magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ‘วิทยาศาสตร์สู่ท้องถิ่นทุรกันดาร’สร้างเครือข่ายสุขอนามัย…ส่งเสริมความรู้
formats

‘วิทยาศาสตร์สู่ท้องถิ่นทุรกันดาร’สร้างเครือข่ายสุขอนามัย…ส่งเสริมความรู้

การแปรรูปนมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มนมของสามเณรที่ไม่ชอบให้ได้รับสารอาหารในน้ำนมโดยแปรรูปเป็นโยเกิร์ต ส่งเสริมโภชนาการและสุขอนามัยของสามเณร โรงเรียนร้องแหย่วิทยาคม จ.แพร่ เป็นหนึ่งในตัวอย่างโครงงานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โครงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โครงงานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากครูและสามเณรนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันก่อเกิดการพัฒนาด้านวิชาการ ในองค์ความรู้ที่ได้รับรวมถึงประสบการณ์จากการทำงานวิทยาศาสตร์ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขอนามัย แก้ปัญหาด้านโภชนาการและสุขอนามัยของสามเณรนักเรียนในโรงเรียนได้ อีกทั้งใน โครงการฯ ซึ่งมีโครงงานวิทยาศาสตร์หลายด้านทั้งสิ่งแวดล้อม ด้านอาชีพ วัฒนธรรม ยังเกิดการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน วัด ชุมชน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของชุมชนชนบท ไบโอเทค สวทช. จึงส่งเสริมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละชุมชน จัดทำโครงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา รวมถึงโครงการยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ยึดหลักการทรงงานและแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นแนวทางในการดำเนินงานคือ การพึ่งพาตนเอง การมีส่วนร่วม การพัฒนาแบบองค์รวมโดยผ่านกระบวน การเรียนรู้   พัฒนาระบบประสานงานความร่วมมือจากทุกส่วนพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและยึดหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นโครงการที่ดำเนินงานร่วมกับกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่มที่ 6 จำนวน 60 โรงเรียน ในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ แพร่ น่าน เชียงราย พะเยา และลำปาง โดยที่ผ่านมาการพัฒนาชุมชนชนบทด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “1 ทศวรรษ วิทยาศาสตร์สร้างคน ส่งเสริมการเรียนรู้” เดินทางมาที่ จ.แพร่ และ จ.น่าน

อาจารย์ผ่องพรรณ เอกอาวุธ ผู้เชี่ยวชาญไบโอเทค ให้ความรู้กล่าวถึงการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีว่า โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการพัฒนาบุคลากรทั้งอาจารย์ ครูบรรพ ชิต ครูฆราวาส รวมถึงสามเณรนักเรียน ได้มีความรู้เข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนักวิจัยจากไบโอเทค สวทช. ให้คำปรึกษาการทำโครงงาน ค่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ครู นักเรียนเกิดกระบวนการคิดมีความรู้เข้าใจและสามารถนำมาใช้ได้เหมาะสมในแต่ละชุมชนพื้นที่

“ไบโอเทคตั้งหน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบทซึ่งนอกจากงานทางด้านการศึกษาแล้วยังมีในส่วนงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนร่วมด้วย และนอกจากมหัศจรรย์แห่งนม โครงงานวิทยาศาสตร์โรงเรียนพระปริยัติธรรม จังหวัดแพร่ ซึ่งแปรรูปนม ส่งเสริมโภชนาการและสุขอนามัยให้กับเณรในโรงเรียนได้มีโอกาสดื่มนม แก้ปัญหาภาวะโภชนาการที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งสามารถเผยแพร่ความรู้ขยายต่อชุมชน

โครงงานวิทยาศาสตร์ที่นำมาประยุกต์โดยดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ทั้งในด้านอนามัยและโภชนาการ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพและด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม  อีกหลายโครงงานเสริมสร้างศักยภาพทางการงานอาชีพ สามเณรนักเรียนสามารถทำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายสร้างรายได้ระหว่างเรียน เช่น งานช่างสิบหมู่ การพัฒนาศักยภาพการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามเณรได้เรียนรู้การอนุรักษ์น้ำ ดิน ด้วยการทำปุ๋ยหมักชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การปลูกหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ ”

การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน หมู่บ้านผาคับ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

ไบโอเทค สวทช.ร่วมกับหลายหน่วยงานส่งเสริมอาชีพหลังการทำนาให้ความรู้การปลูกข้าวสาลีให้ได้ผลผลิตคุณภาพ เก็บรักษาผลผลิตรวมถึงการแปรรูปผลผลิตเป็น ชาต้นอ่อนข้าวสาลี เพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างอาชีพเสริมและรายได้ให้แก่ชุมชน

