Introduction:

Roxizyme คือ เอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส หรือเอนไซม์ SOD เป็นเอนไซม์ที่มีความสามารถในการกำจัดสารอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ช่วยชะลอวัยอีกด้วย จากคุณสมบัติดังกล่าว จึงได้มีการนำเอนไซม์ SOD มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นวงกว้าง อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม เภสัชกรรม และการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเอนไซม์ SOD ในประเทศไทย ยังต้องนำเข้าเอนไซม์ชนิดนี้จากต่างประเทศอยู่

 

 

ทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ ไบโอเทค ได้ค้นหาเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ และสามารถในการผลิตเอนไซม์ SOD ในปริมาณสูง โดยเอนไซม์ SOD ที่ผลิตได้นี้ สามารถทำงานได้ดีในช่วงอุณหภูมิและค่าพีเอชค่อนข้างกว้าง และมีสภาวะการทำงานที่ดีที่สุดที่ค่าพีเอช 5.0 และอุณหภูมิ 35 -37 องศาเซลเซียส จึงเหมาะสำหรับนำไปเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการกำจัดสารอนุมูลอิสระในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงามได้

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้พัฒนากระบวนการผลิตเอนไซม์ SOD โดยใช้อาหารที่มีเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตดังกล่าวลดต้นทุนการผลิต ลดความยุ่งยากในกระบวนการเลี้ยงเชื้อ และลดระยะเวลาในการผลิตลง

 

 

งานวิจัยนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถนำไปใช้ในการประเมินความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยีของกระบวนการผลิตเอนไซม์เป้าหมายแล้ว ยังถือเป็นการสร้างฐานความสามารถเชิงนวัตกรรมของบุคลากรในประเทศ ให้มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเอนไซม์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ หรือ specialty enzymes ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเอนไซม์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตในตลาดโลกแบบก้าวกระโดด และมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นวงกว้าง ที่นิยมใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่มีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

สำหรับกระบวนการผลิตเอนไซม์ SOD ที่คณะผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นนั้น อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีกระบวนการผลิตเอนไซม์ในถังหมักขนาดตั้งแต่ 70 ลิตร จนถึง 10,000 ลิตร ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเก็บเกี่ยวเอนไซม์เป้าหมายเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการผลิตเอนไซม์ SOD ในระดับอุตสาหกรรมต่อไป

นอกจากนี้ ทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ ยังได้ศึกษาและค้นพบเอนไซม์ SOD อีกหลายชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชน หรือผู้ประกอบการที่สนใจ เข้ามารับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อผลิตเอนไซม์ SOD เชิงพาณิชย์ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและดูแลสุขภาพ และอาหารเสริม ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มาจากธรรมชาติ ที่ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่สอดคล้องและสิ่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อีกด้วย

 

เอกสารประกอบการบรรยาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

คุณพิษณุ ปิ่นมณี
ทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ (IENT)
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ (IBBG)
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(BIOTEC)

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on email
Email

นิทรรศการอื่นๆ :