magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home NSTDA ต่อยอดงานวิจัยปาล์มพันธุ์ดีเพิ่มผลผลิต-เปอร์เซ็นต์น้ำมัน
formats

ต่อยอดงานวิจัยปาล์มพันธุ์ดีเพิ่มผลผลิต-เปอร์เซ็นต์น้ำมัน

ปัจจุบันปัญหาสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทยเจอะเจอ คือการขาดแคลนต้นกล้าที่มีคุณภาพทำให้เกษตรกรไทยจำเป็นต้องซื้อต้นกล้าปาล์ม น้ำมันจากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้องแบกรับความเสี่ยงในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ เนื่องจากต้องใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 2-3 ปี จึงจะทราบว่าต้นกล้าที่ปลูกนั้นถูกต้องตามสายพันธุ์ และเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพหรือไม่ ที่ผ่านมาจึงทำให้ทั้งผลผลิตในภาพรวมมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมวิชาการเกษตร และ หจก.โกลด์เด้นเทเนอร่า จัดเสวนาหัวข้อ “ผ่าวิกฤตอนาคตปาล์มน้ำมันไทย กับ สวก.” โดยนำผลจากการศึกษาวิจัยพัฒนาต่อยอดพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปาล์ม เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่และเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้น อีกทั้งสามารถเพาะปลูกได้ดีในทุกสภาพภูมิอากาศ “ที่ผ่านมาปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทย ไม่สามารถพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ดีและมีคุณภาพได้เอง ต้องนำเข้าจากประเทศแถบอเมริกาใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปัญหาที่ตามมาก็คือเกษตรกรไทยไม่สามารถตรวจสอบได้ก่อนว่า เมล็ดพันธุ์ที่นำมาเพาะปลูกนั้นมีคุณภาพและตรงตามสายพันธุ์ที่ต้องการหรือ ไม่ เพราะต้องปลูกไปก่อนและใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะทราบว่าเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกไปนั้น ตรงตามสายพันธุ์และเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ก็พบว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพ จึงทำให้เกษตรกรเสียเงินลงทุนไปโดนเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังทำให้ปริมาณผลผลิตโดยรวมและเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ได้ต่อไร่ต่ำ”

พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ฉายภาพปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันและเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ได้ต่อไร่ค่อนข้างต่ำ เหตุจากเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ

เขายกตัวอย่างว่า เมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย เมื่อนำมาเพาะปลูกในประเทศไทยจะได้ผลผลิตเพียง 2 ตันต่อไร่เท่านั้น ในขณะที่หากปลูกในมาเลเซียจะได้ปริมาณผลผลิต 3-5 ตันต่อไร่  เมื่อมองเห็นปัญหาดังกล่าวทางสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จึงได้สนับสนุนให้เกิดโครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันแบบก้าวกระโดด โดยร่วมมือกับ 5 หน่วยงาน คือ ศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมวิชาการเกษตร และ หจก.โกลด์เด้นเทเนอร่าพัฒนาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปาล์มขึ้นเองในประเทศไทย เพื่อให้มีผลผลิตต่อไร่และเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำไปเพาะปลูกได้ดีในทุกสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันแบบก้าวกระโดดนั้น นอกจากทำให้ได้พ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพสูงแล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้ได้เทคโนโลยีการผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมันด้วย โดยใช้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและดีเอ็นเอ ทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจความบริสุทธิ์ของพันธุ์ปาล์ม และสามารถตรวจสอบความผิดปกติของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้

ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้ต่อยอดความสำเร็จของคณะวิจัย ด้วยการทดลองเพาะปลูกต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่า ในแปลงสาธิตที่จังหวัดขอนแก่น ศรีสะเกษ และหนองคาย ซึ่งปรากฏว่าปาล์มน้ำมันในแปลงสาธิตบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ผลสูงกว่าปาล์มน้ำมันที่ปาล์มน้ำมันที่ทดลองปลูกสาธิตในภาคใต้ ทั้งที่ภาคใต้นั้นมีสภาพเหมาะสมในการปลูกปาล์มมากกว่า

“ขณะนี้ สวก.และทีมนักวิจัยกำลังอยู่ในขั้นตอนอนุบาลต้นกล้า ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ก่อนกระจายสู่เกษตรกรชาวสวนปาล์มต่อไป ซึ่งคาดว่าในวันที่ 18  ต.ค. นี้ ก็จะสามารถเปิดให้เกษตรกรจองต้นกล้าได้ โดยเราคิดราคาของกล้าปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่า เท่ากับเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศประมาณ 250 บาท แต่รับรองว่าผลผลิตและเปอร์เซ็นต์ น้ำมันที่ได้ จะสูงกว่าแน่นอน เฉลี่ย 3-5 ตัน/ไร่ ส่วนเปอร์เซ็นต์น้ำมันอยู่ที่ 24-26% จากเดิมที่ได้ผลผลิตเพียง 2 ตัน/ไร่ และได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันอยู่ที่ 17-18% ซึ่งคาดว่าสิ้นปี 2557 จะสามารถกระจายพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าได้กว่า 1 แสนต้น”