วิศรา ไชยสาลี นักวิชาการหน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท งานถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ไบโอเทค สวทช. ให้ความรู้ว่า  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ขณะเดียวกันช่วยชี้ทางบอกการแก้ไขได้

การทำการเกษตรดินและน้ำเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมองเห็นประโยชน์การใช้พื้นที่หลังนาซึ่งการที่เกษตรกรจะทิ้งนาไปจะทำให้เสียโอกาสจึงมองหาพืชทางเลือก เสริมอาชีพหลังนาให้กับเกษตรกรในชุมชน ได้เป็นทางเลือก

“พืชที่ปลูกหลังฤดูทำนาที่เกษตรกรเลือกเป็นข้าวสาลี วิถีดั้งเดิมจะปลูกข้าวก่อนนับแต่ฤดูทำนา ช่วงพฤษภาคมก็จะเตรียมดินไว้  ข้าวสาลี เดิมผลผลิตได้น้อยประมาณ 180 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อนำเทคโน โลยีมาเสริมเริ่มจากการตรวจพันธุ์ คัดพันธุ์สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรได้และจากการขายเมล็ด  ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาศึกษาวิจัยนำมาแปรูปเป็นชาต้นอ่อนข้าวสาลี  ช่วยเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น เสริมรายได้แก่เกษตรกร” อีกโครงการที่ถ่ายทอดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสู่ชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ  พัฒนาสร้างความยั่งยืน.

วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม

โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานให้แก่พระและสามเณร โดยมุ่งเน้นวิชาการในด้านพุทธศาสนาแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 3 ส่วนคือ แผนกสามัญ แผนกธรรมและแผนกบาลี โดยการศึกษาในแผนกสามัญศึกษาเป็นการเรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ เช่นเดียวกับโรงเรียนสามัญทั่วไป ส่วนการศึกษาแผนกธรรมเป็นการศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรมในพุทธศาสนาโดยใช้ภาษาไทยในการเรียน การสอนมีการศึกษา 3 ระดับ คือ นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก ส่วนการศึกษาแผนกบาลี เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระไตรปิฎกซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลีแบ่งเป็นประโยค 1 ถึง 9  เบื้องต้นโดยผู้เรียนต้องเรียนการอ่านและเขียนภาษาบาลีก่อนและเรียนจนถึงระดับที่สามารถแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน

สามเณรธงชัย ธนะขว้าง โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม อ.วังผา จ.น่าน เล่าถึง โครงงานการศึกษาเปรียบเทียบชนิดมูลสัตว์ต่อการเจริญเติบโตของพืช และ โครงงานกาวผงจากวัตถุดิบเหลือ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ช่วยลดค่าใช้จ่ายว่า การศึกษาเปรียบเทียบชนิดมูลสัตว์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ใช้การหมักมูลสัตว์ วัดค่าสารอาหารในดิน โดยมูลสัตว์ได้จากสิ่งที่มีอยู่ในการเกษตรของชุมชนโดยจะนำไปหมัก หลังจากที่นำไปรดพืชจะวัดค่าสารอาหารในแต่ละชนิดของมูลว่าชนิดใดให้ค่าสูงสุด ในกระบวนการทดลองนำมูลสัตว์สามชนิดได้แก่ ไก่ หมู วัว และจากการหมักมูลสัตว์ทำให้ได้ปุ๋ยใช้ในแปลงเกษตรของโรงเรียน รวมถึงมีโครงการขยายไปสู่ชุมชนช่วยลดค่าใช้จ่าย

กาวผงจากวัตถุดิบเหลือ อีกโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการซื้อกาวลงได้ซึ่งที่มาของโครงงานนี้มาจากการใช้กาวทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงเรียนซึ่งใช้เป็นจำนวนมาก โครงงานนี้ใช้ข้าวสุกที่เหลือในแต่ละวันนำไปตากแห้งและบดผสมกับน้ำผึ้งซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ดีเช่นเดียวกับกาว แต่อาจมีข้อจำกัดคือการเก็บรักษา.

“โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการพัฒนาบุคลากรทั้งอาจารย์ ครูบรรพชิต ครูฆราวาส รวมถึงสามเณรนักเรียน ได้มีความรู้เข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนักวิจัยจากไบโอเทค สวทช.ให้คำปรึกษาการทำโครงงาน ค่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด และสามารถนำมาใช้ได้เหมาะสมในแต่ละชุมชนพื้นที่”

รายการอ้างอิง :

‘วิทยาศาสตร์สู่ท้องถิ่นทุรกันดาร’สร้างเครือข่ายสุขอนามัย…ส่งเสริมความรู้. (2557). เดลินิวส์ (กรอบบ่าย). ฉบับวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557, หน้า 4.– ( 35 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


5 × three =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>