magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Health วิ่งสู่ความสุข กับ ‘ดร.จุ๋ง’
formats

วิ่งสู่ความสุข กับ ‘ดร.จุ๋ง’

สมัยก่อนการวิ่งถือเป็นเรื่องของคนสูงวัยเพราะเป็นกีฬาที่น่าเบื่อ ทั้งระยะทางและความเหน็ดเหนื่อยล้วนเป็นอุปสรรคในสายตาใครหลายคน แต่หลายปีมานี้การวิ่งถือเป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่สนใจกันมาก จนเกิดกระแสการวิ่งไปทุกหย่อมหญ้า ทุกสวนสาธารณะ ทุกงานวิ่ง ต่างมีนักวิ่งตอบรับอย่างคับคั่ง

จนกระทั่งเกิดเป็นสังคมนักวิ่งขึ้นมากมายทั้งตามชมรมวิ่งที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด และแน่นอนตามหน้าเพจเฟซบุ๊คซึ่งเป็นสังคมที่สร้างขึ้นง่าย และเติบโตเร็วที่สุด

เหมือนกับเพจ เรื่องวิ่งเรื่องกล้วย และ บันทึกสองเท้า ที่ต้องบอกว่านักวิ่งยุคไอทีน้อยคนนักจะไม่รู้จัก ที่สำคัญบางคนคือแฟนตัวยงของเพจวิ่งเหล่านี้ด้วย

ชื่อของ ดร.จุ๋ง, พี่จุ๋ง, กล้วยปั่นแห่งเรื่องวิ่งเรื่องกล้วย หรือตามแต่ใครจะเรียก ทั้งหมดนี้คือชื่อเรียกของ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักวิ่งหลายคน และภาพที่หลายคนจดจำคือ ดร.จุ๋ง มักจะวิ่งเคียงข้างคุณพ่อ วันชัย ครุฑแก้ว แม้ว่าระยะจะใกล้เพียงระยะฟันรัน (3-4 กม.) หรือไกลถึงระยะมาราธอน (42.195 กม.)

ในสังคมนักวิ่งรู้จัก ดร.จุ๋ง ว่าเป็นนักวิ่งฝีเท้าดีทั้งยังจิตใจดี แต่หมวกอีกใบที่เขาสวมอยู่คือ หัวหน้าห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานและการทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลบริหารจัดการการวิจัยเทคโนโลยีด้านไอที หมวกนักวิ่งและหมวกหัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ ดูจะไปกันคนละทาง

เรื่องราวระหว่างเส้นทางวิ่งของเขากับพ่อ ความเป็นนักวิ่งนักวิทยาศาสตร์ เรื่องราวเหล่านี้จึงมีมิติแปลกใหม่ให้น่าติดตามหาคำตอบยิ่งนัก…

อาชีพการงานไม่น่าจะเกี่ยวกับการวิ่ง?

“ผมเป็นคนชอบออกกำลังกาย ตอนเด็กๆ ชอบเล่นกีฬาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ตอนมาทำงานเป็นหัวหน้าแล็บเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ก็เริ่มจากว่าคุยกับหัวหน้าแล็บว่าอยากทำกิจกรรมระหว่างแล็บ แต่ละแล็บก็คิดกีฬามา 1 อย่าง ผลัดกันเป็นเจ้าภาพทุกๆ 3 เดือน ปลายปีเราก็เก็บคะแนนสะสม แล็บที่ชนะก็กินฟรีเลี้ยงปีใหม่ พอวนมาถึงแล็บที่ผมดูแลเป็นแล็บสุดท้ายก็เสนอไอเดียว่าของเราวิ่งแล้วกัน เพราะทุกคนจะได้มีส่วนร่วม เลยคิดกติกาเพื่อให้คนที่แม้จะวิ่งไม่ได้ แต่เดินร่วมได้

