magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home NSTDA ยุทธศาสตร์สร้าง’คนไอที’ติวเข้มบัณฑิตสายพันธุ์ใหม่
formats

ยุทธศาสตร์สร้าง’คนไอที’ติวเข้มบัณฑิตสายพันธุ์ใหม่

ประเทศไทย รวมถึงหลายประเทศในอาเซียนมีความต้องการบุคลากรด้านไอซีทีจำนวนมาก และปัจจุบันต้องยอมรับว่ายัง “ขาดแคลน” อยู่ ทำให้สถาบันการศึกษาต้องเร่งผลิตบัณฑิตในสายอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรม  ส่งเสริมการแข่งขัน และพัฒนาประเทศให้โดดเด่นในเวทีระดับโลก
ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ “สวทช.” ได้ดึง  6 พันธมิตร ที่มีทั้งสถาบันการศึกษา บริษัทไอทีระดับโลก รวมถึงหน่วยงานพัฒนาเทคโนโลยี เร่งแผนจัดอบรมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีคลาวด์รุ่น 2 เพื่อดันไทยขึ้นแท่นผู้นำบริการไอทีภูมิภาคอาเซียน โดยชี้ว่าไทยยังมีจุดอ่อน คือ ขาดแคลนบุคลากร  และยังคงรั้งประเทศอันดับ 3 ที่นักลงทุนเลือก