ผู้อำนวยการ สวก. บอกด้วยว่า เนื่องจากคณะผู้วิจัยได้พัฒนาปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่า ให้สามารถตอบสนองได้ดีต่อทุกสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สามารถนำมาปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางได้ ซึ่งจะทำให้ปัญหาการแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกหมดไป และแม้ว่าปริมาณผลผลิต และเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ได้นั้น อาจไม่สูงเท่ากับการเพาะปลูกในภาคใต้ แต่หากได้ปุ๋ยและน้ำที่เพียงพอผลผลิตและเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ได้จะไม่แตก ต่างกันมากนัก โดยขณะนี้คณะวิจัยได้พัฒนาปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าได้กว่า 5 เบอร์ ซึ่งแต่ละเบอร์ก็จะมีคุณสมบัติเหมาะสมไปแต่ละพื้นที่

ด้าน สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง หัวหน้าโครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันแบบก้าวกระโดด บอกว่า การพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพและสามารถปลูกได้ในทุกสภาพภูมิอากาศ นั้น ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุเนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่สามารถตรวจ สอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ได้ก่อนเพาะปลูก แต่จากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน

ทำให้ขณะนี้สามารถตรวจสอบสายพันธุ์ถึงในระดับดีเอ็นเอ ซึ่งถือว่าประเทศไทยสามารถทำได้เป็นแห่งแรกของโลก และกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจดสิทธิบัตร โดยหากเกษตรกรไทยไม่แน่ใจว่าเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศมีคุณภาพหรือ ไม่ หรือหลังจาก สวก.กระจายปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าไปสู่เกษตรกรแล้ว ก็คาดว่าน่าจะมีการแอบอ้างว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เราปรับปรุงขึ้นมา ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าเป็นของจริงหรือไม่สามารถส่งมาตรวจสอบได้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

สำหรับโอกาสของประเทศไทยในการเป็นผู้นำหลังเปิดประชาคมอาเซียนั้น เนื่องจากปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าไม่สามารถกลายพันธุ์กลับได้ ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรจะนำเอาเมล็ดไปปลูกต่อไม่ได้ ตรงนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสของไทย ที่จะกลายเป็นผู้นำในการส่งออกพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้กับประเทศสมาชิกประชาคม อาเซียน แม้ว่าผลผลิตของไทยจะสู้มาเลเซียไม่ได้ก็ตาม

“เนื่องจากเราพัฒนาปรับปรุงปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่า ให้สามารถเพาะปลูกได้ในหลายพื้นที่ซึ่งยังไม่มีประเทศใดทำได้ นี่จึงถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยให้สามารถก้าวสู่ผู้นำในการส่งออกสาย พันธุ์”

ขณะที่ ปราการ วีรกุล ที่ปรึกษาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ฐานะผู้ประสานงานโครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันแบบก้าวกระโดด กล่าวเสริมว่า ภาพรวมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศไทย ในปี 2555 มีพื้นที่ทั้งหมด 4.4 ล้านไร่ แต่เนื่องจากขณะนี้ต้นปาล์มที่ปลูกในประเทศไทยมีอายุมากแล้ว ในแต่ละปีจึงต้องมีการปลูกขึ้นใหม่ทดแทนประมาณ 5 หมื่นไร่ คิดเป็นต้นกล้าทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านต้น จึงเป็นความท้าทายว่าทีมวิจัยจะสามารถเพาะได้เพียงพอกับความต้องการหรือไม่ ซึ่งหากเราสามารถดำเนินการเปลี่ยนพันธุ์ปาล์มน้ำมันได้อย่างที่กล่าวในข้าง ต้น จะทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันไทยเพิ่มเฉลี่ยเป็น 4-5 ตัน/ไร่ ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นประมาณ 25%  จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท โดยคิดจากพื้นที่เพาะปลูก 4 ล้านไร่

รายการอ้างอิง :
ต่อยอดงานวิจัยปาล์มพันธุ์ดีเพิ่มผลผลิต-เปอร์เซ็นต์น้ำมัน. กรุงเทพธุรกิจ (GR>Social). ฉบับวันที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2556.– ( 200 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


five × 1 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>