ผมก็ไปศึกษาการวิ่งจริงๆ แล้วเวลาสำคัญกว่าระยะทาง เพราะการออกกำลังกายเพื่อจะให้สุขภาพดีจริงๆ ต้องออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงหรือ 40 นาที ผมเลยคิดกติกาว่าวิ่งภายในเวลาที่กำหนดกี่รอบก็ได้ รอบคือรอบหน่วยงาน หนึ่งรอบประมาณ 1 กิโลเมตร ทุกคนก็ลงมาวิ่งหนึ่งรอบก็ได้ 1 คะแนน คนเยอะก็ได้คะแนนเยอะ ภายในครึ่งชั่วโมงคุณจะวิ่งได้สักกี่รอบ ครั้งแรกครึ่งชั่วโมงครั้งต่อไป 45 นาที ครั้งต่อไป 1 ชั่วโมง จัดหลายรอบๆ คนเยอะขึ้นให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ครั้งนั้นเราก็ประสบความสำเร็จ ระหว่างที่ผมทำก็ต้องวิ่งด้วย ก็เริ่มจากตรงนั้น เราเห็นหลายอย่างว่าการวิ่งเป็นกิจกรรมที่ดี”

เริ่มต้นจากจัดกิจกรรมในองค์กร แล้วบังเอิญได้ร่วมวิ่งด้วย จนทุกวันนี้วิ่งถึงระยะอัลตร้ามาราธอน (100 กม.) กว่าจะมาถึงจุดนี้?

“ผมเป็นคนที่ชอบเล่นกับสมรรถภาพตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบฝึกอะไรหลายๆ อย่าง ฝึกด้านสมองก็เรื่องหนึ่ง ฝึกร่างกายก็เรื่องหนึ่ง ตอนเด็กๆ ชอบดูสารคดี ชอบดูข่าวแล้วไปเจอเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการฝึกกล้ามเนื้อแบบไพโอเมติก ซึ่งนักกีฬาปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับศัพท์นี้แล้ว แต่เมื่อ 30 ปีก่อน ตอนนั้นยังอยู่ชั้นประถมรู้จักคำๆ นี้ มันคือการฝึกทักษะเร็วๆ เช่น เดินขึ้นลงบันไดสลับขาอย่างรวดเร็ว หรือถ้าเป็นมือก็โยนฝึกเหมือนนักกายกรรมทำให้กล้ามเนื้อเราแข็งแรง รวดเร็ว คล่องตัว ดูสารคดีแล้วเราก็ฝึกเองตั้งแต่เด็กๆ แต่ตอนนั้นยังไม่เห็นผลมาก มาเห็นผลช่วงตอน ม.ต้น ม.ปลาย เรารู้สึกว่าเราวิ่งแล้วเราอึด เราคล่องตัวกว่าคนอื่น

จนมีคนชวนไปวิ่งแข่งข้างนอก ไปแข่งมินิมาราธอน 10 กิโล เรารู้สึกว่าพัฒนาการเราดี ไม่กี่เดือนเราสามารถไปงานเล็กๆ ที่คนน้อยๆ แล้วได้รางวัล พัฒนาเร็วมากจากมินิมาราธอน ไปเป็นฮาล์ฟมาราธอน ไปเป็นมาราธอนได้ในเวลาไม่กี่เดือนก็ไปแข่งมาราธอนแรกเลย แล้วสปีดก็พัฒนาเร็ว เลยรู้สึกว่าการวิ่งมันเกี่ยวข้องกับที่เราฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ หรือเปล่า เพราะมีพัฒนาการเร็วเหลือเกิน จนกระทั่งเราบ้าเรื่องความเร็วอยู่ประมาณ 2 ปี เริ่มรู้สึกว่าร่างกายเราเริ่มเจออาการบาดเจ็บ ก็ไปหาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ก็พอที่จะช่วยได้ แต่ปัญหาหนึ่งคือเราไปเจ็บที่เท้า เพราะวิ่งเร็วด้วย ใส่รองเท้าเล็กด้วย บางด้วย เพื่อจะให้มันเร็วที่สุด แล้วมันเรื้อรังมาก ก็ไปค้นคว้าหาวิธีการต่างๆ มากมายจนกระทั่งไปเจอสาเหตุแล้วก็รักษาด้วยตนเอง