นายธนา สุขวารี รองคณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ม.ศรีปทุมไม่เพียงผลิตบัณฑิตเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งกระบวนการที่จะหล่อหลอมให้ได้บุคลากรที่มีลักษณะเฉพาะนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ความเข้าใจในตัวเด็กและเยาวชน พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้อง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ตรงความต้องการตลาด หรือพร้อมจะเป็น ผู้ประกอบการใหม่ได้
:นักพัฒนาแอพฯ โมบายสุดฮิต
สาขาวิชาที่กำลังเป็นที่สนใจและมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก คือ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-การพัฒนาโมบาย แอพพลิเคชั่น ถือเป็น 1 ใน 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์, สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์การพัฒนาโมบายแอพพลิเคชัน ที่มีการเปิดสอนในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตรปริญญาตรีของ ม.ศรีปทุม
“ปัจจุบันการใช้งานอุปกรณ์โมบาย เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต และโน้ตบุค เป็นที่แพร่หลาย ทั้งในไทยและทั่วโลก นักพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นจึงเป็นที่ต้องการของตลาด ถึงขนาดที่เรียกว่า หากสามารถสร้างสรรค์โมบายแอพพลิเคชั่นได้ ก็สามารถหารายได้ หรือมีงานทำตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ”
นายธนา กล่าวยืนยันว่า หลักสูตรที่พัฒนาขึ้น มีการออกแบบอย่างดี มีการร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ในสังกัด
กระทรวงไอซีที โดย ม.ศรีปทุมได้ส่งนักศึกษาที่สนใจจำนวน 142 คน เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ และเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และมีบริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมโมบายแอพพลิเคชั่นเข้าร่วม 34 ราย ให้การฝึกอบรมนักศึกษาแบบเข้มข้น ทำงานจริง พัฒนาผลงานจริง
“นักศึกษายุคใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง หากได้รับการแนะนำอย่างถูกต้อง มีการฝึกอบรมโดยตรงจากภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ยังเรียนอยู่ จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีทิศทาง ตัวนักศึกษารู้ว่าจะเดินไปในทิศทางใด มหาวิทยาลัยก็ส่งเสริมได้ถูกต้อง และภาคอุตสาหกรรมก็ได้บุคลากรที่สามารถทำงานตรงความต้องการ”
ผลที่ได้เพิ่มขึ้นคือ ม.ศรีปทุมสามารถพัฒนานักศึกษาและบัณฑิตไอทีสายพันธุ์ใหม่ คือ มีประสบการณ์ทำงานและพัฒนาผลงาน มีความมั่นใจ นำผลงานที่ได้พัฒนาขึ้นไปแข่งขันยังเวทีต่างๆ และได้รับรางวัลชนะเลิศ สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองและสถาบันการศึกษา ทำให้หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน พร้อมจะรับเข้าทำงานทันทีที่จบการศึกษา
“ยิ่งกว่านั้น คือ นักศึกษาและบัณฑิตจำนวนไม่น้อยที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ได้ด้วยตัวเอง” นายธนา กล่าว
ยิ่งต่อไปประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ เออีซี ในปี 2558 การมีบุคลากรไอทีที่มีความสามารถจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ ให้แข่งขันได้ สามารถรับงานจากต่างประเทศสร้างรายได้เข้าประเทศอีกมหาศาล
:สวทช.เร่งจัดอบรมคนไอที
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมสามารถเป็นผู้นำด้านบริการไอทีในระดับอาเซียนได้ แต่ถึงแม้จะมีความได้เปรียบเรื่องของประชากร โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งจีดีพีที่มีอัตราเติบโตเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค แต่ไทยยังมีจุดอ่อน หนึ่งในนั้น คือ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสิงคโปร์เป็นตัวเลือกอันดับแรกของนักลงทุน ส่วนไทยรั้งอันดับ 3 ตามหลังมาเลเซีย ทั้งยังมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ไล่ตามมาติดๆ
เขากล่าวว่า ในระดับอาเซียนการใช้เทคโนโลยีของไทยอยู่ในแถวหน้า แต่บริการใหม่ๆ กลับไปกระจุกตัวในสิงคโปร์ ดังนั้นจำเป็นต้องหาวิธีพัฒนาศักยภาพตนเอง เพื่อดึงดูดนักลงทุน พร้อมสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าผู้ใช้บริการด้วยว่า แม้สถานการณ์การเมืองในประเทศไม่แน่นอน แต่มีมาตรการป้องกันจากความเสี่ยงที่ถูกปิดล้อม และยังสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เทรนด์ใช้งานและลงทุนไอทีกำลังเคลื่อนตัวไปสู่เทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้งทั้งในไทยและทั่วโลก ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดัน คือ ความคล่องตัว และงบการลงทุนที่จำกัด แต่ปัญหาสำคัญ  คือ ขาดบุคลากรที่จะตอบรับกระแสโลก
“คลาวด์เป็นอนาคตของโลกไอที และจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรม ต่อไปยังมีโอกาสกลายเป็นโครงสร้างสำคัญช่วยเชื่อมโยงบริการที่หลากหลายจาก ทั้งภาครัฐและธุรกิจ”
ล่าสุด สวทช.ร่วมมือกับพันธมิตร 6 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า), สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.), รวมถึง ภาคเอกชน บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท วีเอ็มแวร์ (ประเทศไทย) จำกัด, และ บริษัท เดลล์ คอร์เปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดหลักสูตรอบรม “Certificate for Cloud Specialists” รุ่นที่ 2 โดยรับได้จำนวนจำกัด 25 คน เพื่อเร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญให้ประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันเตรียมความพร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558
“หากจะให้ดีควรมีสัก 100-200 คน แต่ขณะนี้ที่ได้รับใบประกาศนียบัตรระดับนานาชาติยังมีไม่ถึง 10 คน หวังด้วยว่าต่อไปจะเกิดความร่วมมือระหว่างกันในหลายภาคส่วนทั้งระดับ มหาวิทยาลัยภาครัฐ และเอกชน”
:”ไทย”คนพร้อมอันดับ3อาเซียน
ผลสำรวจจากสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมระบุว่า คลาวด์ คอมพิวติ้งมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี 30% เพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดมากถึง 22% พร้อมระบุว่า กลุ่มธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพเติบโตสูงคือบริการการท่องเที่ยวโดยเฉพาะผ่าน ช่องทางออนไลน์และโมบาย
ขณะที่ นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(สรอ.) กล่าวด้วยว่า เมื่อเทียบกันในอาเซียนความพร้อมด้านบุคลากรไทยอยู่ลำดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย หากปล่อยให้เป็น เช่นนี้ต่อไป ประเทศของเราเสี่ยงทั้งด้านข้อมูลที่ต้องนำไปฝากไว้กับเซิร์ฟเวอร์เมืองนอก ทั้งมีโอกาสเสียโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากลูกค้าหันไปใช้บริการจากผู้ให้บริการต่างประเทศ
‘นักศึกษายุคใหม่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง’

รายการอ้างอิง :

ยุทธศาสตร์สร้าง’คนไอที’ติวเข้มบัณฑิตสายพันธุ์ใหม่. (2557). กรุงเทพธุรกิจ. ฉบับวันที่ 12 มีนาคม, หน้า 17,28.– ( 85 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


4 × = thirty two

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>