magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก อย่าปล่อยให้ไอเดียหลุดลอย
formats

อย่าปล่อยให้ไอเดียหลุดลอย

ท่านผู้อ่านเคยพบเหตุการณ์เหล่านี้ไหมครับว่า ในขณะที่เราผ่อนคลายสบาย ๆ ไม่ได้คิดอะไรเคร่งเครียด เรามักเกิดแนวคิดหรือไอเดียต่าง ๆ เช่น วิธีการแก้ปัญหาที่คิดมานานแล้วแต่คิดไม่ออก เห็นหน้าเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมานาน เราจำชื่อเขาไม่ได้ในตอนที่พบหน้า (หรือที่มักพูดกันว่า ชื่อติดอยู่ที่ริมฝีปาก) แต่เพิ่งมานึกได้ขณะนี้ หรือวิธีทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เพราะในขณะที่เราผ่อนคลาย จิตใต้สำนึกของเราจะคิดหาคำตอบหรือเชื่อมโยงความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วคำตอบหรือความคิดต่าง ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาเอง แต่สิ่งน่าเสียดายที่สุดคือ ถ้าเราไม่รีบจดหรือบันทึกความคิดดี ๆ ขณะที่เกิดขึ้นแล้วล่ะก็ มันจะหายวับในพริบตา เพราะเราจะลืมมันทันที

ดังนั้นเทคนิคสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่นักสร้างสรรค์หรือคนเก่งระดับเทพในวงการต่าง ๆ มักใช้เสมอคือ การพกกระดาษหรือสมุดบันทึกและปากกา ดินสอติดตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่ว่า เวลาที่เกิดความคิดดี ๆ จะได้รีบจดทันที ตัวอย่างของบุคคลมีชื่อเสียงที่จดบันทึกเป็นล่ำเป็นสัน เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี ศิลปินผู้วาดรูปโมนาลิซ่า ชาลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ โทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้มีผลงานมากมาย เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน นักธุรกิจผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจเวอร์จินกรุ๊ป เป็นต้นผมจึงแนะนำลูกศิษย์ให้พกกระดาษหรือสมุดเล่มเล็ก ๆ และปากกาเพื่อบันทึกหรือจดความคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตนเองครับ ข้อดีของการใช้สมุดและปากกาคือ พกพาสะดวก ราคาไม่แพง เราจดบันทึกในสมุดได้หลายรูปแบบ เช่น เขียนมายด์แมป วาดรูป ตัดภาพมาแปะ เขียนด้วยลายมือบรรจงหรือหวัดอย่างไรก็ได้ นอกจากนี้ ถ้าเราทำสมุดหล่นพื้น หัวใจก็คงไม่หล่นเหมือนเวลาที่เราทำโทรศัพท์มือถือหล่นพื้น แต่การใช้กระดาษหรือสมุดก็มีข้อจำกัด เช่น การบันทึกเพื่อเก็บไว้ถาวรอาจทำได้ยาก เพราะกระดาษอาจเปื่อยเสียก่อน ถ้าสมุดของเราเปียกน้ำ สิ่งต่าง ๆ ที่เราเขียนไว้อาจจางหายไปหรืออ่านไม่ออก การแบ่งปันความคิดดี ๆ ของเราให้ผู้อื่นก็ทำได้ไม่สะดวกนัก

โชคดีที่พวกเราอยู่ในยุคไอทีซึ่งมีอุปกรณ์บันทึกไอเดีย ที่ผมเชื่อว่าแม้แต่โทมัส เอดิสันหรือดา วินชี คงอิจฉา นั่นคือ สมาร์ทโฟนของเรานั่นเอง (รวมถึงแท็บเล็ต แฟบเล็ต แต่ผมขอเรียกรวมว่า สมาร์ทโฟนครับ) เราใช้สมาร์ทโฟนบันทึกไอเดียดี ๆ ของเราได้หลายรูปแบบ เช่น