สรุปง่ายๆ เราจะต้องใส่รองเท้าให้มันกว้างขึ้นไม่ใช่ไปบีบเท้าตนเองมากเกินไป เราต้องเปลี่ยนสไตล์การวิ่งให้มันนุ่มนวล ณ จุดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเปลี่ยนแนวคิดการวิ่งมากมาย เช่น เริ่มมาหัดถอดรองเท้าวิ่ง ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีใครที่วิ่งเท้าเปล่าเยอะเหมือนในขณะนี้ ผมอาจจะเป็นคนแรกๆ ที่เริ่ม เพราะว่าเริ่มจากเราเจ็บ รองเท้ามันบีบเราก็ถอดรองเท้าซะเลย”

แต่บางงานวิ่งก็ยังเห็น ดร.จุ๋ง ยังใส่รองเท้าวิ่ง?

“ตอนที่เราฝึกเท้าเปล่าใหม่ๆ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นน่ะอยากโชว์เพราะมันไม่ค่อยมีใครวิ่งเท้าเปล่า โดยเฉพาะคนที่มาเริ่มวิ่งตอนอายุพอสมควรแล้วก็แทบจะไม่เจอใคร ตอนนั้นรู้สึกว่าเราวิ่งแล้วมันดี ก็อยากจะโชว์ ช่วงแรกเวลาไปออกงานจะวิ่งเท้าเปล่าถ้ามั่นใจว่าถนนสะอาด ปลอดภัย วิ่งเท้าเปล่าได้ตลอดในช่วง 3 ปีที่แล้ว แต่จริงๆ แล้วในการวิ่งเท้าเปล่ามันมีข้อจำกัด ถ้าถนนสกปรกมีเศษแก้วเศษหิน การที่เราไม่ได้วิ่งอย่างสม่ำเสมอจนมันชินจริงๆ นานๆ วิ่งทีอาจจะมีเท้าพอง

การวิ่งเท้าเปล่ามันต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเลยรู้ว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องวิ่งเท้าเปล่าทุกครั้ง ใส่รองเท้าบ้าง เพราะฉะนั้นผมจะวิ่งเท้าเปล่าตอนซ้อมเท่านั้น แต่ตอนไปแข่งมักไม่ค่อยถอด เพราะเราเห็นว่ามีคนมาวิ่งเท้าเปล่าโชว์ ทำหน้าที่แทนเราอยู่แล้ว”

รองเท้าวิ่งทั่วไปไม่บังคับท่าวิ่งและการลงเท้าของเราหรือ?

“ปัญหานี้อยากจะเล่านานแล้วว่า แน่นอน ตอนหัดวิ่งเท้าเปล่าใหม่ๆ ผมศึกษาจากอินเทอร์เน็ต ศึกษาด้วยตนเองก็เจอ การวิ่งเท้าเปล่าก็ต้องถอดรองเท้า เพราะพอใส่รองเท้าเราก็วิ่งตามที่รองเท้าดีไซน์มา ส้นหนาก็เลยเอาส้นลง แนวคิดของคนในกลุ่มวิ่งเท้าเปล่ามักจะคิดอย่างนั้น ซึ่งผมก็เคยเชื่ออย่างนั้น ไม่ผิดครับ แต่เราคิดสรุปเกินไปนิดหนึ่งว่าเพราะฉะนั้นเราต้องทิ้งรองเท้าหรือเปล่า แต่พอผมผ่านการวิ่งเท้าเปล่าสลับไปสลับมากับรองเท้าหลายๆ แบบ มันกลับทำให้เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรังเกียจรองเท้า

