รถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ที่พัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

Introduction:

การพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าเกิดขึ้นภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา โครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  และ ขสมก. ในการพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าในระดับอุตสาหกรรม ที่มีความเป็นไปได้ในการผลิตและจำหน่ายรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศไทย โดยโจทย์ตั้งต้นมาจากคำถามจากหน่วยงานภาครัฐ ที่มีคำถามถึงขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าภายในประเทศ โครงการจึงพยายามที่จะวิจัยและพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการไทย ประกอบไปด้วย บริษัท พานทอง กลการ จำกัด บริษัท รถไฟฟ้า ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท โชคนำชัยไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด และบริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลยด์) จำกัด เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าว และยังเป็นการยกระดับความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการไทย ในการออกแบบ พัฒนา และนำไปสู่การผลิตรถโดยสารไฟฟ้าภายในประเทศ 

รถโดยสารไฟฟ้า พัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใข้แล้วของ ขสมก. ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี และแจ้งปลดระวางไปแล้ว ถูกตีเป็นซาก โดยได้นำซากรถเก่า ขสมก. มาปรับปรุงและพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อยืดอายุการใช้งานรถโดยสารออกไปมากกว่า 12 ปี โดยมีต้นทุนการพัฒนาต่ำกว่า 7,000,000 บาทต่อคัน ซึ่งต่ำกว่าการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าใหม่ที่มีต้นทุนการจัดซื้อมากกว่า 12,000,000 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งคาดว่าหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซื้อรถใหม่และคืนทุนภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี และสามารถยืดอายุการใช้งานซากรถเก่าออกไปได้อีกอย่างน้อย 15 ปี นอกจากนั้น ยังเป็นการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า ด้วยขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย หลากหลายสาขา หลากหลายสถาบัน ทั้งจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคล ธัญบุรี และบริษัทเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

ผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือได้แก่

  1. ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าที่พัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว จำนวน 4 คัน วิ่งได้ 100 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า และมีความเหมาะสมในการให้บริการเป็นรถโดยสารประจำทางสาธารณะไฟฟ้า อีกทั้งยังมีต้นทุนการพัฒนาต้นแบบประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน และมีการยืดอายุการใช้งานซากรถโดยสารประจำทางที่สิ้นอายุแล้วออกไปอีกอย่างน้อย 15 ปี 
  2. สถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีกำลังไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 72 กิโลวัตต์ มีระยะเวลาในการประจุไฟฟ้ากับต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าจนเต็ม ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง ต้นทุนในการผลิต 300,000 บาทต่อสถานีชาร์จ 
  3. องค์ความรู้และข้อเสนอแนะในการออกแบบวิธีการทดสอบรถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งด้านสมรรถนะ การตรวจสอบคุณลักษณะ ความปลอดภัย และความเหมาะสมในการใข้งาน ซึ่งจะนำไปสู่การอ้างอิงผลการทดสอบเพื่อรับรอง และยื่นจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 
  4. รายงานการศึกษาความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ และข้อเสนอแนะการส่งเสริมทางนโยบายของประเทศ 

 

 

นอกจากการพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าโดยผู้ประกอบการไทยแล้ว สวทช. โดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ยังได้พัฒนาระบบประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ และกระบวนการทดสอบสมรรถนะ ความปลอดภัย และความเป็นไปได้ในการใช้รถโดยสารไฟฟ้าในบริการขนส่งมวลชน ที่พัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. โดยรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบทั้ง 4 คัน จะผ่านการทดสอบสมรรถนะ อาทิ การวิ่งที่ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 นาที การวิ่งขึ้นทางลาดชัน และการวิ่งทดสอบผ่านบริเวณน้ำท่วมขัง เป็นต้น 

ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าระดับอุตสาหกรรม จำนวน 4 ต้นแบบที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการไทย ทั้ง 4 ราย หลังจากผ่านการทดสอบมรรถนะ ความปลอดภัย และความเหมาะสมใช้งานแล้ว จะได้รับการจดทะเบียน และส่งมอบให้กับหน่วยงานร่วมดำเนินการทั้ง 4 หน่วยงานเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงศึกษาเรียนรู้ และการใช้งานในภาคบริการขนส่งมวลชนต่อไป 

เอกสารประกอบการบรรยาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

นายสรวิศ วณิชอนุกูล
นักวิเคราะห์ ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 
สำนักงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

นิทรรศการอื่นๆ :