magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home NSTDA ซิสโก้เพิ่มทีมลุยตลาดภาครัฐมั่นใจชะลอลงทุนแค่ระยะสั้น
formats

ซิสโก้เพิ่มทีมลุยตลาดภาครัฐมั่นใจชะลอลงทุนแค่ระยะสั้น

“ซิสโก้” มองตลาดไทยบวก แม้วิกฤตการเมืองกระทบลงทุนไอที เชื่อแค่ระยะสั้น เดินหน้าเพิ่มฝ่ายขายและวิศวกรวางแผนเจาะลูกค้าภาครัฐ ขณะที่ภาคธุรกิจเดินหน้า “3G-4G และทีวีดิจิทัล”กระตุ้นการลงทุนโครงข่าย

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน เปิดเผยว่า ซิสโก้ยังมองการลงทุนในไทยเป็นบวก แม้สถานการณ์การเมืองขณะนี้จะทำให้การลงทุนภาครัฐหยุดชะงัก และเอกชนส่วนใหญ่ชะลอลงทุนไปอีก 3 เดือน  เพื่อรอดูสถานการณ์และความต้องการของตลาดให้ชัดเจนก่อน แต่บริษัทรับพนักงานเพิ่มทั้งทีมขายและวิศวกรเพื่อเตรียมเจาะตลาดภาครัฐ

จากผลสำรวจล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีคนใช้บรอดแบนด์อยู่ที่ 4.72 ล้านราย และมีอัตราการเพิ่มต่อครัวเรือนอยู่ที่ 23.63% จาก 22 ล้านครัวเรือนช้ากว่าประเทศอื่น

ขณะที่ผลการศึกษาดัชนีบ่งชี้ระดับความพร้อมของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร (Network Readiness Index : NRI) ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 74 ต่ำกว่าสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 และมาเลเซียอยู่อันดับ 30 ยิ่งเมื่อย้อนไปเทียบกับปี 2550 จะยิ่งน่าตกใจ เพราะไทยเคยอยู่อันดับที่ 40 แม้ประเทศในอาเซียนจะตกอันดับลงมาเหมือนกัน แต่ไทยร่วงลงหนักที่สุดจึงต้องทบทวนการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ พร้อมแข่งขันในอาเซียน แม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 18.4% ของครัวเรือนในปี  2555 เป็น 23.5% ในปีที่แล้วก็ตาม

“แม้บริษัทจะมีงานในมือถึงแค่ ก.ค.นี้ แต่ปีนี้ยังเป็นปีที่ดี คาดว่าจะยังเติบโตได้ 2 หลัก เพราะมีการประมูลคลื่น 4G  รวมถึง ลงทุนขยายโครงข่าย 3G ให้ครอบคลุมขึ้น และต้องมีการลงทุนเพื่อรองรับการขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลทั้งในส่วน มัลติเพล็กเซอร์และโครงข่าย IP นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจยังสนใจลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบสำรองในภาวะวิกฤต ระบบซีเคียวริตี้ และระบบโมบิลิตี้มากขึ้น”

จากการสำรวจของ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) มีการประเมินว่า หากไม่รวมโครงข่ายของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งปกติจะมีมูลค่ามหาศาล มีการลงทุนเฉพาะเอ็นเตอร์ไพรส์เน็ตเวิร์กกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ความต้องการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้นจากความนิยมของ สมาร์ทดีไวซ์, โซเชียลเน็ตเวิร์ก และแอปพลิเคชั่น รวมถึงการบริโภคคอนเทนต์ที่เปลี่ยนจากตัวอักษรกลายเป็นวิดีโอ และมัลติมีเดีย ทำให้ปริมาณข้อมูลทั่วโลกในปีนี้จะอยู่ที่ราว ๆ 9  เซตตะไบต์ (Zettabyte : ZB) หรือ 1 หมื่นเท่าของปี 2547 เป็นแรงผลักดันให้บรรดาผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งหลายจำเป็นต้องลงทุนโครง ข่ายให้พร้อมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

“เมื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยีบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ทั้งไวร์เลสเคเบิล (Doccis) สายทองแดง (ADSL) และไฟเบอร์ (FTTX) พบว่าอินเทอร์เน็ตเคเบิลเหมาะกับการลงทุนในไทย เพราะขยายโครงข่ายและบำรุงรักษาง่าย ความเร็วสูงสุดได้ถึง 1Gbps. ปีหน้าจะมีมาตรฐาน Doccis 3.1 ที่ให้ความเร็วสูงสุดถึง 10 Gbps. สูงกว่า ADSL ที่ได้ไม่เกิน 20 Mbps. และแม้จะน้อยกว่า FTTX ที่ให้ความเร็วสูงสุดถึง 100 Gbps. แต่ต้นทุนติดตั้งและบำรุงรักษามากกว่า ที่สำคัญคืออุปกรณ์ปลายทางสำหรับผู้ใช้ในบ้านยังมีราคาแพงมาก”

ขณะเดียวกัน โครงข่ายอินเทอร์เน็ตเคเบิลยังนำไปต่อยอดธุรกิจให้โอเปอเรเตอร์ได้ ทั้งบริการซิเคียวริตี้ การควบคุมระบบสาธารณูปโภค และการประหยัดพลังงานภายในบ้าน หรือแม้แต่บริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ และการดูแลสุขภาพ  ขณะที่ต้นทุนโครงข่ายใกล้เคียง ADSL และถูกกว่า FTTX 3-5 เท่า แต่ใช้เวลาวางโครงข่าย น้อยกว่า ทำให้เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ซึ่งในออสเตรเลียมีภูมิประเทศใกล้เคียงกับไทย วางโครงข่าย Doccis ไปถึงลูกค้า 3.3 ล้านครัวเรือนภายใน 24 เดือน ขณะที่ ADSL อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี

“ปัจจุบันมี 4.7 ล้านครัวเรือนที่เข้าถึงบรอดแบนด์ ราว 6-7 แสนรายใช้อินเทอร์เน็ตเคเบิล มีทรูให้บริการเพียงรายเดียว แต่ปลายปีนี้อาจมีเพิ่มขึ้น อาทิ ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่ใช้โครงข่ายเคเบิลทีวีมาอัพเกรดเพื่อให้ บริการอินเทอร์เน็ตพ่วง ไปด้วย ตลาดนี้ยังมีช่องว่างอีกมาก”

รายการอ้างอิง :

ซิสโก้เพิ่มทีมลุยตลาดภาครัฐมั่นใจชะลอลงทุนแค่ระยะสั้น. (2557). ประชาชาติธุรกิจ.  ฉบับวันที่ 10 มีนาคม, หน้า 29.– ( 16 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ 3 = ten

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>