ถ้าเราวิ่งเท้าเปล่าหรือสวมรองเท้าสำหรับวิ่งเท้าเปล่าจนชำนาญแล้ว พอเรากลับมาใส่รองเท้าวิ่งทั่วไปจะรู้ถึงประสิทธิภาพของรองเท้ามากขึ้น เพราะว่าประสาทสัมผัสเราดีขึ้นเยอะ รองเท้าที่บอกว่าส้นหนาๆ ไม่น่าจะดีเพราะมันสอนให้เราวิ่งผิดท่า แต่ถ้าเราวิ่งเท้าเปล่าเป็นแล้วเราจะมีท่าวิ่งที่หลากหลายมาก เพราะว่าเราควบคุมเท้าได้หลายแบบ”

ดร.จุ๋ง มักจะวิ่งกับคุณพ่อ…คุณพ่ออยากวิ่งเองหรือถูกชวนมาวิ่ง?

“ปกติจะไม่ค่อยชอบชวนใครด้วยวาจา ถามว่าอยากชวนไหมอยากชวนคนทั้งโลกเลยให้ออกกำลังกาย คือถ้ารักใครไม่ต้องดูแลเขาหรอกแต่สอนให้เขาออกมาวิ่ง อยากให้เขาได้วิ่งอย่างเหมาะสม แต่ไม่ค่อยจะชอบชวนใครว่าออกมาวิ่งเถอะ เพราะเรื่องวิ่งมันต้องมีแรงจูงใจถ้าเราชวนแล้วเขาออกมาวิ่งเพราะเราเป็นคนชวน สักวันหนึ่งเราไม่ชวนเขาอาจจะไม่วิ่งต่อก็ได้ มันไม่ยั่งยืน ทำอย่างไรถึงจะให้เขาวิ่งอย่างยั่งยืน มันต้องเริ่มจากตัวเขาเองได้เรียนรู้ว่าวิ่งแล้วดี วิ่งแล้วไม่เจ็บ

การเจ็บถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งต้องระวังด้วย อย่างพ่อ เขาเห็นเรามาตลอด เราวิ่งมาหลายปี เห็นตอนนั้นวิ่ง 10 โล ไป 20 ถึง 40 แล้ว เขาก็จะถามว่าหนักไปหรือเปล่า ไป 100 โลแล้ว เรื่องแค่นี้เขาก็เป็นห่วงเราแล้วเพราะคนส่วนมากไม่ค่อยเชื่อว่าคนจะทำได้ 10 โลเขายังไม่เชื่อเลย นี่กลายเป็น 100 โล ทำต่อเนื่องหลายปีจนกระทั่งว่าไม่เป็นไรด้วยแล้วสุขภาพร่างกายยังดีขึ้นด้วย เมื่อก่อนเราป่วยบ่อย เป็นหวัดบ่อย สุขภาพจิตเราก็ดีขึ้น แล้วเขาเห็นก็ขอวิ่งเอง

ครั้งแรกคือเราจะไปวิ่งต่างจังหวัด แล้วกะว่าจะพาพ่อกับแม่ไปเที่ยวด้วย ก็ได้ยินว่าพ่อเขาจะวิ่งด้วย รู้จากน้อง คือก็ไม่รู้ว่าใครชวนใครเพราะอะไร พอเขาวิ่งครั้งแรกปุ๊บก็เห็นเลยว่าวิ่งได้ดี ก็เลยสนับสนุนเขาวิ่งต่อ”

ตอนนั้นคุณพ่ออายุเท่าไร?

“ตอนนั้น 74 ปีครับ”

ก่อนหน้านั้นคุณพ่อไม่เคยวิ่งมาก่อนเลยหรือ?