1. อัดเสียงพูด นักเขียนหลายคนนิยมวิธีนี้มากครับ เพราะสะดวก รวดเร็ว ทันใจ แต่ต้องถอดเทปเพื่อเขียนในภายหลัง แต่ปัจจุบันเริ่มมีซอฟต์แวร์หรือแอพที่แปลงเสียงพูดเป็นข้อความได้ทันที

2. จดบันทึกหรือวาดรูปโดยใช้แอพ

ต่าง ๆ ที่มีในเครื่องหรือติดตั้งแอพเพิ่มเติมที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด

3. ถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ สิ่งของ บุคคลที่น่าสนใจเพื่อบันทึก แล้วนำมาดูทบทวนในภายหลัง

ผมเป็นคนที่ชอบใช้สมุดบันทึกและปากกาครับ เพราะเป็นวิธีที่สะดวกและถูกจริตกับผมมาก แต่ผมมักใช้สมาร์ทโฟนในการถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอสิ่งน่าสนใจเพื่อใช้ประกอบการสอนเช่นกัน ผมเชื่อว่าความละเอียด 5 ล้านพิกเซลในกล้องสมาร์ทโฟนที่พบกันทั่วไปเพียงพอแล้วสำหรับการถ่ายรูปเพื่อบันทึกสิ่งน่าสนใจเพื่อหาไอเดียใหม่ ๆ ครับ

ดังนั้นการพกสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียวก็ทำงานได้หลายอย่าง นอกจากนี้ เรายังสำรองข้อมูลหรือไอเดียของเราไว้บนก้อนเมฆหรือคลาวด์ได้ทันที ทำให้เราไม่ต้องกังวลว่า ไอเดียหรือความคิดดี ๆ ของเราจะสูญหายไป ถ้าอุปกรณ์ของเราหาย

ผมจึงขอเสนอขั้นตอนในการพัฒนาไอเดียว่า ประกอบด้วย 3 จ คือ จด จำ แจก

1.จด หมายถึง การเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม จะเป็นสมุดหรือสมาร์ทโฟนก็ได้ที่เราถนัดและใช้งานได้คล่องแคล่วที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือ ขอให้มีใกล้มือตลอดเวลา เพื่อที่ว่า ในขณะที่เรามีไอเดีย จะได้รีบจดได้ทันท่วงที

2.จำ หมายถึง การทบทวนไอเดียหรือความคิดต่าง ๆ ที่เราบันทึก แล้วนำมาปฏิบัติ เพราะไอเดียดี ๆ ที่ไม่ได้ลงมือทำจะไม่มีประโยชน์

3.แจก หมายถึง หลังจากที่เราบันทึกหรือจดความคิดดี ๆ แล้ว ก็ควรแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นครับ เช่น แบ่งปันทางเฟซบุ๊ก แชร์ในทวิตเตอร์ เป็นต้น เราอาจมีความคิดดี ๆ แต่เราไม่สามารถทำได้ ไม่มีเวลาทำ หรือไม่สนใจที่จะทำ การบอกไอเดียดี ๆ ของเราให้คนอื่น เปรียบเสมือนการต่อเทียนของเราให้เทียนเล่มอื่น ผู้อื่นที่มีเวลาหรือมีทรัพย์หรือสนใจความคิดของเราจะได้นำไอเดียของเราไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ครับ

พวกเราทุกคนมีไอเดีย ความคิดดี ๆ อยู่แล้ว แต่ไอเดียเหล่านั้นกำลังรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อเปิดเผยตัวเองให้เรารับรู้ ดังนั้น ขอให้บอกตนเองเสมอว่า “ถ้าฉันมีไอเดีย ฉันจะรีบจดทันที” เพื่อสร้างนิสัยของการจดบันทึก เราก็ไม่ต้องห่วงอีกต่อไปว่า ไอเดียดี ๆ จะหลุดลอยหายไป

รายการอ้างอิง :
ธงชัย โรจน์กังสดาล. (2557, 28 กุมภาพันธ์). เดลินิวส์ (ไอที). อย่าปล่อยให้ไอเดียหลุดลอย. ค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557. จาก http://www.dailynews.co.th/Content/1001/219161/อย่าปล่อยให้ไอเดียหลุดลอย.– ( 74 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


nine − = 3

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>