magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ข่าววิทยาศาสตร์ พิมพ์ “เซลล์ดวงตา” ด้วยอิงค์เจ็ท ความหวังรักษาตาบอด
formats

พิมพ์ “เซลล์ดวงตา” ด้วยอิงค์เจ็ท ความหวังรักษาตาบอด

ภาพประกอบ http://www.bbc.co.uk/news/health-25405542

นักวิทยาศาสตร์พัฒนาเทคนิคการพิมพ์เซลล์ดวงตา เพื่อนำไปสู่การรักษาคนไข้ที่สูญเสียการมองเห็น นับเป็นความหวังสำหรับผู้ที่ตาบอดหรือสูญเสียการมองเห็น เมื่อทีมนักวิจัยเมืองผู้ดีพบวิธีพิมพ์เซลล์ประสาทของดวงตาขึ้นมาใหม่ได้ด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท ได้เซลล์มีชีวิตและยังคงประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ไว้ได้

งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของทีมจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) สหราชอาณาจักร ที่ได้ทำการทดลองในเซลล์สัตว์ และตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยลงในวารสาร ไบโอเฟบริเคชัน (Biofabriccation) ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่า เทคนิคที่พวกเขาพัฒนาขึ้นนี้จะนำไปสู่การรักษาคนไข้ที่สูญเสียการมองเห็น อันเนื่องจากจอประสาทตา หรือ “เรตินา” (retina) เสียหาย

ผลการวิจัยในเบื้องต้น นักวิจัยพบว่าเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทสามารถใช้พิมพ์เซลล์ 2 ชนิดที่มาจากเนื้อเยื่อจอประสาทตาของหนูทดลองที่โตเต็มวัย ได้แก่ เซลล์แกงเกลียน (ganglion cells) และเซลล์เกลียล (glial cells) ซึ่งเซลล์ 2 ชนิดนี้ทำหน้าที่ส่งสัญญาณข้อมูลจากดวงตาไปยังสมอง รวมถึงทำหน้าที่ค้ำจุนและปกป้องเซลล์ประสาทตาด้วย ทั้งนี้ เซลล์ที่พิมพ์ออกมาได้นั้นมีความสมบูรณ์และยังคงความสามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตในห้องทดลองได้

ศ.คีธ มาร์ติน (Prof Keith Martin) และ ดร.บาร์บารา ลอร์เบอร์ (Dr Barbara Lorber) จากศูนย์ฟื้นฟูสมอง จอห์น แวน กีสท์ (John van Geest Centre for Brain Repair) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งร่วมในทีมวิจัย กล่าวว่า ความเสียหายของเซลล์ประสาทในจอประสาทตาเป็นหนึ่งในหลายรูปแบบของภาวะการสูญเสียการมองเห็นของดวงตา จอประสาทตาเป็นโครงสร้างอวัยวะที่ยอดเยี่ยม มีการจัดเรียงตัวของเซลล์อย่างพิถีพิถันและสัมพันธ์กันกับเซลล์อีกชนิดเพื่อทำหน้าที่ในการมองเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
“การศึกษาของพวกเรานั้นแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า เซลล์ที่ได้มาจากระบบประสาทส่วนกลางที่เจริญเต็มที่ ซึ่งในที่นี้คือดวงตา นั้นสามารถพิมพ์ออกมาได้ด้วยเครื่องพิมพ์เพียโซอิเล็กทริกอิงค์เจ็ท (piezoelectric inkjet printer) แม้ว่าผลที่ได้นั้นจะเป็นเพียงแค่ความสำเร็จในชั้นต้น และยังจำเป็นต้องศึกษาต่ออีกมาก ซึ่งวัตถุประสงค์ในงานของเรานั้นก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพื่อช่วยในการซ่อมแซมจอประสาทตาให้แก่คนไข้ในอนาคตข้างหน้า” ทีมวิจัยเผยรายละเอียดงานวิจัย

ทีมวิจัยได้วางแผนต่อไปว่าจะพยายามพิมพ์เซลล์ชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในจอประสาทตาให้ออกมาได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเซลล์รูปแท่ง (rod cells)และเซลล์รูปกรวย (cone cells) ซึ่งเป็นเซลล์รับแสงในจอประสาทตานั่นเอง

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้หนูที่ตาบอดกลับมามองเห็นได้ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มาแล้ว และยังพบสัญญาณที่ดีในการปลูกฝังเรตินาไฟฟ้า (electronic retina implants) ในคนไข้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีทั้งสองดังกล่าวนั้นเพิ่งสัมฤทธิ์ผลในเบื้องต้น และยังต้องได้รับการศึกษาวิจัยและพัฒนาอีกหลายขั้นเพื่อให้สามารถนำมาใช้รักษาในคนไข้อย่างปลอดภัยและได้ผล

ศ.จิม เบนบริดจ์ (Prof Jim Bainbridge) แห่งโรงพยาบาลจักษุมัวร์ฟิลด์ (Moorfields Eye Hospital) ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีนิวส์ว่า การที่นักวิจัยพบว่าเซลล์ดวงตานั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในกระบวนการพิมพ์ แสดงถึงความเป็นไปได้ว่าเทคนิคนี้จะสามารถใช้สร้างเนื้อเยื่อที่มีประสิทธิภาพสำหรับสร้างดวงตาขึ้นมาใหม่และฟื้นคืนการมองเห็นของคนไข้ได้ในอนาคต

แหล่งที่มา :
พิมพ์ “เซลล์ดวงตา” ด้วยอิงค์เจ็ท ความหวังรักษาตาบอด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://forum.khonkaenlink.info/index.php?topic=17201534.0 (วันที่ค้นข้อมูล 13 มกราคม 2557).

Michelle, Roberts. “Scientists ‘print’ new eye cells.” [Online]. Available: http://www.bbc.co.uk/news/health-25405542 (Access: 13 January 2014 ).– ( 25 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


three + = 5

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>