“เพิ่งมารู้ทีหลังตอนวิ่งด้วยกันบ่อยๆ แล้วคุยกัน ตอนพ่อเด็กมากๆ พ่อเคยซ้อมวิ่งอยู่ที่บ้าน เท้าเปล่าด้วย เพราะเมื่อก่อนไม่มีรองเท้า 70 กว่าปีที่แล้ว คือรองเท้าวิ่งมันหายาก แค่ตอนเด็กๆ เท่านั้น แต่ตลอดชีวิตของพ่อหลังจากนั้นไม่เคยซ้อมวิ่งอีกเลย”

ล่าสุดคุณพ่อวิ่งมาราธอนแล้ว?

“หลังจากเริ่มวิ่งไม่ถึง 2 ปี ก็วิ่งมาราธอนแรกได้ ล่าสุดวิ่งที่อยุธยามาราธอน เป็นมาราธอนที่ 4 แล้ว ครั้งแรกที่ภูเก็ตก็สำเร็จได้เกือบ 8 ชั่วโมง ครั้งที่ 2 ที่พัทยามาราธอน ปีนี้ เวลาดีขึ้นเยอะเลย 7 ชั่วโมง แต่ขาดไป 800 เมตร พ่อนั่งหลับเสียก่อน คือนั่งพักแล้วก็หลับรถเขาก็พาเข้าเส้นชัยให้ก็ได้เหรียญ ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพมาราธอน เขาให้เวลาจำกัดมาก เขาให้แค่ 6 ชั่วโมงแต่พ่อวิ่ง 7 ชั่วโมง พอวิ่งได้สัก 25 โลเขาก็จะเปิดถนนเลยให้รถมารับพ่อขึ้น ไปประมาณ 9 กิโล ก็มาวิ่งต่อสักประมาณ 30 กว่าโล ครั้งล่าสุดวิ่งได้ดีมาก ใช้เวลาไปแค่ 6 ชั่วโมงครึ่ง อากาศก็ดี พ่อก็วิ่งทำความเร็วได้ดีขึ้นด้วย”

ฝึกคุณพ่ออย่างไร?

“ผมไม่ใช่โค้ชแต่ก็เป็นโค้ชให้ตัวเอง จริงๆ แล้วโค้ชที่ดีที่สุด ต้องรู้จักเรามากที่สุดต้องรู้จักทุกอย่างรู้จักตัวตนเรามากที่สุด เราเป็นใคร เราพร้อมตอนไหน เราอดนอนไหมคือทุกอย่างจริงๆ มันต้องรู้ข้อมูลของตัวนักกีฬามากที่สุด ฉะนั้นโค้ชที่ดีที่สุดคือตัวเรา แต่อาจจะมีโค้ชที่ดีคอยแนะนำด้วยก็ได้ มีโค้ชหลายคนก็ได้แต่ที่ขาดไม่ได้คือเราต้องเป็นโค้ชให้ตัวเอง

ผมใช้หลักคิดแบบนี้มาตลอด จริงๆ ก็อยากให้พ่อคิดแบบนั้นแต่ว่าโอเค หลังๆ มีข้อดีว่าพ่อเชื่อผมเยอะมาก คือแต่ก่อนคุยกันเราก็เถียงกันแต่พอเราเริ่มวิ่งด้วยกันก็เป็นโอกาสดีที่ว่าพอเราบอกอะไรไปพ่อก็ทำ กลายเป็นว่าเราเป็นโค้ชกลายๆ ก็ไม่ได้บอกอะไรมากคุยกับผู้สูงอายุเราต้องระวัง เราคงไม่ได้ให้โจทย์ยากๆ บอกละเอียดมากก็ไม่ได้ อาจจะไม่เข้าใจ เช่น บอกง่ายๆ ว่าห้ามวิ่ง 2 วันติดกัน

