพัฒนาระบบ RDIMS ให้กับกิจการ โปรดติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สวทช. โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1328 - 1332 และ 1631 – 1634”