กิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่
“สิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษี 200% สำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยฯ และแนวทางการนำเสนอโครงการวิจัยฯ เพื่อขอการรับรอง”
วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.00 – 11.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco Webex Events
29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สวทช. โดยงานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน (RDI) ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ เรื่อง “สิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษี 200% สำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยฯ และแนวทางการนำเสนอโครงการวิจัยฯ เพื่อขอการรับรอง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (มาตรการยกเว้นภาษี 200%) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการนำเสนอรายละเอียดข้อมูลโครงการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและผู้ที่สนใจ และรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้ประกอบการภาคเอกชนและผู้ที่สนใจ อันจะนำไปสู่การพัฒนางานบริการของหน่วยงานให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในการจัดงานได้รับเกียรติจาก คุณภาณุทัต ธรรมบุศย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการทางการเงินเพื่อนวัตกรรม (IFS) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวเปิดงาน โดยคุณภาณุทัต กล่าวว่า “จากการทำงานของ สวทช. ในการรับรองความเป็นงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีในช่วงปีงบประมาณ 2544 – ปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการรับรองฯ รวมทั้งสิ้น 6,202 โครงการ ในจำนวนดังกล่าวมีโครงการที่ได้รับการรับรองแล้ว 5,436 โครงการ โดยผู้ประกอบการภาคเอกชนยังคงให้ความสนใจยื่นโครงการเพื่อขอการรับรองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเอกชนมีความตระหนัก สนใจและให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ในธุรกิจเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับรองโครงการวิจัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ผู้จัดงานจึงเห็นควรสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และแนวทางการนำเสนอโครงการวิจัยฯ เพื่อขอการรับรอง ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีรายจ่ายเพื่อทำการวิจัยฯ ที่เข้าข่ายจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น”
ภายในงานผู้เข้าร่วมงานได้รับฟังการบรรยายเรื่อง “สิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษี 200%” โดย คุณพรศิริ ทองเปรม รักษาการ ผู้จัดการงานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน (RDI) สวทช. ซึ่งได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ มาตรการยกเว้นภาษี 200% ให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการยกเว้นภาษี 200% และแนวทางการนำเสนอโครงการวิจัยฯ รวมถึงแนะนำบริการต่าง ๆ ของสวทช. (NSTDA Services)
Highlight ของงานเป็นการบรรยาย ในหัวข้อ เรื่อง “แนวทางการนำเสนอโครงการวิจัยฯ เพื่อขอการรับรอง” โดย ผศ.ดร.บุญสิทธิ์ ยิ้มวาสนา ผู้ทรงคุณวุฒิ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยายเจาะลึกถึงแนวทางในการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยฯ ให้ผู้ประกอบการเอกชน เพื่อขอการรับรองมาตรการยกเว้นภาษี 200%
และในช่วงท้ายกิจกรรมมีการหยิบยกประเด็นคำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของมาตรการยกเว้นภาษี 200% มานำเสนอ รวมถึงมีการตอบประเด็นข้อสงสัยและคำถามต่าง ๆ จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยคุณชุติมา ศรีสิทธิ รัตน์กุล และคุณบงกช แสนสีละ นักวิเคราะห์อาวุโส งานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน (RDI) สวทช.
จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเอกชน หน่วยงานรัฐ และมหาวิทยาลัย ลงทะเบียน 434 คน และเข้าร่วมงานในวันจัดกิจกรรม 341 คน จากกว่า 150 หน่วยงาน นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่รับฟังแล้ว ต้องการจะเจาะลึกแนวทางการเขียนโครงการวิจัยฯ เพื่อขอการรับรอง ทางสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) สวทช. ได้จัดสัมมนาอบรมในหลักสูตร เทคนิคการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับรองโครงการวิจัยฯ ตามมาตรการยกเว้นภาษี ซึ่งมีทั้งหลักสูตรทั่วไป และหลักสูตรเชิงปฏิบัติการ เจาะลึกเฉพาะองค์กร รวมทั้งยังมีหลักสูตร : ระบบสนับสนุนการดำเนินงานรับรองโครงการวิจัยฯ ของผู้ประกอบการเอกชน : RDC Online สำหรับผู้ประกอบการอีกด้วย
ผู้สนใจมาตรการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน ฝ่ายบริการทางการเงินเพื่อนวัตกรรม (IFS) สวทช. 0-2564-7000 ต่อ 1328 - 1332 และ 1631 - 1634
กรณีสนใจหลักสูตรฝึกอบรม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) สวทช. 02-644 8150 ต่อ 81886, 81887 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.