อีกเรื่องคือระยะทาง ก็บอกเขาไปว่าต้องวิ่งเท่าไร แต่ว่ามันขึ้นอยู่กับความเหนื่อยของเขาส่วนใหญ่พ่อจะตัดสินใจเองว่าเขาจะวิ่งแค่ไหน เราก็มั่นใจว่าถ้าเขาหยุดเพราะความเหนื่อยมันไม่เป็นอันตรายหรอก ก็บอกเขาว่ารู้สึกเจ็บให้หยุดทันที รู้สึกผิดปกติให้หยุดทันที

อีกเรื่องคือการวอร์มอัพ การยืดเหยียดก่อนวิ่ง เริ่มวิ่งช้าๆ อย่าวิ่งเร็วทันที สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องห่วงนักเพราะอย่างไรพ่อก็วิ่งช้าเสมอ เขามีท่าวิ่งที่ไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว สำคัญที่สุดยิ่งกว่าการยืดเหยียดก่อนวิ่ง คือการยืดเหยียดหลังวิ่งนี่เป็นสิ่งที่บอกพ่อแล้วพ่อทำอย่างจริงจัง วิ่งเสร็จแล้วใช้เวลายืดนานทีเดียวเมื่อเทียบกับนักวิ่งทั่วๆ ไป

แต่ว่าอย่างไรก็ตามการที่บอกไปแบบนี้ ไม่อยากให้คนสูงอายุทำแบบนี้ได้ด้วยวิธีการเดียวกัน เพราะคนอื่นอาจจะมีข้อจำกัดแตกต่างกัน อย่างที่บอกคือตัวเราต้องเป็นโค้ชได้ แต่ละคนต้องบอกได้ว่าแค่ไหนคือความหนักคือความพอดีของเรา”

การวิ่งช้าๆ อย่างนุ่มนวล อาจไม่นำไปสู่ความเป็นเลิศหรือเปล่า?

“ต้องถามตนเองก่อนว่าวิ่งเพื่ออะไร ถ้าถามทุกคนจะตอบว่าวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนก็อยากจะแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศด้วย แต่ถ้าถามผม ผมมองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี เป็นเเรงจูงใจให้เราฝึกซ้อม คือการวิ่งเป็นเรื่องดีแต่บางคนก็บอกว่า โอ๊ย ทำไมต้องมาซ้อมด้วยมันเบื่อ พอไม่ได้ซ้อมร่างกายก็ไม่พัฒนาฉะนั้นถ้าเกิดเรามีกุศโลบายที่จะหลอกล่อเพื่อไปแข่งขัน ก็หลอกตัวเองว่าถ้าอยากจะชนะก็ต้องมาฝึกซ้อมให้มากขึ้นก็เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ต้องรู้ว่าเป้าหลักของเราไม่ใช่การแข่งขัน ฉะนั้นต้องซ้อมอย่างมีสติ แข่งอย่างมีสติ”

แล้ว ดร.จุ๋ง เองวิ่งเพี่ออะไร?

“ตอนนี้วิ่งเพื่ออะไรไม่รู้ แต่ตอนนี้เมื่อเริ่มวิ่งแล้วรู้สึกว่าเราอยากจะวิ่งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต อยากวิ่งไปตลอด run for life วิ่งอย่างยั่งยืนซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่ง จะไปถึงจุดนั้นระหว่างทางเรามีจุดประสงค์เล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมดเลยที่จะวิ่งเพื่ออะไร สุดท้ายเราก็ยังอยากวิ่งเพราะวิ่งเป็นเรื่องดี วิ่งแล้วมันดียังไงแล้วมันทำให้คนอื่นวิ่งด้วยกับเราผมว่ามันเป็นเรื่องดีๆ เรื่องราวดีๆ มากมายที่เกิดขึ้นระหว่างทาง อย่างที่ผมจัดงานวิ่งทุกปีผมทำให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่แล้วด้วย ผมวิ่งมาทำงานจากบ้านที่เมืองทองมาถึงนี่ (สวทช. รังสิต) เพื่อเป็นการซ้อมและเป็นตัวอย่าง เรื่องราวเหล่านี้จะสนับสนุนให้ผมวิ่งอย่างยั่งยืนและมีความสุขไปตลอดชีวิต”

ถ้าให้ตอบแทนคุณพ่อ คุณพ่อวิ่งเพื่ออะไร?

“ตอบยาก เท่าที่เรามองเห็นหลังจากที่พ่อวิ่งอะไรมันก็ดีไปหมด คือสุขภาพพ่อก็ดีขึ้นสุขภาพจิตพ่อก็ดีขึ้น อันนั้นคือสิ่งที่เราเห็นว่ามันดีขึ้น แต่ถามว่าพ่อวิ่งเพื่ออะไรผมคงตอบไม่ได้ ท่านคงอยากที่จะอยู่กับเราไปนานๆ หรือเปล่า (อมยิ้ม)”

ก่อนวิ่งคุณพ่อมีปัญหาสุขภาพไหม?

“พ่อเป็นคนที่แข็งแรงอยู่แล้ว พ่อทำงานหนักทำสวนก็อาจเป็นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วก็ได้ เป็นคนแข็งแรงอยู่แล้ว แต่พอพ่อเกษียณ คือพ่อเป็นครู แล้วกลับมาทำงานสวนที่บ้านทำทุกอย่างเป็นชีวิตที่แอคทีฟ แต่พอเกษียณแล้วเนี่ยเค้าก็ไม่ค่อยได้ทำงาน ช่วงแรกสุขภาพเขาก็ทรุดลง พอเขาไปตรวจเขาเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดบี ผมว่าจริงๆ แล้วไวรัสบีไม่ได้ซีเรียสอะไรหรอก แต่พอเขารู้ตัวแล้วเขาเครียดมาก พอเครียดปุ๊บสภาพจิตใจเขาแย่ลงร่างกายเขาก็แย่ด้วย เป็นช่วงปีสองปีที่เขาแย่มากเป็นช่วงที่ผมกลับมาจากเรียนที่ญี่ปุ่นพอดี

แล้วก็มาเริ่มวิ่ง อะไรๆ ก็ดีขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้นจริงๆ ก็ไปหาหมอตามที่หมอนัดค่าเลือดค่าอะไรก็ดีขึ้น ก็อาจจะไม่ชัดเหมือนบางคนที่เขาป่วยหนักแล้วหายและแข็งแรง มีกรณีแบบนี้เยอะมากนะครับ พ่อก็เป็นกรณีหนึ่งจากสุขภาพกายสุขภาพใจย่ำแย่แต่ก็กลับมา ตอนนี้พ่อเป็นไอดอลให้กับนักวิ่งเยอะมาก ผมทำแฟนเพจ บันทึกสองเท้า เล่าเรื่องการวิ่งของพ่อ ปรากฏว่าเเฟนเพจของพ่อเยอะมากเยอะกว่าที่ผมวิ่งร้อยโล วิ่งอัลตร้าฯ วิ่งเท้าเปล่า แต่เรื่องวิ่งของพ่อโพสต์เมื่อไรฮิตทุกที”

สำหรับคนที่ยังลังเลไม่กล้าออกไปทำอะไรเพื่อกายใจของตัวเอง ดร.จุ๋งกับคุณพ่อ คงจะเป็นแรงผลักดันหนึ่งให้ทุกคนลองก้าวออกไป ไม่จำเป็นต้องวิ่ง แค่ทำอะไรก็ได้ที่ดีและเป็นความสุขของคุณตลอดชีวิต…สวัสดีปีใหม่

รายการอ้างอิง :
ปริญญา ชาวสมุน. 2556. วิ่งสู่ความสุข กับ ‘ดร.จุ๋ง’. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (Life Style : สุขภาพ). สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20131229/552797/ปริญญา ชาวสมุนเกม สร้างสรรค์เพื่อสังคม.html. ค้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557.– ( 104 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ one = 3

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>